MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 6-10 ม.ค. 2568

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 6-10 ม.ค. 2568

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 34.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์สอดคล้องกับเงินหยวนและสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคและเงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากประเด็นนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์

 

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 6-10 ม.ค. 2568

เงินบาทขยับแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงต่อมา หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันช่วงสั้นๆ หลังมีรายงานข่าวระบุถึง แนวทางการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจจะเป็นไปอย่างจำกัดเฉพาะบางกลุ่มสินค้า อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวในภายหลัง นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนจากบันทึกประชุมเฟดและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน และดัชนี ISM ภาคบริการ) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจชะลอแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

• ในวันศุกร์ที่ 10 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-10 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 1,383 ล้านบาท และ 3,354 ล้านบาท ตามลำดับ

• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 13-17 ม.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของอังกฤษและยูโรโซน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 และข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนธ.ค. รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

• ตลาดหุ้นไทยผันผวนระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงกดดันหลักๆ จากหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการปรับลดค่าไฟ และหุ้นกลุ่มสื่อสารจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของพ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาขานรับรายงานข่าวที่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจพิจารณาจัดเก็บภาษีนำเข้าเป็นรายอุตสาหกรรม แทนการจัดเก็บภาษีในวงกว้าง

 

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 6-10 ม.ค. 2568

ดัชนีหุ้นไทยกลับมาย่อตัวลงอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีปัจจัยลบจากคาดการณ์เกี่ยวกับการชะลอการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ รวมถึงรายงานข่าวที่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนจะประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้มีอำนาจในการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า

นอกจากนี้กรณีจำนำหุ้นของผู้บริหารบจ. แห่งหนึ่งก็นับเป็นอีกปัจจัยที่กระทบบรรยากาศของตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนหลักๆ จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์และกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวมตลาดท่ามกลางแรงซื้อเก็งกำไรก่อนประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/2567

•  ในวันศุกร์ที่ 10 ม.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,367.99 จุด ร่วงลง 1.21% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,287.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.70% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.24% มาปิดที่ระดับ 294.38 จุด

• สัปดาห์ถัดไป ( 13- 17 ม.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,350 และ 1,330 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,380 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. 2567 ของยูโรโซน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. 2567 ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม