Storytelling ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำ
เมื่อพูดถึงการเล่าเรื่อง หรือ Storytelling หลายคนนึกถึงนิทานต่างๆ ที่เคยฟังเมื่อตอนเป็นเด็ก นิทานบางเรื่อง
ให้บทเรียนสอนใจที่เรายังจำได้ไม่ลืมมาจนถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบัน Storytelling เข้ามามีบทบาทมากในโลกธุรกิจโดยจะเห็นได้จากการที่ Business School ชั้นนำหลายแห่งในอเมริกาและยุโรปได้บรรจุรายวิชา Storytelling ลงในหลักสูตรบริหารธุรกิจ บริษัทชั้นนำระดับโลกหลายบริษัทถือว่า Storytelling เป็นหนึ่งใน Leadership Tools ที่สำคัญที่ผู้บริหารทุกระดับต้องมี และบรรจุเรื่องนี้ลงในแผนการฝึกอบรมของผู้บริหาร บางบริษัทได้แต่งตั้ง Corporate Storyteller เพื่อเก็บข้อมูลที่สำคัญของบริษัท นำมาเขียนเป็นเรื่องเล่าเพื่อใช้สื่อสารกับทั้งพนักงานในบริษัทและบุคคลภายนอก เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในเชิงธุรกิจของบริษัท
ไม่ว่าเราจะมีสินค้าหรือบริการที่ดีแค่ไหน หากปราศจากการเล่าเรื่องที่ดีก็ไม่สามารถทำให้องค์กรประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ ตัวอย่างการทำ Storytelling ที่ประสบความสำเร็จมาก เช่นSteve Jobs ที่ทำให้คนทั่วโลกให้ความสนใจและรอฟังว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นกับสินค้าและบริการของ Apple บ้างในทุกๆ ครั้งที่มี Keynote Speech ของเขา Storytelling ไม่ได้มีความสำคัญต่อวงการนักการตลาดเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อคนในอีกหลายสาขาอาชีพ หรือแม้แต่ผู้นำองค์กรหากทำ Storytelling ได้ดีก็จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุน คู่ค้า และสร้างแรงจูงใจให้พนักงานในองค์กรได้
นอกจากนี้ Storytelling ยังถูกนำมาใช้ในหลายโปรแกรมของการพัฒนาบุคลากร เช่น การทำ Training Coaching และ Mentoring เนื่องจากเรื่องเล่ามีข้อดีดังต่อไปนี้
- สามารถจดจำได้ง่าย
- สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน
- เข้าถึงผู้คนทุกประเภทไม่มีข้อจำกัดด้าน demographic
เป็น informal learning tool ที่มีประสิทธิภาพ ใช้ได้กับ learner ทุกประเภท
- ทำให้ผู้ฟังอยู่ใน mental learning mode กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้และเกิดการต่อต้านน้อย
- ข้อมูลที่นำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวและผ่านการเล่าเรื่องที่ได้อารมณ์ ทำให้คนสนใจได้มากกว่า
- เรื่องเล่าที่น่าประทับใจไม่สูญหายไปกับกาลเวลา
ในชั้นเรียน CAD (Ctrl Alt Delete: Reboot Your Life. Rebuild Your Future) ซึ่งเป็นที่แห่งการเรียนรู้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สถาบันความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (Academy of business Creativity) มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมมือกันสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น นอกจากการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายแขนงมาแชร์ประสบการณ์ในสนามของนักสร้างสรรค์ตัวจริง เพื่อเป็นกรณีศึกษาที่สร้างแรงบันดาลใจและเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมที่เรียกว่า CAD Talk ที่เปิดโอกาสให้พนักงานที่เข้าร่วมหลักสูตรมาเล่าเรื่องราวของตนเองเป็นเวลา 15 นาที โดยหัวข้อเรื่องนั้นพนักงานเป็นผู้กำหนดเองได้อย่างอิสระ เป็นการเปิดเวทีให้พนักงานงานได้ฝึกทักษะการทำ Storytelling กันอย่างจริงจัง
ในชั้นเรียนแรกก่อนที่พนักงานที่อาสามาเล่าเรื่องจะได้ขึ้นเวที CAD Talk จริง พนักงานจะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling Technique) และขั้นตอนการวางโครงเรื่อง (Story Structuring) จากคุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการสอนการเล่าเรื่องจาก Slingshot Group
การมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจนั้นยังไม่เพียงพอในการเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่ง การเล่าเรื่องอย่างได้อารมณ์และการสื่อสัมพันธ์ (Connect) กับหมู่ผู้ชมที่อยู่หน้าเวทีให้ได้ตลอดก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน ในคลาสเรียนถัดมาเราจึงเชิญ คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ หรือครูเงาะ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกสอนการแสดงของเมืองไทยและทีมงานมาให้ความรู้เรื่อง การแสดงอย่างสร้างสรรค์ (Creative Acting), การจัดการบนเวที (Stage Management), การใช้เสียงและลีลาบนเวที (Vocal and Performing on Stage) โดยจัดเป็นเวิร์คช็อปให้พนักงานได้ฝึกจริงและได้รับคอมเมนท์จากวิทยากรและทีมงานโดยตรง ทำให้พนักงานได้รับทั้งความสนุกสนานและความรู้ รวมทั้งความมั่นใจในการเล่าเรื่องเมื่อต้องขึ้นไปอยู่บนเวทีจริง
เมื่อได้รับความรู้และได้ฝึกทักษะในเวิร์คช็อปกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่พนักงานต้องขึ้นมาแสดงฝีมือการเล่าเรื่องบนเวที CAD Talk ให้เพื่อนร่วมชั้นหลายสิบคนได้ฟัง เราพบว่าพนักงานหลายคนของเราเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก นอกจากเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายของแต่ละคนจะมีประเด็นที่น่าสนใจแล้ว ยังให้แง่คิดดีๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนร่วมชั้นได้อย่างมากมาย เราคาดหวังว่าพนักงานของเราจะสามารถนำทักษะนี้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของพวกเขาได้
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาทักษะการทำ Storytelling ซึ่งเรามองว่าเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับผู้นำในการบริหารจัดการคนและธุรกิจในยุคปัจจุบัน ให้กับพนักงานของเรา สวัสดีครับ
---------------------
วรวัจน์ สุวคนธ์
ผู้บริหารสูงสุดทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)