กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

"2 พรรค" ดันนโยบายเรือธงจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านกลไก ส.ส.ร.เป็นองค์กรยกร่าง ส่วนอีก 1 พรรค สวมบทเตะถ่วงชิงธงนำอนุรักษนิยมผ่านกลไกลวุฒิสภาสายสีน้ำเงิน

KEY

POINTS

  • "สองสภา" เห็นไม่ตรงกันหลังตั้ง กมธ.ร่วมกันของสองสภา ในปมปัญหาหลักเกณฑ์ชี้ขาดว่าด้วยการออกเสียงประชามติถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ
  • สภาฯ ต้องรอ 180 วันเพื่อใช้สิทธิกลับมายืนยันอีกครั้งว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ควรใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว
  • กลเกมในรัฐสภายังคงติดหล่มกุญแจ "ประชามติ" เพื่อเปิดประตูไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านองค์กร ส.ส.ร.
  • พรรคการเมือง "สามก๊ก" เพื่อไทย-ประชาชน รวมพลังกันยับยั้งมติของวุฒิสภาและพรรคภูมิใจไทยที่ต้องการให้ประชามติใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น ซึ่งยากต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • "ภูมิใจไทย" ถูกมองว่าต้องการชิงธงนำซีกอนุรักษนิยมผ่านกลเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • "ประชามติ" 3 ครั้งเป็นทางรอดและปลอดภัยสำหรับความเห็นจากคนในซีกรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยทำประชามติเพียง 2 ครั้ง

“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

เป็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งมติศาลรัฐธรรนูญเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียงเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

เมื่อเปิดดูคำวินิจฉัยส่วนตนของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนั้น มีตุลาการ 6 เสียง ประกอบด้วย ทวีเกียรติ มีนะกษิฐ วรวิทย์ กังศศิเทียม นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นภดล เทพพิทักษ์ วิรุฬห์ แสงเทียน และปัญญา อุดชาชน ที่เห็นว่าประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2 ครั้งก็เพียงพอ

ส่วนตุลาการ 2 เสียง เห็นควรให้ทำประชามติถึง 3 ครั้ง คือ อุดม สิทธิวิรัชธรรรม และบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียงที่เห็นว่า “รัฐสภาไม่มีอำนาจเขียนรัฐธรรมนูญใหม่” แก้ไขได้เพียงรายมาตราเท่านั้น คือ จิรินิติ หะวานนท์

อย่างไรก็ตาม ปมปัญหาการทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ แม้จะจับเข่าคุยกันในคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภาแล้วก็ตาม เพราะต้องรอผลการพิจารณายืนยันใน 180 วันอีกครั้ง หลังสองสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติในการจัดทำรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อ 17 ธ.ค. 2567  ลงมติเห็นด้วยกับร่างที่ผ่านกรรมาธิการร่วมกันมาแล้วที่เสนอให้ยึดเสียงข้างมากสองชั้น โดยเห็นด้วย 153 เสียง ไม่เห็นด้วย 24 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร ประชุมเมื่อ 18 ธ.ค. 2567 สส.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ประชามติของ สว. และยืนยันว่าควรใช้กติกาเสียงข้างมากชั้นเดียว 

โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติ ไม่เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประชามติสูตรเสียงข้างมากสองชั้น ที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมาธิการร่วมกัน ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 326 เสียง เห็นด้วย 61 เสียง  งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง เป็นผลให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ“ยับยั้ง” ร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 (3)  โดยสภาผู้แทนราษฎรจะยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่สภาฯ ไม่เห็นชอบด้วยตามมาตรา 138 (2)

ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ส่ง "ไชยชนก ชิดชอบ" สส.บุรีรัมย์ ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านท่าทีของ สส.ส่วนใหญ่ที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว โดยย้ำหากไม่มีเกณฑ์ผู้ออกมาใช้สิทธิ การทำประชามตินั้นๆ จะสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำหรือว่าเป็นการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และจะได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศหรือว่าเป็นการตัดสินใจที่ศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ ดังนั้น พรรคภูมิใจไทย จึงยืนยันว่าควรจะต้องมีเกณฑ์ผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

เท่ากับแนวทางออกเสียงประชามติ เพื่อเริ่มต้นจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของ “พรรคเพื่อไทย” และยังเป็นแคมเปญสำคัญของ “พรรคก้าวไกล” หรือ “พรรคประชาชน” ในปัจจุบัน จะต้องล่าช้าออกไป

"ปชน." ดัน ส.ส.ร. ประชามติ 2 ยก

ล่าสุด “พรรคประชาชน” ใช้จังหวะที่รัฐบาลกำลังหมกมุ่นกับการแก้เกมในสภาฯ เกี่ยวกับกฎหมายประชามติ ก็ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไข มาตรา 256 เปิดทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่รอผลยุติของกฎหมายประชามติกำลังแก้ไขอยู่ในรัฐสภาเวลานี้

กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

ทั้งนี้ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน มองว่า การทำประชามติเพียง 2 ครั้งน่าจะเพียงพอแล้ว โดยลดจากจำนวน 3 ครั้งซึ่งเป็นโรดแมปของรัฐบาล

“พริษฐ์” เสนอทางเลือกให้ มี ส.ส.ร.ทันต่อก่อนเลือกตั้งปี 2570 ว่า ต้องพยายามลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง โดยประธานรัฐสภาต้องบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่อง สสร. ที่ทางอดีตพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยื่นร่างไว้ตอนต้นปี 2567 เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาทันที

“หากเราไปกางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไปดูลึกถึงคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการ 9 คน จะสะท้อนให้เห็นชัดว่าตุลาการเสียงส่วนใหญ่ มองว่าไม่ได้จำเป็นต้องประชามติ 1 ครั้งก่อนบรรจุร่างดังกล่าว คำวินิจฉัยศาลเขียนไว้ ว่าต้องมีประชามติ 1 ครั้งก่อนทำฉบับใหม่และ 1 ครั้งหลัง หมายความว่า 2 ครั้งก็เพียงพอ ประธานรัฐสภาบรรจุร่างได้เลย ไม่ต้องทำประชามติเพิ่มเติมตอนต้นมา 1 ครั้ง” พริษฐ์ ระบุ

กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

สูตรประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใหม่ผ่าน ส.ส.ร.เป็นองค์กรยกร่าง ทำให้เกิดความกังวลในซีกรัฐบาลถึงการจัดทำประชามติเพียง 2 ครั้ง เพราะเกรงว่าอาจถึงทางตัน

เกรงไม่ปลอดภัย ไม่รอบคอบ ซ้ำรอยเมื่อครั้งที่ “รัฐสภา” ชุดที่แล้วเคยผลักดันการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม หมวด15/1 เพื่อเลือกตั้ง สสร. 200 คน เดินมาถึงวาระที่ 3 สุดท้ายตกม้าตาย เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เห็นว่า ควรทำประชามติก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นครั้งแรก ทำให้มีการตีความว่าควรทำประชามติก่อนพิจารณาวาระที่หนึ่งในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

"เพื่อไทย" ชี้ประชามติ 3 ยกปลอดภัย

คนในซีกรัฐบาล “พรรคเพื่อไทย” ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ “พรรคประชาชน” ที่ลดประชามติเหลือเพียง 2 ครั้ง ดยเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ามีการทำประชามติ 3 ครั้งน่าจะปลอดภัยและลดปัญหาเข้าทางบรรดานักร้องมืออาชีพใช้โอกาส ซ้ำรอยครั้งก่อนยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง หากเดินเข้าสู่เกมนี้จะยิ่งปิดโอกาสการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ได้

ตามรัฐธรรมนญู มาตรา 256 (8) กำหนดเงื่อนไขการทำประชามติหลังผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระที่สามแล้ว จะต้อง “ทำประชามติ” ในกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้

เท่ากับการแก้ไขหมวดในมาตรา 256 ถึงอย่างไรก็ต้องมีการทำประชามติอยู่ดี

เพียงแต่จะ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง สุดท้ายอำนาจการตัดสินใจให้มีการออกเสียงประชามติก็อยู่ที่ “รัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม มือกฎหมายฉากหลังรัฐบาล “พรรคเพื่อไทย” เห็นว่า การแก้ไขรัฐธธรรมนูญ โดยมุ่งแก้ไขตามเงื่อนไข มาตรา 256 (8) การทำประชามติ 3 ครั้งน่าจะปลอดภัยกว่า

ไม่รื้ออำนาจศาล ปิดประตูแก้ รธน.

เพราะตราบใดหากรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขอำนาจของศาลและองค์กรอิสระได้ ก็เท่ากับว่า “รัฐสภาไทย” จะไม่สามารถจัดทำฉบับใหม่ได้ ซึ่งอย่าหวังเอาดาบหน้าว่าจะเดินหน้าสู่การยกร่างใหม่ผ่านกลไก ส.ส.ร.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจขององค์กรอิสระและศาลนั้นล้นฟ้า มีอำนาจเด็ดขาดยุบพรรคการเมือง และปลดนายกรัฐมนตรีได้ตลอดเวลา หากแก้ตรงนี้ไม่ได้ก็เท่ากับปิดประตูการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กลเกม 3 ก๊ก ‘พท.-ปชน.’ งัด ‘ภท.’ รัฐธรรมนูญใหม่ ติดหล่ม ‘ประชามติ’

ภท.โชว์นำปีกอนุรักษ์-พท.ถูกมองยื้อแก้ รธน.

ขณะเดียวกัน เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อเข้ารัฐสภา ย่อมต้องเจอแรงต้านของบรรดา สว.สายสีน้ำเงินที่รอขวางอยู่ เพราะเสียงเห็นชอบในวาระที่ 1 ต้องอาศัยเสียงของ สว.ร่วมด้วย 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงก็ล้มการแก้ไขได้ทันที

ยิ่งมีกระแสในทางลับว่ากันว่า “พรรคภูมิใจไทย” ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะยิ่งแก้ก็ยิ่งทำให้อำนาจของพรรคสีน้ำเงินลดลง จึงยากยิ่งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่จะสำเร็จ

ยังไม่นับวาระซ่อนเร้นของรัฐบาลโดย “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งถูกมองว่ามีเจตนาล่าช้ากับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยิ่งทำให้คนการเมืองทุกฝ่ายอ่านเกมว่า เป็นการเล่นการเมืองสองหน้าของคนในซีกรัฐบาลหรือไม่

เมื่อพรรคหนึ่งกำลังชิงธงนำซีกอนุรักษนิยม จ้องเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกลไกวุฒิสภา

ส่วนอีกพรรคหนึ่งเบอร์ใหญ่ก็อยากจะผลักดันนโยบายเรือธงให้ได้ แต่ก็ยังมัวติดหล่มกลเกม “ประชามติ” ก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกุญแจสำคัญคือ “ประชามติ” วันนี้ไปไม่ถึงไหน ยังคงติดหล่มจากการงัดข้อประลองกำลังกันของคนการเมืองในหมู่พรรคสามก๊ก