ทำไมราคายางจึงร่วงหล่น?
ผมโตในสวนยางทางใต้ วิ่งเล่นในโรงยาง เพราะพ่อเป็นเสมียนบริษัทผลิตยาง
แม่เป็น “ผู้หญิงคีบยาง” ท่านไปทำงานต่างจังหวัดใกล้กับสวนยางไม่ว่าจะเป็นตรัง นครฯ หรือนราธิวาส ผมก็ถูกหิ้วตามไปด้วย จนเคยติดมาลาเรียในป่าเกือบเอาตัวไม่รอด
คุณแม่รับจ้างยืนคีบยางพร้อมกับผู้หญิงอีกสิบกว่าคนทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมง รายได้วันละ 18 บาท ผมก็ไปยืนเล่นอยู่ข้างๆ เคยชินกลับกลิ่นยางแผ่น ขี้ยางและภาษาวงการยางที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ไปป้วนเปี้ยนอยู่กับโรงยางจนสามารถคีบยางกับเขาได้เหมือนกัน
ทุกเช้าขณะที่คุณพ่อจิบกาแฟ คุณแม่ซักเสื้อผ้า ผมกำลังแต่งตัวไปโรงเรียน วิทยุคลื่นสั้นเก่า ๆ ของพ่อจะดังลั่นไปทั่วบ้าน ข่าวสำคัญประจำวันที่ต้องฟังกันอย่างใจจดใจจ่อ คือรายงานราคายางทุกประเภทจากทั่วโลก ไม่ใช่สถานีวิทยุของประเทศไทย แต่เป็นคลื่นสั้นของ “ที่นี่สถานีวิทยุกระจายเสียงสิงคโปร์”
สิงคโปร์เป็นพ่อค้าคนกลางเรื่องยางและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ จึงเป็นผู้กำหนดราคาให้กับคนทั้งโลก
วันไหนวิทยุสิงคโปร์รายงานราคายางขึ้น คุณพ่อคุณแม่ผมจะมีอารมณ์ดี วันไหนราคายางร่วง ผมก็สัมผัสได้ถึงอารมณ์ขุ่นมัวทั้งบ้าน
และไม่ใช่เพียงแค่บรรยากาศในบ้านเปลี่ยนผันไปตามราคายางโลกเท่านั้น พอเดินออกนอกบ้าน ผ่านตลาดก็จะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ของผู้คนทั้งเมืองได้ในทำนองเดียวกัน
ดังนั้น ผมจึงเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความรู้สึกของคนภาคใต้วันนี้ ที่กำลังเดือดร้อนเพราะราคายางร่วงหล่นลงมาอย่างมาก
และก็เข้าใจถึงข้อจำกัดของรัฐบาล ในการที่จะช่วยเหลือค้ำจุนชาวสวนยาง ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากเพราะปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้ระดับราคายางลดลงมาเรื่อย ๆ นั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลและคนไทย
จึงต้องมีทั้งมาตรการเยียวยาระยะสั้นจากรัฐบาล ที่มีหน้าที่ดูแลแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อน และที่สำคัญคือการที่ทุกฝ่ายจะต้องระดมสมอง เพื่อวางมาตรการระยะกลางและระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นยางหรือข้าวอย่างถาวร
สาเหตุที่ราคายางพาราตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ นั้นมีมากมายหลายประการ เริ่มตั้งแต่เราปลูกเพิ่มขึ้นมาตลอด จากเดิมที่ส่วนใหญ่ปลูกในภาคใต้ 14 จังหวัด วันนี้ปลูกทั้งภาคกลาง เหนือ อีสานอีกไม่น้อยกว่า 40 จังหวัด
ที่เคยผลิตปีละประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปีวันนี้ผลิตถึง 4 ล้านตัน เหตุจูงใจเพราะช่วงหนึ่งราคายางสูง ทำกำไรได้มาก และ 80-90% ที่ผลิตได้ต้องส่งออก เมื่อตลาดโลกซื้อเราน้อยลง เพราะประเทศอื่นก็ปลูกมากขึ้นและเศรษฐกิจโลกซบเซา เราก็ได้รับผลกระทบทันที
อีกปัจจัยหนึ่งคือเมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคายางก็แผ่วตามเพราะโรงงานอุตสาหกรรม หันไปใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบแทน
อีกด้านหนึ่งคือจีนซึ่งเคยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของเรา แต่วันนี้จีนปลูกยางเองทั้งในประเทศของตนและไปปลูกในเวียดนาม เขมรและลาวเพื่อส่งกลับไปจีน อีกทั้งเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ความต้องการยางก็ลดลงไปด้วย
เศรษฐกิจโลกที่ซึมเซาก็มีส่วนทำให้การใช้ยางลดลง สถิติชี้ชัดว่าขณะที่ความต้องการใช้ยางของโลก โตขึ้นประมาณปีละ 2% แต่การผลิตยางเพิ่มขึ้น 5%
ทำให้เกิดภาวะที่ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้ขาย เขาจึงกดราคาเราได้อย่างที่เห็นอยู่
ยังไม่นับปัจจัยอื่น ๆ เช่นเรื่องการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ที่มีคนไปปั่นราคาให้ลดลงเพื่อทำกำไรให้กับตน หรือต้นทุนการผลิตยางของไทยเราเองที่สูงขึ้นตามลำดับ และการขาดแคลนการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางธรรมชาติ ให้เป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าอย่างจริงจัง
ในวิกฤตนี้ต้องสร้างโอกาสด้วยการวิเคราะห์ปัญหา และเผชิญหน้าร่วมกันอย่างจริงใจและจริงจังในการวางมาตรการระยะสั้น กลางและยาวเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ
ความกล้าหาญทางการเมืองกับวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ และภูมิปัญญาท้องถิ่น คือสามปัจจัยหลัก ที่ต้องผสมผสานกันให้แน่นแฟ้นเพื่อหาทางออกร่วมกัน