‘สารตั้งต้น’ สูตรรัฐธรรมนูญใหม่ ส.ส.ร.ลูกผสม กมธ.ยกร่าง
“ชูศักดิ์ ศิรินิล” มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย ประเมินโอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นโยบายหลักของพรรค อาจแก้ไม่ทันการเลือกตั้งปี2570 ชี้ทางออกดันโมเดล ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรรมนูญให้คาทิ้งไว้ในรัฐสภา
KEY
POINTS
- การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลายทางของสองสภา อาจจบลงที่รอไปถึง 180 วัน ทำให้เรือธงจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อาจไม่ทันเลือกตั้งปี 2570
- "ชูศักดิ์ ศิรินิล" เห็นว่าการทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรทำเพียง 2 ครั้ง ไม่ต้องทำก่อนมีร่างแก้ไข
- ให้มี "สารตั้งต้น" ไว้ก่อน มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยบรรจุคาไว้ในรัฐสภา แม้จะยังยกร่างไม่เสร็จและมีเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า
- "พรรคเพื่อไทย" มองโมเดล ส.ส.ร.เลือกตั้งทั้งหมดมาทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ยังมีจุดอ่อน อาจใช้สูตรมีผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 35 คนและให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่แบบฝ่ายนิติบัญญัติ
“ผมคิดว่ากฎหมายประชามติก็คงหาข้อยุติ ต้องทำอย่างไรถ้ายุติกันไม่ได้ อาจต้องรอไว้ 180 วันนี่คืออุปสรรคสำคัญ” ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงกระบวนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่กำลังยื้อยุดกันภายใน สส.และ สว. จนมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันของสองสภา และมีแนวโน้มที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเดินหน้ากระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจไม่สำเร็จก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2570
เมื่อฝ่าย สส.มีมติต้องการให้ใช้หลักเกณฑ์ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว (Simple majority) ขณะที่ สว.ตีกลับให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น (Double Majority) ล่าสุด กมธ.ร่วมกันของสองสภาได้เห็นชอบกับรายงานที่เห็นชอบให้หลักเกณฑ์ “เสียงข้างมากสองชั้น”ในการทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
ทั้งนี้ กมธ.จะเสนอรายงานต่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบในวันที่ 17 ธ.ค. 2567 และให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในวันที่ 18 ธ.ค. 2567
“ชูศักดิ์” ระบุว่า “ถามผมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จไหม คำตอบก็คือ หนึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายประชามติจะเดินยังไง มันจะสำเร็จไหม เพื่อจะเริ่มต้นถามประชาชนเป็นครั้งที่ 1 ถ้ายังเห็นแย้งกันอย่างนี้ สมมติสภาผู้แทนราษฎรยืนยันหลักเกณฑ์ประชามติเสียงข้างมากชั้นเดียว ก็ต้องเสียเวลาไป 180 วัน”
ประชามติ 2 ครั้ง แก้ รธน.
สำหรับหนทางที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามโรดแมปของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินหน้าไปได้ แม้จะโอกาสการแก้ไขจะไม่ทันก่อนรัฐบาลครบวาระนั้น “ชูศักดิ์” เห็นว่า “จะมีวิธีการอื่น ที่จะทำรัฐธรรมนูญโดยไม่เดินตามมติ ครม.คราวที่แล้วได้หรือไม่ โดยตัวอย่าง เช่นจะทำประชามติ 3 ครั้ง มีวิธีการใดที่จะทำประชามติเพียง 2 ครั้งหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังคิดอยู่”
“ถามว่ามันสำเร็จไหม เราก็จะพยายาม ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยจัดให้มีกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ผมคิดว่าสำเร็จได้ มันก็ดี ถ้าไม่สำเร็จ อย่างน้อยความเห็นผม ก็ขอให้มันจ่อไว้ เช่น มีส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังยกร่างไม่เสร็จ แม้จะเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญเก่าก็ไม่ว่าอะไร” ชูศักดิ์ ย้ำ
ดัน ส.ส.ร.คาไว้ก่อนเลือกตั้งปี70
สำหรับทางออกของแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.นั้นที่มีการคำนวณไทม์ไลน์แล้ว ดูท่าจะไม่ทันในปี 2570 ทำให้ “ชูศักดิ์” เห็นว่าถ้าไม่เสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน อย่างน้อยก็ให้มีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐสภาเอาไว้ โดยเป็น “สารตั้งต้น” คือ มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
ส่วนข้อครหารัฐบาลเพื่อไทยพยายามยื้อเตะถ่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ “ชูศักดิ์” เห็นแย้งว่า “ไม่ยื้อหรอก เท่าที่ผมอยู่ในเหตุการณ์มีส่วนร่วมทั้งหลาย ไม่ยื้อหรอก แต่ผมพูดตรงไปตรงมาว่า ทั้งสภาฯ ทั้งคนที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เราวิตกกังวลกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จนเกินเหตุ หรือกลัวจะผิดต่อคำวินิจฉัยจนเกินเหตุ”
“ชูศักดิ์” ระบุว่า “ผมเชื่อว่าคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการอย่างน้อย 6 เสียง บอกทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็พอ แต่เราก็ยังไปเชื่อว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งแรกยังไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องทำประชามติแล้ว ผมว่าไม่จำเป็นเลย เพราะนั้นถามว่าเป็นไง เราไปวิตกกังวล ไปเข้าใจว่าจะผิด โดยไม่กล้าที่จะทำอะไรในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา”
ความเห็นของ “ชูศักดิ์” ในฐานะมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลมองว่า “ประชามติ” เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำเพียง 2 ครั้ง ไม่ต้องทำครั้งแรกก่อนมีร่างรัฐธรรมนูญ
“เวลานำเสนออะไรขึ้นไป พูดง่ายๆ จะอ้างคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งลึกๆ คำวินิจฉัยนี้ คุณไปอ่านคำวินิจฉัยส่วนตน เขาให้ทำเพียง 2 ครั้งเอง”
ย้อนไปเมื่อครั้งที่ “พรรคเพื่อไทย” นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” เพิ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการนำคณะรัฐมนตรี เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ครั้งนั้น “ชูศักดิ์” ใช้สิทธิในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย โดยระบุถึงโมเดลการเลือกตั้งส.ส.ร.ของพรรค
“นโยบายของพรรคเพื่อไทยจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยทำประชามติสอบถามประชาชนว่า เห็นสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
“รัฐบาลจะหารือทุกฝ่ายรวมถึงรัฐสภาในการทำประชามติ แปลว่ารัฐบาลนี้เห็นความสำคัญการทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน รัฐบาลสัญญาจะหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญหารือรอบคอบรัดกุมกับรัฐสภา รัฐบาลมีความจริงใจตั้งใจทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น”
สูตร ส.ส.ร.ผสม กมธ.ยกร่าง
ครั้งนั้น “ชูศักดิ์” อภิปรายผ่านสภาฯ โดยขยายความผ่านสภาฯถึงโมเดล ส.ส.ร.ว่า “ผมศึกษาแล้วน่าประชามติจะ 2-3 ครั้งเป็นอย่างมาก พรรคเพื่อไทยเสนอว่าส.ส.ร.ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เราทำรัฐธรรมนูญมาในคราวที่แล้ว พรรคการเมืองหลายพรรคที่นำเสนอขณะนั้นยังเห็นว่า ควรมาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งควรมาจากการสรรหา อีกส่วนควรมาจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย”
เมื่อถามถึง โมเดล ส.ส.ร.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ชูศักดิ์” ตอบถึงแนวของพรรคเพื่อไทยว่า “แนวของเพื่อไทย คือใช้วิธีเลือกตั้งหมด แต่จุดอ่อนเลือกตั้งหมด เขาวิจารณ์ว่าจะไม่มีคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นส.ส.ร.มีประสบการณ์อย่างโน้นอย่างนี้ เราก็ใช้วิธีด้วยการตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ให้กรรมาธิการมาจากสภาส่วนหนึ่ง และวุฒิสภาส่วนหนึ่ง เพื่อหาผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมาธิการยกร่าง”
โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสูตรนี้ จำนวน 35 คน จะมีผู้ทรงคุณวุฒินักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อมาเป็นองคาพยพในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำให้ได้ศาสตราจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนส.ส.ร.ทำหน้าที่นิติบัญญัติ คอยดูที่ร่างที่ กมธ.ได้กร่างมาว่าใช้ได้หรือไม่ ขณะที่เสียงบางส่วนเขาบอกว่าใช้วิธีสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นส.ส.ร.พร้อมกันไป ซึ่งก็แล้วแต่มุมมอง
“แต่ถ้าประชามติยังยื้ออยู่อย่างนี้ เห็นไม่ตรงกัน มันก็อาจจะไม่ทันการเลือกตั้ง แม้ไม่ทัน ความเห็นผม เป็นสารตั้งต้นไว้ อย่างน้อยที่สุดมีกระบวนการมี ส.ส.ร.เกิดขึ้น มีอะไรขึ้น พอหมดเวลารัฐบาลนี้ ก็เลือกตั้งไปตามรัฐธรรมนูญเก่า ที่เหลือยังเดินต่อไป”
“ถึงบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยความเห็นผม ทำไมถึงต้องจัดทำใหม่ ผมก็บอกใครต่อใครว่า รัฐธรรมนูญนี้ยากต่อรัฐบาล ในแง่การบริหารประเทศ เพราะมันมีกับดักอะไรเต็มไปหมด มันไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเขียนไว้ชัดเจน สุดแต่ศาลจะตีความ”
รัฐบาลประนีประนอมพรรคร่วม
“ชูศักดิ์” เห็นว่า รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เป็นรัฐบาลผสมที่มีความประนีประนอม ส่วนประเด็นการชิงยุบสภาฯ หากเกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมนั้น ในตอนนี้ยังไม่มีการพูดถึงขั้นนั้น เพราะยังมีความพยายามทำความเข้าใจกันในหลายเรื่องในหลายประเด็น
“ประนีประนอมกันหลายประเด็นเพื่อให้รัฐบาลเดินไปได้ ส่วนความขัดแย้งนั้น ผมยังไม่เห็นหนักหนาสาหัสอะไร” ชูศักดิ์ ประเมินชีพจรของรัฐบาลแพทองธาร และความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ