'อิ๊งค์' นักการเมืองแห่งปี ฝ่ามรสุมต่อต้าน 'ทักษิณ'
ดูเหมือนท่ามกลางแรงกดดันในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และกระแสต่อต้าน “ทักษิณ” หรือ “ระบอบทักษิณ” กำลังคืนชีพ ก็ไม่อาจฉุดรั้งกระแส “ขาขึ้น” ของ นายกฯหญิงคนที่สอง แห่ง “ตระกูลชินวัตร” ได้
เมื่อล่าสุด ผลสำรวจประชาชน ของ “นอร์ทกรุงเทพโพล” ยกให้เป็น “นักการเมืองแห่งปี 67” เรียบร้อย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจประชาชนในหัวข้อ “นักการเมืองแห่งปี” ในประเด็น “เห็นว่าบุคคลใดที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็น นักการเมืองแห่งปี2567”
ผลสำรวจพบว่า 9 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 15.4% , อันดับ 2 นายภูมิธรรม เวชยชัย 7.8% , อันดับ 3 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 7.5% , อันดับ 4 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 7.3% , อันดับ 5 น.ส.รักชนก ศรีนอก 6.8% , อันดับ 6 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 6.1% , อันดับ 7นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 5.5% , อันดับ 8นายรังสิมันต์ โรม 5.3% , อันดับ 9 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 5%
เป็นที่สังเกตว่า ทิ้งห่างคู่แข่งคนสำคัญ อย่าง “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ไม่เห็นฝุ่น
สอดคล้องกับคะแนนนิยมทางการเมืองของนักการเมืองประจำเดือนกันยายน ที่ Line Today สำรวจ พบว่า “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก้าวกระโดดขึ้นมาครอง อันดับ 1 หลังจากเดือนสิงหาคม ติดอยู่ที่อันดับ 11 คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมากถึง 4.5 พันคะแนน
ขณะที่ อันดับ 2 ตกลงมาจากอันดับ 1 ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ พบว่าคะแนนลดลงมากถึง 16,803 คะแนน หลังจากเดือนสิงหาคม มีคะแนนโหวตสูงถึง 19,794 คะแนน
ส่วนอันดับที่ 3 คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คะแนนนิยมพุ่งอย่างผิดคาด
ส่วนผลคะแนน 10 อันดับแรกมีดังนี้
อันดับ 1 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 4,764 คะแนน คิดเป็น 37.59%
อันดับ 2 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2,991 คะแนน คิดเป็น 23.6%
อันดับ 3 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน 1,355 คะแนน คิดเป็น 10.69%
อันดับ 4 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 681 คะแนน คิดเป็น 5.37%
อันดับ 5 นายชวน หลีกภัย 585 คะแนน คิดเป็น 4.62%
อันดับ 6 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 428 คะแนน คิดเป็น 3.38%
อันดับ 7 นายทักษิณ ชินวัตร 336 คะแนน คิดเป็น 2.65%
อันดับ 8 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล 313 คะแนน คิดเป็น 2.47%
อันดับ 9 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 181 คะแนน คิดเป็น 1.43%
อันดับ 10 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 131 คะแนน คิดเป็น 1.03%
เช่นเดียวกับ “นิด้าโพล” เมื่อโฟกัสไปที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็พบว่า กระแสความนิยม นำโด่งเลยทีเดียว
โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567”ระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ
พบว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เรียงลำดับดังนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 31.35 ระบุว่า นางสาวแพทองธาร(อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีความเป็นผู้นำ และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 23.50 ระบุว่า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิด และทัศนคติที่ดี อันดับ 4 ร้อยละ 8.65 ระบุ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร อันดับ 5 ร้อยละ 4.80 ระบุ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหาร รวมถึงมีจุดยืนในการต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ อันดับ 6 ร้อยละ 4.00ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีความเป็นกันเอง ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต และมีจุดยืนในการทำงานที่ชัดเจน อันดับ 7 ร้อยละ 1.15 ระบุ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เพราะมีความเด็ดขาด และมีประสบการณ์ทางการเมือง ร้อยละ 2.80 ระบุอื่น ๆ...
ที่น่าสนใจ เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช วิเคราะห์ 5 ปัจจัย ที่ทำให้ “อุ๊งอิ๊ง” นำโด่ง ผ่าน เฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ว่า
1.มาจากฐานคะแนนเสียงคนเสื้อแดงที่ชื่นชอบคุณทักษิณ และเป็นสาวกของคุณทักษิณมาโดยตลอด เมื่อคุณอุ๊งอิ๊งในฐานะลูกสาวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คะแนนส่วนนี้ก็จะเทมาให้กับคุณอุ๊งอิ๊ง ซึ่งต่างกับตอนที่คุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี คนเสื้อแดงรู้สึกว่า เป็นบุคคลภายนอก เป็นข้าวนอกนา ไม่ใช่คนในครอบครัวชินวัตร และไม่ใช่เนื้อแท้ของคนเสื้อแดง
2.เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน หลุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป และไม่มีชื่อในการสำรวจของนิด้าโพล คะแนนนิยมของคุณเศรษฐา ก็ไหลมารวมกับคะแนนนิยมของคุณอุ๊งอิ๊ง ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยด้วยกัน
3.เมื่อคุณอุ๊งอิ๊งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปรากฏภาพความเคลื่อนไหวทางการเมืองบนสื่อมากที่สุดคนหนึ่ง จะทำให้ประชาชนเกิดภาพจำ คุ้นชิน เพิ่มความนิยมชมชอบมากขึ้น
4.ผลจากนโยบายการแจกเงินสด 10,000บาทให้กับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้พิการ จำนวน 14 ล้านคน ทำให้คนกลุ่มนี้พึงพอใจและชื่นชอบ รวมถึงกลุ่มคนที่ลงทะเบียนทางแอพพลิเคชั่นทางรัฐ 30 ล้านคน ต่างคาดหวังว่าจะได้รับเงินเฟส 2 ด้วย จึงเกิดกระแสนิยมชื่นชอบขึ้นมาด้วย
5.คู่แข่งของ อุ๊งอิ๊ง คือคุณเท้ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนคนใหม่ ซึ่งมีบทบาทไม่โดดเด่นมากพอ ให้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน แตกต่างกับภาพผู้นำทางการเมืองแบบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคุณอุ๊งอิ๊งกับคุณเท้งแล้ว คุณอุ๊งอิ๊งได้เปรียบคุณเท้งมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า กระแส “ขาขึ้น” ของ “อุ๊งอิ๊ง”น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทีเดียว เพราะปัญหาใหญ่ของ “อุ๊งอิ๊ง” ก็คือ การมี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นทั้งบิดา “นายกรัฐมนตรี” และคนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น จึงง่ายที่คู่แข่งทางการเมือง และศัตรูทางการเมืองจะนำเอาความเป็น “พ่อ-ลูก” มาผูกโยงทางการเมือง เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล รวมทั้งอาจถึงขั้นพุ่งเป้า “ล้มรัฐบาล” ได้เลยทีเดียว
ที่เห็นได้ชัด ก็คือ การยื่นคำร้องเอาผิด “ทักษิณ” ครอบงำพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” ช่วยเหลือ “ทักษิณ” ให้รอดพ้นจากการติดคุก
อย่าง กรณีคำร้อง 6 ข้อ ของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ร้องศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย (พท.) เลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่
และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดแล้ว และอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง อันทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม
แต่การพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาด เห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ จึงมีมติให้ยกคำร้อง
และคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยกคำร้อง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ก็เช่นเดียวกัน กรณี นายคงเดชา ชัยรัตน์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ถูกร้องที่ 1 มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์และรับทราบการบังคับใช้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯผู้ถูกร้องที่ 3 มีอำนาจให้ความเห็นชอบและอนุญาตบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีอาการป่วยรุนแรง อีกทั้งไม่ได้ดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรค 1
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 3 กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม คำร้องในประเด็นเดียวกันนี้ ยังอยู่ในชั้นการไต่สวนของ “ป.ป.ช.” และ “กกต.” ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหว “ปลุกม็อบ” ของกลุ่มสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ “ทักษณ-ฮุน เซ็น” มาเป็นเป้าโจมตีเรื่อง “ขายชาติ” ทำให้ไทยเสียดินแดนเกาะกูด ให้กับกัมพูชา กรณี MOU 2544 ที่เชื่อว่า มีการแอบเจรจาผลประโยชน์กันไว้แล้ว ขณะที่“ทักษิณ” ปฏิเสธไม่เป็นความจริง ยังไม่มีการตกลงอะไรเลย ยกเลิกก็ไม่มีผลอะไร
ที่สำคัญ “สนธิ” ยังประกาศพร้อมจะนำม็อบลงถนนอีกครั้ง เหมือนม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548
นี่คือ มรสุมลูกใหญ่ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ก็ว่าได้ แต่สิ่งที่น่าคิดไปกว่านั้น ม็อบจะจุดติดหรือไม่ ในเมื่อกระแสนิยม “นายกฯอิ๊งค์” ยังแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ มวลชนจะมาจากไหนกัน?