กำไรจากธุรกิจ

กำไรจากธุรกิจ

หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ดำเนินการอยู่หรือธุรกิจที่กำลังริเริ่มดำเนินการ มักหนีไม่พ้นความต้องการที่จะได้ “กำไร"

ในทางเศรษฐศาสตร์ “กำไร” หมายถึง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นเนื่องจากการนำ “รายได้รวม” กับ “ค่าใช้จ่ายรวม” ซึ่งมักจะเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กำไรสุทธิ” ของธุรกิจ

ดังนั้น กำไรทางธุรกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างน้อยก็ต้องมีปัจจัยที่เป็นตัวเงิน 2 ส่วน คือ “รายได้” และ “ค่าใช้จ่าย”

และเป็นที่แน่นอนว่า “กำไร” เป็นเรื่องที่จะกำหนดตายตัวได้ยาก แม้ธุรกิจที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ก็อาจสร้างกำไรได้แตกต่างกัน และกำไรอาจมีค่าได้ตั้งแต่เป็นบวก (ได้กำไร) เป็นลบ (ขาดทุน) หรือเป็นศูนย์ (เท่าทุน)

ว่ากันว่า “กำไร” ก็คือผลตอบแทนธุรกิจสร้างขึ้นมาได้ และ กำไรจะกลับคืนมาสู่ผู้ประกอบการธุรกิจผ่านการจ่ายเงิน “ปันผล” คืนแก่เจ้าของธุรกิจ หากธุรกิจไม่สามารถสร้างกำไรขึ้นได้ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจก็จะไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ เกิดขึ้นจากตัดสินใจ “เสี่ยง” ในการลงทุนทำธุรกิจ

จึงแสดงได้ว่า “กำไร” ก็คือตัวชี้วัดที่ดีตัวหนึ่งสำหรับวัดการประสบความสำเร็จและความยั่งยืนในการทำธุรกิจ เพราะหากทำธุรกิจต่อไปโดยไม่สามารถทำกำไรได้ ธุรกิจก็จะต้องปิดตัวลงไปในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจที่ทำกำไรได้เท่ากับศูนย์ หมายถึงรายได้ที่เกิดขึ้นเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปพอดี ก็ยังอาจดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ตัวเจ้าของธุรกิจจะไม่ได้ผลตอบแทนส่วนเกิดใดๆ เลยจากการทำธุรกิจ

เรียกได้ว่า ทำแบบเหนื่อยเปล่าๆ !!!

มีผู้เสนอแนวคิดว่า ความสามารถหรือศักยภาพในตัวผู้ประกอบการธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจเกิดกำไรขึ้นได้หรือไม่

เช่นในการทำธุรกิจที่เหมือนๆ กัน ผู้ประกอบการคนหนึ่ง อาจสามารถสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้มากกว่าผู้ประกอบการอีกคนหนึ่ง

แสดงว่า การทำธุรกิจประเภทเดียวกัน ก็อาจไม่สามารถสร้างกำไรได้เท่ากัน และผู้ประกอบการที่มีความสามารถสูงกว่า จะสามารถทำกำไรให้กับธุรกิจได้มากกว่า

ดังนั้น ความคิดที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจที่มีผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่า ผู้ที่คิดจะทำตามจะประสบความสำเร็จไปด้วย

บางคนนำเรื่องของ “กำไร” ไปผูกติดกับ “ความเสี่ยง” ในการทำธุรกิจ

มีทฤษฎีที่กล่าวว่า “ถ้ากล้าเสี่ยงมาก ก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นตาม” (High risks, High returns) ซึ่งอาจใช้ไม่ได้เสมอไปกับการทำธุรกิจ

เพราะหากเสี่ยง (ลงทุน) มากสำหรับธุรกิจที่ไม่มีความโดดเด่นอย่างแท้จริง หรือไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้บริโภค ก็อาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนจากธุรกิจได้ตามความคาดหวังจากขนาดของการลงทุน

อีกประการหนึ่ง การสร้างกำไร ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมและความนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

ซึ่งเป็นพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งของ “กำไร” ซึ่งก็คือ การไม่อยู่นิ่ง แต่จะปรับเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นพฤติกรรมการเป็น “พลวัตร” ของ กำไร ในแบบที่ทำนายหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก

สิ่งที่ผลักดันให้ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจไม่อยู่นิ่งกับที่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการที่จะเข้าใจถึงปัจจัยเกี่ยวกับตลาด เช่น โครงสร้างของตลาด ขนาดตลาด รสนิยมและความต้องการของผู้บริโภค

ปัจจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ต้องนำมาใช้ประกอบในผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต

หรือแม้กระทั่งปัจจัยเกี่ยวกับวิธีการที่นำมาใช้ในการสร้างรายได้หรือโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ในสมัยปัจจุบัน เป็นที่พิสูจน์ได้และเชื่อกันว่า ความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจ จะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการได้อีกด้วย

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นำเสนอสู่ตลาดมีความโดดเด่นในเรื่องของสมรรถนะการใช้งาน รูปแบบที่น่าสนใจ หรือความแปลกใหม่ที่ตลาดและผู้บริโภคไม่เคยได้รับทราบหรือมีประสบการณ์มาก่อน

การที่ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น ผู้ประกอบการธุรกิจก็สามารถตั้งราคาขายที่สูงขึ้นได้โดยที่ผู้บริโภคมีความพึงพอใจและยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อได้เป็นเจ้าของความโดดเด่นนั้นๆ

เมื่อราคาขายสูงขึ้น รายได้ของธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้น กำไรก็จะเพิ่มขึ้น

ส่วนนวัตกรรมกระบวนการจะสามารถทำให้การผลิตมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการผลิต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

เมื่อต้นทุนการผลิตลดลง กำไรก็จะเพิ่มขึ้น

กล่าวโดยสรุป กำไรของธุรกิจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากความสามารถในการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภค และนำเสนอธุรกิจที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ก่อนคนอื่น

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายนอกธุรกิจ เช่น สภาพแวดล้อมด้านตลาด หรือการเปลี่ยนแปลงภายในธุรกิจ เช่น ความสามารถในการลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนั้น กำไรของธุรกิจ จะเกิดขึ้นอย่างแตกต่างกันได้เนื่องจากความสามารถเฉพาะตัวของผู้ประกอบการ

ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากพรสวรรค์ หรือความเก่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากพรแสวง จากการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ความกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และค้นคว้าหาสูตรสำเร็จที่สอดคล้องเหมาะสมกับบุคลิก ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ

หรือความเข้ากันได้ระหว่างตัวธุรกิจและตัวผู้ประกอบการ

โดยไม่รวมถึงเรื่องของสายป่านและแรงสนับสนุนทางการเงินที่แตกต่างกัน ในลักษณะ “เงินต่อเงิน”