เราควรปฏิรูปภาคเกษตรไทยในทิศทางใด
หากจะให้ตอบคำถามข้างต้นให้ถูกต้อง ควรพิจารณาและศึกษาประเด็นต่อไปนี้ก่อนว่า ภาคเกษตรกรรมกำลังประสบ
ปัญหาใดอยู่ รุนแรงและยืดเยื้อเพียงไร รวมไปถึงสาเหตุหลักของปัญหาเหล่านั้น ผลการศึกษาน่าจะช่วยชี้แนะถึงช่องทางแก้ไขหรือปฏิรูปที่เหมาะสม ตามสถิติอัตราการขยายตัวของผลผลิตประชาชาติที่แท้จริงในรอบ 23 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2534-2556) ผลผลิตของภาคเกษตรกรรมขยายตัวในอัตราเฉลี่ยปีละ 3.06% ซึ่งต่ำกว่า 5.15% ของภาคอุตสาหกรรมเป็นอันมาก
นอกจากนั้น ค่าสัมประสิทธิ์ของความผันผวน (coefficient of variations) ยังแสดงให้เห็นว่าอัตราการขยายตัวของผลผลิตภาคเกษตรกรรมนั้นผันผวน (1.06) มากกว่าของภาคอุตสาหกรรม (1.03) อีกด้วย สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้รายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนภาคการเกษตรต่ำกว่าของภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากเสมอมา (ดังที่แสดงตัวอย่างในรูป) โดยของภาคการเกษตรอยู่ในระดับเพียง 33% หรือ 1 ใน 3 ของภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น
ระดับรายได้ที่ตกต่ำและผันผวนเป็นอันมากของเกษตรกรไทยนี้ สืบเนื่องมาจาก 4 สาเหตุหลัก อันได้แก่ 1. ภาวะน้ำแล้ง (หรือน้ำท่วม) 2. เกษตรกรขาดความรู้และทรัพยากรของการเกษตรยุคใหม่ 3.สภาพเศรษฐกิจโลกซบเซา และ 4. ราคาพืชผลตกต่ำในตลาดโลก ทั้งสี่ปัจจัยนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศใดประเทศหนึ่ง ราคาของสินค้าเกษตรแทบทุกชนิดจะขึ้นกับแรงกดดันในตลาดโลก ซึ่งเกี่ยวโยงกับปริมาณการผลิต ปริมาณความต้องการใช้หรือบริโภค และปริมาณการค้าหรือเก็งกำไรจากการคาดการณ์
แม้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง แต่ก็ยังไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าเหล่านั้นในตลาดโลกได้ รัสเซียและจีนก็เช่นกัน ดัชนีราคาสินค้าเกษตรโลกจึงแปรผันมากตั้งแต่การค้าในตลาดโลกได้เปิดเสรีมากขึ้นๆ ตัวอย่างเช่น ในปี 2557 และ 2558 ราคาข้าวสาร 100% ชั้น 2 ลดลง 18.5% และ 9.1% ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ลดลง 29.2% และ 16.5% ราคาข้าวโพดลดลง 31.7% และ 8.9% ราคาแป้งมันสำปะหลังลดลง 8.7% และ 1.5% ราคาน้ำตาลลดลง 6.5% และ 19.6% ตามลำดับ สถานการณ์ความผันผวนของราคานี้ก็คล้ายคลึงกับตลาดน้ำมัน ซึ่งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกหรือ OPEC ก็ไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ดังเช่นในอดีต
ผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเป็นผู้รับราคาตลาดโลก (หรือเป็น price takers) ทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ตั้งราคา (หรือ price makers) ข้อเท็จจริงอันนี้ทำให้การจัดตั้งมูลภัณฑ์กันชนหรือการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาด้วยวิธีใดก็ตามไม่ประสบผลสำเร็จ มักเป็นความพยายามหรือมาตรการที่สิ้นเปลืองและเปล่าประโยชน์ ในกรณีที่รัฐเข้าไปดำเนินมาตรการทางการเงินเข้าช่วยเหลือเกษตรกรก็เช่นกัน แม้จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้ชาวนาได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงความพยายามแก้ไขสถานการณ์ที่ปลายเหตุ มิได้ช่วยแก้รากฐานของปัญหาแต่อย่างใด
เนื่องจากสาเหตุหลักของปัญหาแก่ภาคเกษตรกรรมทั้ง 4 ประการที่กล่าวข้างต้นมีความรุนแรงเกินกว่าที่หน่วยงานเล็กๆ จะสามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรในประเทศเล็กๆ เช่นไทยนี้ คือ การรวมตัวของเกษตรกร (ทั้งที่อยู่ในเขตเดียวกันและต่างเขต) เข้าด้วยกันเป็นกลุ่ม ซึ่งครอบคลุมถึงทั้งที่ดินและอุปกรณ์การเกษตรในครอบครอง จุดประสงค์ของการรวมตัวนี้คือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของเกษตรกร เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ (1) เมื่อขนาดของการเพาะปลูกใหญ่ขึ้น ต้นทุนโดยเฉลี่ยของผลผลิตการเกษตรก็จะลดลง (2) ขนาดของการเพาะปลูกที่ใหญ่ขึ้นจะเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรมากขึ้น ว่าจะเลือกปลูกพืชผลชนิดใดบ้างในพื้นที่ของกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันนั้น ทางเลือกที่มากขึ้นนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถต่อสู้กับความผันผวนของทั้งราคาและผลผลิตในตลาดโลกได้มากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การรวมตัวของเกษตรกรนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทย
อนึ่ง การรวมตัวที่กล่าวถึงข้างต้นนี้มิใช่การยึด (หรือซื้อขาย) ทรัพย์สินของเกษตรกรแต่อย่างใด เกษตรกรที่เข้ารวมกลุ่มยังคงรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินของตนเช่นเดิม นอกจากนั้น สัดส่วนทางการเงินของกรรมสิทธิ์เหล่านั้นยังจะใช้เป็นส่วนแบ่งสำหรับผลประโยชน์สุทธิที่กลุ่มเกษตรกรได้รับในท้ายที่สุดด้วย คุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นที่สุดของการรวมกลุ่ม คือ เคารพในเสียงข้างมากและเชื่อถือในผลการศึกษา พร้อมทั้งแนวนโยบายที่แผนกวิจัยและวางแผน (R&D) ของกลุ่มเกษตรกรนั้นๆ สรุปมาจากการติดตามข้อมูลการเกษตรทั่วโลกอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงทั้งแนวโน้มการผลิต การบริโภค ราคา และนโยบายการค้าของประเทศที่สำคัญในตลาดโลก
ผลงานของแผนก R&D จะช่วยวางแนวนโยบาย (และ/หรือ เปลี่ยนแปลง) การผลิตและค้าขายผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละภาคส่วนของกลุ่มเกษตรกรนั้นๆ ให้ถูกต้องทันต่อเวลาและไม่ประสบสภาวะขาดทุน อนึ่ง หน่วยงานของรัฐก็คงต้องเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือแก่แผนก R&D ด้วย โดยเพ่งเล็งไปที่การเพาะปลูกในเขตอื่นๆ ของประเทศ และการพยากรณ์สภาพอากาศระยะยาว
ขนาดของธุรกิจการเกษตรที่ใหญ่ขึ้นจากการรวมกลุ่มและประสานงานกันดังที่กล่าวข้างต้นนี้ จะสร้างผลประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในหลายรูปแบบ ดังเช่น ต่อไปนี้
(1) ช่วยลดต้นทุนโดยเฉลี่ยจาก economy of scale
(2) ช่วยเพิ่มความสามารถให้กระจายความเสี่ยงได้ โดยกระจายประเภทผลผลิตทางการเกษตรในหลายภาคส่วนของแต่ละกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกัน
(3) ช่วยเพิ่มความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตด้วยวิธีใหม่ๆ พร้อมทั้งใช้ช่วงเวลาระหว่างฤดูการผลิตให้เป็นประโยชน์
(4) ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนแปลงผลผลิตไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาวะของตลาดโลกได้
(5) ช่วยเปิดช่องทางการตลาดและการบริหารจัดการธุรกิจให้กว้างและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(6) ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย
โดยสรุป ผลประโยชน์จากการรวมตัวของเกษตรกรเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มนั้นจะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากการผันผวนของรายได้ด้วย ตัวอย่างเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัดถึงข้อดีจากการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ได้แก่ เครือข่าย ATM pooling ระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงนับว่าเป็นข่าวดีที่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ รัฐได้เริ่มทดลองนโยบายแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
สิ่งที่หลายฝ่ายหวังคือ จะมีการทดลองการสับเปลี่ยนข้าวไปเป็นพืชทดแทนอย่างกว้างขวางมากขึ้นในอนาคต เช่น หม่อนเลี้ยงไหม แตงโม มัลเบอร์รี่ แตงกวา ถั่วฝักยาว ว่านน้ำ พริกพันธุ์แอปเปิล ข้าวโพดฝักอ่อน ปอเทือง เพราะพืชเหล่านี้ได้ช่วยให้ชาวนาหลายจังหวัดต่อสู้กับภาวะวิกฤติภัยแล้งได้อย่างสำเร็จ และติดใจกันไปพอควร
ข่าวดีอีกประการหนึ่งคือ ในช่วงกลางปีนี้รัฐได้สนับสนุนให้เอกชนจัดตั้งองค์กรวิสาหกิจชุมชนขึ้นหลายแห่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการรวมตัวของเกษตรกรเข้าด้วยกันเป็นกลุ่ม เพื่อขยายขนาดของหน่วยธุรกิจเอกชนดังที่กล่าวข้างต้น
-----------------------
ปกรณ์ วิชยานนท์
นักวิชาการอิสระ