สธ. เตือน เฝ้าระวัง 6 โรค ช่วงเทศกาลปีใหม่ ท่องเที่ยว-พบปะสังสรรค์ของคนจำนวนมาก

สธ. เตือน เฝ้าระวัง 6 โรค ช่วงเทศกาลปีใหม่ ท่องเที่ยว-พบปะสังสรรค์ของคนจำนวนมาก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือน เฝ้าระวัง 6 โรคระบาด ช่วงเทศกาลปีใหม่ ท่องเที่ยว-พบปะสังสรรค์ของคนจำนวนมาก

ตามที่มีข่าวสารในสังคมออนไลน์เรื่อง สธ. เตือนให้ระวังโรคระบาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

สธ. เตือน เฝ้าระวัง 6 โรค ช่วงเทศกาลปีใหม่ ท่องเที่ยว-พบปะสังสรรค์ของคนจำนวนมาก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวและพบปะสังสรรค์ของคนจำนวนมาก ให้เฝ้าระวัง 6 โรค ต่อไปนี้
 

1. โควิด 19 – ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ดี โดยระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 730 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

2. ไข้หวัดใหญ่ – เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว แนวโน้มการระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมักเพิ่มขึ้น จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักในการป้องกันการป่วย โดยดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เลี่ยงการนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก ตา หากไปสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

3. ไข้เลือดออก – ยังคงพบผู้ป่วยสูงในภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้ยังมีฝนตกและน้ำท่วม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว การป้องกันยังคงเน้นย้ำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยว่า ป่วยไข้เลือดออก และแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด

4. โรคไอกรน – เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดต่อผ่านละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจาม ติดง่ายในเด็กเล็กหรือ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค จะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เช่น ไอเป็นชุดยาวจนหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย อาจเกิดภาวะหยุดหายใจและเสียชีวิตได้ แนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญที่สุด โดยฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี จากนั้นควรให้ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 12 ปี และกระตุ้นต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่ทุก 10 ปี
 

5. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กินอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่กินอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องอุ่นร้อนก่อนกินทุกครั้ง และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร เลือกดื่มน้ำที่มีเครื่องหมาย อย.

6. โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสซูอิส หรือโรคไข้หูดับ เกิดจากการติดเชื้อ Streptococcus suis ซึ่งเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เชื้อจะอาศัยอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนของหมู ติดต่อผ่านทางการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังโรคติดต่อจากต่างประเทศ เช่น ไข้หวัดนก ฝีดาษวานร และไข้โอโรพุช โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด


ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/ หรือโทร 02-590-3000

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข