‘เพื่อไทย’เซ็ตซีโร่ ไม่แตะ ม.112 หักล้างคดี ‘ทักษิณ’ครอบงำ
"ชูศักดิ์ ศิรินิล" รมต.ประจำสำนักนายกฯ เปิดใจรายละเอียดถึงการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง ฉบับพรรคเพื่อไทย และประเด็นข้อต่อสู้หักล้างกรณี "ทักษิณ" ครอบงำ "นายกฯ" ซึ่งฝั่งตรงข้ามหวังมีวาระซ่อนเร้นปลายทางยุบพรรคเพื่อไทย
KEY
POINTS
- "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รมต.ประจำสำนักนายกฯ ชี้กรณีสภาฯ ไม่รับข้อสังเกตของรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง ไม่ได้เป็นการยกเลิกมาตรา 112
- การนิรโทษกรรมครั้งนี้ "พรรคเพื่อไทย" ต้องการเน้นที่เหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่เหมารวมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112
- ให้ทุกคนในประเทศในสังคม ลืมการกระทำความขัดแย้งจากการชุมนุมทางการเมืองในอดีตไม่ให้เป็นปัญหาสังคมต่อไป โดยไม่ต้องรับโทษ
- ในอดีตมีการผลักดันการนิรโทษกรรมทางการเมืองมาแล้ว 23 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร
- ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยกข้อหักล้างกรณีคดียุบพรรคเพื่อไทย ปม "ทักษิณ" ครอบงำ "นายกฯ แพทองธาร" ว่าควรแยกครอบงำ กับการให้คำปรึกษา คนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาให้คำปรึกษา เป็นคนละเรื่องกับครอบงำ
"เรื่องมาตรา 112 พรรคเพื่อไทย ไม่เคยมีมติว่าจะยกเลิก ไม่เคยมีมติว่าจะแก้ไข" เป็นคำยืนยันอีกครั้งของ "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่มีมาตลอดสำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
"ชูศักดิ์" ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่าน "กรุงเทพธุรกิจ" ที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 “รับทราบ” รายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง และที่ประชุมสภาฯ มีมติมติ 270 ต่อ 152 เสียง คว่ำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ
"ไม่รับข้อสังเกตนี้ แปลว่าไม่ส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแค่นั้นเอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก็ไปแปลกันทำนองว่า รายงานนี้จะยกเลิก มาตรา 112 ซึ่งความจริง ไม่ใช่... รายงานนี้เป็นผลการศึกษาว่า ถ้าจะนิรโทษกรรม ควรทำอะไรบ้าง ประเด็นมาตรา 112 เราไม่ได้ฟันธงให้นิรโทษกรรมหรือไม่"
“ชูศักดิ์” ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็น 1 ใน 11 สส.เพื่อไทยที่โหวตเห็นชอบกับข้อสังเกต ให้เหตุผลว่า “ถ้าเรารับข้อสังเกตแปลว่า เรารับให้นิรโทษกรรม มาตรา 112 ความจริงไม่ใช่ ข้อสังเกตที่ว่า แค่รับรายงานนี้ไปทำ แล้วมาตรา 112 มีความเห็น 3 ฝ่าย มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และมีเงื่อนไข โดย กมธ.บอกว่าไม่ได้เอาแบบใดแบบหนึ่ง ให้ไปเลือกกันเอง แต่ว่าเวลาไปสื่อในสังคมทำนองว่า ใครที่รับข้อสังเกต แปลว่ารับให้นิรโทษกรรมมาตรา 112 ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย”
ส่วนจุดยืนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะมีการยกร่างในระหว่างปิดสมัยประชุมรัฐสภา และพร้อมที่จะเสนอร่างในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเปิดในวันที่ 12 ธ.ค. 2567 นั้น “ชูศักดิ์” บอกว่า พรรคเพื่อไทยพูดมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 ล่าสุดหัวหน้าพรรค หรือใคร ก็พูดว่า เราไม่เห็นด้วยการยกเลิกมาตรา 112 หรือแก้มาตรา 112
“ชูศักดิ์” ยืนยันว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ “พรรคเพื่อไทย” จะยื่นอย่างแน่นอน เพื่อประกบกับ ร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ที่อยู่ในสภาฯ 4 ฉบับ คือ 1.ฉบับของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ 2.พรรครวมไทยสร้างชาติ 3.พรรคก้าวไกลในอดีต หรือพรรรคประชาชน 4.ร่างภาคประชาชน เข้าชื่อกัน 30,000 กว่าชื่อ
ร่างนิรโทษฯ พท.ไม่แตะ ม.112 ม.110
“พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า เราน่าจะมีร่างของพรรคประกบ โดยไม่รวมการนิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 ก็เป็นเหตุผลที่เรียนมาว่า เขาไม่อยากให้ไปยุ่งเลย เพราะว่ามันจะเป็นปัญหาในแง่ของการตีความ เป็นปัญหาในแง่ของความเข้าใจ” ชูศักดิ์ ย้ำ
“ชูศักดิ์” ยืนยันว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112 แต่จะนิรโทษกรรมในส่วนที่เป็นการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งตัวรายงานของ กมธ.ได้ระบุถึงการนิรโทษกรรมไว้ 17 มาตรา 25 ฐานความผิด
“เมื่อเราตัดมาตรา 112 มาตรา 110 ออก ที่เหลือเป็นการกระทำทั้งหลาย ตัวอย่าง ใครที่ไปชุมนุม ส่วนใหญ่เจอข้อหาอะไร กบฏก็มี ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองมาตรา 113 มาตรา 116 ก่อความวุ่นวาย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.เต็มไปหมด ฐานความผิดเหล่านี้เกิดในช่วงนั้น แล้วมีมูลเหตุจากการแรงจูงใจทางการเมือง เราบอกว่านิรโทษกรรม นี่คือสาระจริงๆ ส่วนหนึ่งในรายงาน เรียกว่า นิรโทษกรรมการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง มาตรา 110 มาตรา 112 ก็ตัดออกไป ไม่มาใส่ในบัญชี ก็จบ ก็มายกร่างทำนองนี้”
เงื่อนเวลานิรโทษฯ นับเหตุชุมนุมปี 48
สำหรับเหตุการณ์ที่จะนิรโทษกรรม จะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง มีทั้งคดีหลัก จากการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมุุมทางการเมือง และมีความผิดอื่นๆ โยงกันมา ส่วนคดีรองเป็นความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก ฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ความผิดฐานปราศรัยโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งมีคดีค้างกว่า 10,000 คดี
ถามว่า การนิรโทษกรรมมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจะเป็นการเซ็ตซีโร่ความขัดแย้งหรือไม่ “ชูศักดิ์” ระบุว่า “เจตนารมณ์ของการนิรโทษกรรม เขานิยาม การนิรโทษกรรมคืออะไร ก็คือ การให้ทุกคนในประเทศในสังคม ลืมการกระทำอันนั้นเสีย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสังคมต่อไป ลืมเสีย ไม่ต้องรับโทษนะ”
“เราทำแบบนี้มาแล้ว 23 ครั้งในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร แต่ว่านิรโทษกรรมต่อประชาชนก็มีหลายครั้ง เช่น เรื่องนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักการเมือง มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อทำให้เกิดความปรองดองในบ้านเมือง”
ส่วนผู้ที่จะมาชี้ขาดว่า ผู้ใดควรได้รับการนิรโทษกรรมจากเหตุจูงใจทางการเมือง ก็ให้ตั้งคณะกรรมการมาชุดหนึ่งแล้วไปยื่นคำร้อง ต่อคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งกรรมการชุดนี้จะมาพิจารณาว่า ใครเข้าข่ายนิรโทษกรรม ถ้าไม่ผ่านก็อุทธรณ์ได้
รับไม่ง่าย ผลักดันกฎหมายนิรโทษฯ
ส่วนในอดีตเคยมีการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เพราะมีการผูกโยงตัว "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ "ชูศักดิ์" ระบุว่า เนื่องจากเอานิรโทษกรรมไปผูกโยงทางการเมือง จนขณะนี้ก็ยังไม่พ้นไป แค่ตนเสนอรายงานนี้ ท้ายที่สุดก็ยังวนอยู่กับการเมือง ผลจากการพิจารณารายงาน เรารู้ว่า สังคมยังฝังลึกการเมืองพวกนี้อยู่มาก ในอดีตก็เหมือนกัน เขาจึงถือว่าความพยายามเรื่องนี้ มันไม่ใช่สำเร็จได้ง่ายๆ"
“ผมก็ไม่สามารถจะพูดได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ขึ้นอยู่กับความเห็นของพรรคการเมืองทั้งหลาย ขึ้นอยู่กับความเห็นของวุฒิสภาชุดนี้จะเห็นยังไง แต่ขณะนี้ดูเสมือนว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายเห็นทำนองเดียวกัน ให้มีการนิรโทษกรรมโดยไม่รวมการกระทำมาตรา 110 มาตรา 112”
กรณี"ทักษิณ" ดู "นิยาม" ของกฎหมาย
ถามถึงความผิดของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่เกิดจากการรัฐประหาร “ชูศักดิ์” ตอบเพียงว่า “ขึ้นกับคำนิยาม ความผิดทางการเมือง หรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองมีอะไรบ้าง เข้าใจว่า ผลการศึกษานิรโทษกรรมพวกนี้ เขามุ่งเน้นไปที่ความผิดทางการเมือง คุณต้องไปตีความกันว่า จะหมายถึงความผิดของใคร ของท่านนี้หรือไม่ แน่นอนพอพูดถึงเรื่องนี้ คนจะต้องแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่าใช่ ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่ใช่”
“ผมว่าท่าน (ทักษิณ) ก็มีความรู้สึกหนักใจเรื่องนี้ เห็นไหมก็ไม่เคยมายุ่งเกี่ยว เกี่ยวข้องอะไร กรรมาธิการคนยกร่างกฎหมาย ต้องให้นิยามให้ดี ต้องคุยกันมาก นิยามเข้าใจว่าการกระทำ ที่มูลเหตุจูงใจทางการเมืองคืออะไร ต้องเอาให้ชัด”
ถามย้ำว่าหากมีการนิรโทษกรรมหรือแก้ไขมาตรา112 จริงก็จะเอื้อให้กับ อดีตนายกฯ ทักษิณ ด้วย “ชูศักดิ์” ปฏิเสธว่า “ไม่ใช่ ไม่เกี่ยวกันเลย เราไม่เคยมีมติว่าจะแก้ หรือยกเลิก มานานแล้ว”
"การตรากฎหมายนิรโทษกรรม เป็นเครื่องมือนำพาประเทศ ให้เดินหน้าต่อไป เพื่อมิให้จมปลักอยู่กับความขัดแย้ง"
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านท้วงติงพรรคเพื่อไทยกลับลำเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 "ชูศักดิ์" บอกว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยมีมติให้แก้ไข มาตรา 112 ส่วนผู้นำทางการเมืองคนใดจะไปสัมภาษณ์อะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นความเห็นของคนนั้น
จัดตั้งรัฐบาลไม่เข้าข่าย "กบฏ"
ส่วนคดีร้อนในศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผลมาจาก “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ได้ยื่นคำร้องตรงกล่าวหา “ทักษิณ” และ “พรรคเพื่อไทย” ใช้สิทธิหรือเสรีภาพกระทำการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ใน 6 ประเด็นนั้น
“ชูศักดิ์” ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า รากฐานมาตรา 49 เป็นการเทียบเคียงกับฐานความผิด “กบฏ” จึงเรียกว่า ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีบทบัญญัติต่อไปว่าถ้าใครพบก็ให้ไปร้องศาล แล้วสั่งให้คนนั้นหยุดการกระทำ เพราะถือว่าการกระทำเช่นนี้ร้ายแรงต่อประเทศ มีการล้มล้างการปกครอง จึงขอให้หยุด
“แต่การไปร้องแล้วบอกว่ามีการประชุมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ผมว่าสามัญชนโดยทั่วไป ก็น่าจะตัดสินได้ว่าการกระทำแบบนี้หรือ ที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง”
“ชูศักดิ์” หักล้างข้อกล่าวหา “ทักษิณ” ครอบงำ “พรรคเพื่อไทย” ในการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากนายกฯ ว่า เนื่องจากมีวิกฤติ นายกฯ ออก มันไม่ใช่การล้มล้าง เพราะทำให้รัฐบาลจะได้กลับมา เพื่อบริหารประเทศให้บ้านเมืองมันปกติสุขสงบต่อไป แต่ความพยายามของ “ธีรยุทธ” ที่ร้องนั้นนำกรณีของพรรคก้าวไกลที่โดนยุบพรรค จากข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง เพื่อมาเปรียบเทียบแล้วใส่ข้อเท็จจริงให้เข้ากับพรรคเพื่อไทย ถ้าดูข้อเท็จจริงก็พบว่าต่างกันเลย
รู้ทัน "ธีรยุทธ" หวังทางลัดยุบ "เพื่อไทย"
ถามว่า ปลายทางของผู้ร้องหวังใช้ทางลัดยุบพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ “ชูศักดิ์” พยักหน้าก่อนตอบว่า “ถูก ก็มันเป็นการเมือง เพราะนั้น เขาถึงเรียกว่านิติสงคราม ผมก็ไม่อยากจะพูดถึงเป็นสงครามอะไรหรอก นักกฎหมายบ้าง ไม่ใช่นักกฎหมายบ้าง ปลอมบ้าง สุดท้ายเอาข้อเท็จจริงนั้นข้อเท็จจริงนี้มา แล้วบอกว่าผิด ซึ่งผมว่าคนละเรื่องคนละราว”
“ชูศักดิ์”ระบุว่า ตั้งรัฐบาลผ่านการดำเนินการของสภาฯ โดยปกติจะเป็นการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร อีกทั้ง การปกครองประเทศไทย ระบอบประชาธิปไตยก็ยังคงอยู่
หักล้าง "ทักษิณ" ครอบงำ "นายกฯ อิ๊งค์"
ส่วนคดีที่ “ทักษิณ” ครอบงำ “แพทองธาร” หรือ “พรรคเพื่อไทย” ที่มีการร้องไปยัง กกต.ให้ยุบพรรคเพื่อไทยนั้น ตามกฎหมายพรรคการเมืองระบุไว้ชัดเจนว่า ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาครอบงำ สั่งการอย่างโน้นอย่างนี้ กฎหมายเขียนว่า จนสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการพรรคการเมือง และถูกครอบงำ
“เขาไปคุยจะเอาคนนี้เป็นนายกฯ แต่พออีกวัน ตอนเช้าพรรคเพื่อไทยมีมติเอาอีกคนหนึ่ง มันก็ชัดเจนว่าไม่ได้ถูกครอบงำตรงไหนเลย”
“ผมแยกครอบงำ กับการให้คำปรึกษานะ การให้คำปรึกษาไม่ผิดอะไรนะ คนที่มีประสบการณ์ทางการเมือง มาให้คำปรึกษา คุณเป็นนายกฯ มีคนมีประสบการณ์ทางการเมือง ทำอย่างนี้ๆ เป็นคนละเรื่องกับครอบงำนะ”
“ชูศักดิ์” ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลแพทองธาร ยืนยันว่า “ผมสัมผัสกับนายกฯ แพทองธาร มา ท่านก็มีความคิดเป็นอิสระ ฟันธงฉับไว ผมไม่เห็นว่าถูกครอบงำตรงไหน”
“ฝากองค์กรอิสระทั้งหลาย ทำอย่างอื่นดีกว่ามั้ง ไม่เช่นนั้นประเทศก็จะวนอยู่กับเรื่องแบบนี้” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ย้ำ
การันตี "แพทองธาร" ตั้งใจแก้ปัญหาประเทศ
เมื่อถามถึง รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะสามารถบริหารประเทศจนอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้น "ชูศักดิ์" ตอบว่า "นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร มีความตั้งใจมาก ที่จะทำงานเพื่อประเทศ ใส่ใจ สนใจในทุกเรื่อง ทุกนโยบายที่ทำ แล้วมีความพยายามจะประสานความร่วมมือทุุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ให้เข้าใจร่วมกัน ผมดูแล้วก็ เป็นรัฐบาลที่ตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติจริงๆ แก้ปัญหาได้ฉับไวได้รวดเร็ว ผมคิดว่าก็คงประนีประนอม ทำให้รัฐบาลเดินไปได้
ถามว่ามีมองว่าถ้าจนแล้วจนรอด เกิดความขัดแย้งต่างๆ ขึ้นมา นายกฯ อาจชิงยุบสภาฯ ก่อน ได้ "ชูศักดิ์" ระบุเพียงว่า "ยังไม่ได้มีการพูดกันประเด็นเหล่านี้ ไม่ถึงขั้นนั้น เพราะยังมีความพยายามทำความเข้าใจกันในหลายเรื่อง หลายประเด็น ประนีประนอมกันหลายประเด็น ความขัดแย้ง ผมยังไม่เห็นหนักหนาสาหัสอะไร"