บิ๊กตู่ VS เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน: บทเรียนและข้อคิด(ให้)อยู

บิ๊กตู่ VS เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน: บทเรียนและข้อคิด(ให้)อยู

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งหนึ่งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องประสบในฐานะนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่วันแรกๆ

ที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศจนถึงปัจจุบันนี้ ก็คือ การปล่อย “เกียร์ว่างของข้าราชการหลายๆ กระทรวง จนส่งผลทำให้การบริหารงานของรัฐบาลบิ๊กตู่ไม่ไหลลื่นอย่างที่คาดหวังไว้

เหตุผลที่สำคัญซึ่งพลเอกประยุทธ์เคยสะท้อนออกมาในช่วงปีแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็เนื่องมาจาก “มีข้าราชการพูดกันว่าพวกผมมาอยู่แค่ปีเดียวเดี๋ยวก็ไป” และ “ข้าราชการบางคนที่ทำงานแบบรอเวลาไม่ยอมทำอะไร เพราะคิดว่าอีกไม่นานรัฐบาลนี้ก็ไปแล้ว” ณ เวลานั้น การตำหนิว่า คิดแบบนี้ทำแบบนี้ไม่ใช่คนไทย พร้อมทั้งข่มขู่แบบเอาจริงเอาจังว่า “เดี๋ยวจะจับย้ายให้หมดเลย" อาจจะไม่ “ร้อนพอ” ที่จะทำให้มีข้าราชการเริ่มขยับเกียร์ได้สักเท่าไหร่

สภาพการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ตราบเท่าที่ข้าราชการและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังเชื่อมั่นว่า บิ๊กตู่มาแบบชั่วคราว อุปมาเหมือนไม้ล้มลุกที่มีอายุขัยสั้น ไม่สามารถให้เหล่านกสกุณายึดเกาะได้นานวัน

กรณีของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตผู้จัดการทีมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของเกาะอังกฤษอาจจะให้ข้อคิดและแนวทางเทียบเคียงได้ไม่น้อย   ย้อนหลังไปเมื่อวันวาน ก่อนที่ฤดูกาลพรีเมียร์ลีก 2001-2002 จะเริ่มขึ้น เซอร์อเล็กซ์ประกาศล่วงหน้าให้ได้ยินกันชัดๆ ทั่วทั้งเกาะอังกฤษว่า จะรีไทร์ยุติบทบาทหน้าที่ผู้จัดการทีมแมนฯยูไนเต็ดเมื่อจบสิ้นฤดูกาล วางมือตอนอายุ 60 ปีพอดิบพอดี

เซอร์อเล็กซ์คาดการณ์และคาดหวังว่า การประกาศล่วงหน้าเช่นนี้ จะเป็นแรงหนุนเสริมผลักดันให้ลูกทีมและทีมงานทุ่มกายทุ่มใจทุ่มเทเพิ่มเป็นเท่าตัว เพื่อเป็นของขวัญชิ้นโตให้บอสคนนี้ เพราะนักเตะทุกคนรู้ดีว่า เซอร์อเล็กซ์มีความใฝ่ฝันที่จะเห็นทีมปีศาจแดงผ่านทะลุเข้าสู่รอบชิง และได้แชมป์รายการแชมป์เปี้ยนลีกในปี 2002 ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในเมืองกลาสโกว์บ้านเกิดของยอดผู้จัดการทีมคนนี้ เป็นการจบฉากชีวิตในรั้วโอลด์แทรฟฟอร์ดอย่างสวยหรูที่สุด

ก่อนหน้านั้น แมนฯยูไนเต็ดเพิ่งคั่วแชมป์พรีเมียร์ลีกสามสมัยติดต่อกัน โดยเฉพาะการสร้างประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ที่สุด Great Treble คว้าสามแชมป์ในปี 1999 ได้อย่างมหัศจรรย์ ดังนั้น ปี 2002 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่สุกงอมที่สุดที่จะก้าวลงจากตำแหน่ง

แต่ผลสุดท้าย นี่คือความผิดพลาดอย่างมหันต์ เป็นการตัดสินใจที่เซอร์อเล็กซ์ยอมรับในภายหลังว่าเป็นเสียหาย เพราะคำประกาศวางมือล่วงหน้าหนึ่งปีส่งผลกระทบต่อ (ความรู้สึกของ) ทีมอย่างมาก เกิดภาวะความไม่แน่นอนจนถึงขั้นระส่ำระสายขึ้น นักเตะหลายๆ คนเริ่มรวนเร เริ่มวิตกกังวล และเริ่มที่จะไม่ฟังเสียงบอสใหญ่ ปัญหาเรื่องระเบียบวินัยภายในทีมกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเซอร์อเล็กซ์ ทั้งๆ ที่เขาคือ “พ่อ” ที่ดุดันและเจ้าระเบียบของลูกทีมทุกๆ คน เสียงของเซอร์อเล็กซ์เริ่มไม่เข้าหู นักเตะบางคนเริ่มขัดใจ เพราะบอสคนนี้กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อจบฤดูกาล

การตัดสินใจวางมือดังกล่าว ในที่สุดส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและฟอร์มการเล่นของทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฟอร์มเริ่มย่ำแย่มากๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2001 แมนฯยูไนเต็ดพ่ายแพ้ถึง 5 นัดจากเกม 7 นัด โดยเฉพาะการแพ้สามนัดติตต่อกันในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่สำคัญมากๆ สำหรับตำแหน่งแชมป์

การตัดสินใจในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา ด้วยการกลับลำประกาศไม่ลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลทำให้ฟอร์มการเล่นของทีมดีขึ้นอย่างทันตาเห็น แต่ก็ถือว่าช้าเกินไปที่จะเยียวยาได้ เพราะถึงที่สุดแล้ว แมนฯยูไนเต็ดพ่ายแพ้ในบ้านถึง 7 นัดในฤดูกาลนั้น ถือเป็นสถิติที่ย่ำแย่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1977-1978 ดังนั้น เมื่อจบฤดูกาล แมนฯ ยูไนเต็ดจึงได้เพียงแค่ตำแหน่งที่ 3 ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่พรีเมียร์ลีกเริ่มขึ้นในปี 1992 ที่สุดของที่สุดแล้ว การประกาศวางมือจากตำแหน่งล่วงหน้าเป็นปี ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวง ฤดูกาลนั้นจึงถือเป็นฤดูกาลที่น่าผิดหวังที่สุดสำหรับเซอร์อเล็กซ์และสโมสร เพราะแมนฯยูไนเต็ดล้มเหลวไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆ มาครองได้เลยแม้เพียงตำแหน่งเดียว     ความผิดพลาดในคราวนั้น ให้บทเรียนสำคัญมากๆ ต่อเซอร์อเล็กซ์ ก็คือ อย่าได้กำหนดหรือประกาศวันก้าวลงจากตำแหน่งล่วงหน้านานๆ แบบให้ใครรู้ แต่ควรต้องทำแบบชนิดฉับพลันไม่มีใครคาดคิดหรือล่วงรู้มาก่อน ถือเป็นกฎทองที่ล้ำค่าสำหรับผู้นำในทุกๆ วงการ

หลังจากกลับลำไม่ลาออกตามที่ประกาศไว้ ฤดูกาลต่อมาก็คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกทันที และเป็นแชมป์ต่ออีก 5 สมัย ที่สำคัญมากๆ ก็คือ สามารถคว้ายูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีกอีกครั้งในฤดูกาล 2007-2008 ได้อย่างยิ่งใหญ่ พิสูจน์ให้เห็นว่าการอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 11 ปีจนจบฤดูกาล 2012-2013 กลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดทั้งต่อตัวเอง สโมสรและวงการฟุตบอลอังกฤษ

ฤดูกาล 2012-2013 ก็ดำเนินไปด้วยดีจนใกล้จะจบฤดูกาล และแมนฯยูไนเต็ดกำลังจ่อแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นสมัยที่ 13 แบบไม่มีทางเป็นอื่น เป็นประวัติศาสตร์ที่ยากจะหาใครลบล้างได้ ดังนั้น ด้วยบทเรียนราคาแพงในอดีตและโอกาสอันเหมาะสม เซอร์อเล็กซ์ได้อาศัยช่วงเวลาที่เหลืออีกเพียงแค่ 11 วันก่อนถึงวันแข่งนัดสุดท้ายของฤดูกาล ประกาศวางมืออย่างเป็นทางการแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และไม่มีผลเสียหายใดๆ เกิดขึ้นตามมาเหมือนเช่นในปี 2001 เพราะในวันที่ประกาศวางมือนั้น แชมป์พรีเมียร์ลีกอยู่ในมือแบบแบเบอร์แล้ว สำหรับเซอร์อเล็กซ์แล้ว บทเรียนในปี 2001-2002 ถือว่าแพงเกินกว่าที่จะปล่อยให้เกิดซ้ำร้อยอีกครั้ง เป็นบทเรียนที่ให้ข้อคิดได้เป็นอย่างดีสำหรับใครๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน โดยเฉพาะผู้นำในทุกองค์กร

ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กันนี้ อาจช่วยอธิบายได้ในระดับหนึ่งว่า ทำไมการปรับตัว ออกตัวและแสดงตัวอย่างค่อนข้างชัดเจนของพลเอกประยุทธ์ในช่วงหลังๆ มานี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์และตีความว่ามีเจตนารมณ์ที่จะสืบทอดอำนาจแบบอยู่ยาว ทั้งๆ ที่ในอีกด้านหนึ่ง บิ๊กตู่อาจจะมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศในระยะยาว และคำพูดที่ว่า “เสียของ”

------------------------

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

[email protected]