FinTech แบงก์ในสิงคโปร์
ผมได้มีโอกาสไปดูงานด้าน Fintech ที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ จึงขอนำเรื่องราวมาแบ่งปันกับแฟนคอลัมน์ ดังนี้
เริ่มจาก ธนาคาร OCBC ได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า Fincast ซึ่งทำงานโดยเมื่อใส่วัตถุประสงค์ของการออมของลูกค้าได้ถูกบันทึกลงในโปรแกรม เช่น ปริมาณเงินที่ลูกค้าต้องการมีให้ได้ในช่วงที่เกษียณ ซอฟต์แวร์จะทำการวิเคราะห์จากพอร์ตโฟลิโอของลูกค้าในปัจจุบัน และความชอบในการลงทุนประเภทต่างๆ จากนั้นโปรแกรมดังกล่าวก็จะแนะนำว่าลูกค้าควรจะลงทุนในตราสารต่างๆด้วยสัดส่วนเท่าไรดี ซึ่งซอฟต์แวร์นี้จะช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาพอร์ตโฟลิโอที่เหมาะสมของนักว่างแผนทางการเงิน โดยหน้าจอมีหน้าตาที่ใช้งานง่าย รวมถึงยังมีเวอร์ชั่นที่พกพาในรูปแบบของมือถืออีกด้วย
ทั้งนี้ ทาง OCBC มีแผนจะทดลองแพล็ตฟอร์มดังกล่าวกับสาขาชั้นนำ โดยเลือกลูกค้าระดับพรีเมี่ยม 100 ท่าน ที่มีความหลากหลายทั่วสิงคโปร์ ในช่วงเวลาทดลองระบบนี้เป็นเวลา 3 เดือน โดยลูกค้าจะสามารถใช้ทั้งระบบดิจิตัลและในรูปแบบที่คุยกับที่ปรึกษาทางการเงินของ OCBC โดยตรงอีกด้วย
เครื่องมือด้าน Wealth Management อีกตัวหนึ่งของ OCBC ได้แก่ BondIT โดยจะเน้นไปที่ตราสารหนี้เพื่อรองรับกับลูกค้าที่ไม่สนใจการลงทุนในหุ้น แพล็ตฟอร์มนี้สามารถแนะนำผู้ใช้บริการว่าควรจะลงทุนอย่างไรภายใต้การยอมรับความเสี่ยงของตนเอง ที่เป็นจุดเด่นคือความรวดเร็วของการให้บริการที่สามารถแนะนำลูกค้าได้ภายใน 90 วินาทีแทนที่จะต้องใช้เวลากว่า 2 วันเหมือนในอดีต โดยซอฟต์แวร์นี้ทำงานเสมือนเป็นนักวิเคราะห์ตราสารทางการเงินที่สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลลูกค้าสามารถให้คำแนะนำต่อลูกค้าในทันทีวาควรจะลงทุนอะไรดี ในขณะนี้ ทาง OCBC ได้ประยุกต์เครื่องมือดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ต้องการความฉับไหวในการบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ท้ายสุด OCBC ยังได้สร้างรูปแบบบริการสินเชื่อบ้านให้เป็นประสบการณ์แบบ Virtual Reality เสมือนว่ามี virtual customer service agent ทำงานให้ โดยโครงการนี้ OCBC ทำการเปิดเว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถใช้บริการขอสินเชื่อเสมือนว่าเดินเข้าไปที่สาขาธนาคาร แบบที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ดูแล้วแนวคิดคล้ายกับเกมโปเกมอนโก ที่ฮิตในบ้านเราเลยทีเดียว
หันมาดูฝั่งธนาคาร DBS ที่ได้ชื่อว่าเกาะติดกระแส Fintech กันมาตลอดบ้าง ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน ล่าสุดได้เซ็นสัญญากับเจ้าพ่อสื่อ Digital อย่าง Amazon ในการนำ Amazon Web Service (AWS) มาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Cloud โดย DBS จะทำการผสมผสานระหว่าง Cloud ของ Amazon กับเครือข่ายไอทีและศูนย์กลางข้อมูลของแบงก์ที่มีอยู่เดิม จะเห็นได้ว่า DBS เป็นแบงก์แรกๆที่ใช้ เทคโนโลยี Cloud ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมธนาคารในสิงคโปร์ ทำให้แบงก์สามารถสร้างและพัฒนาแอพพลิเคั่นใหม่ๆได้คล่องตัวและรวดเร็วกว่าแบงก์อื่น ทว่ายังมีความปลอดภัยของข้อมูลสูงสุด โดยบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Amazon Facebook Google และ Netflix สามารถไปได้เร็วกว่าบริษัทอื่นๆในการสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Cloud นั่นเอง
โดยดีลกับ AWS นี้ ทาง DBS ได้เริ่มมาสักพักใหญ่แล้ว โดยหวังจะให้สามารถผ่านเกณฑ์ระเบียบของแบงก์ชาติสิงคโปร์ที่กำลังจะออกในอนาคตอันใกล้ ในเรื่องความปลอดภัยของสถาปัตยกรรมCloud โดยธุรกิจที่ใช้ Cloud ของ DBS ได้แก่ ธุรกิจด้านบริหารเงินและตลาดเงิน โดยใช้เทคโนโลยีในการตั้งราคาและประเมินความเสี่ยงของตราสารทางการเงินด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ เห็นได้ชัดในช่วงการเทรดระหว่างเหตุการณ์ Brexit ทั้งนี้ DBS ตั้งใจจะให้งานกว่าครึ่งของแบงก์ทำงานและประมวลผลบน Cloud เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของลูกค้า ซึ่งดูแล้วทาง DBS ต้องการให้ตนเองมีความเป็น fin-tech ทั้งในแง่ของการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร
ด้าน UOB ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ได้เริ่มต้นโครงการผ่าน FinLab ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ Infocomm Development Authority of Singapore ด้วยการให้เงินทุนสนับสนุน Start-up แนว FinTech เริ่มต้น 30 แห่ง เจ้าละ 3 หมื่นเหรียญเพื่อเป็นเงินเริ่มต้น แลกกับการเป็นเจ้าของร้อยละ 6 ของส่วนผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ Start-up แต่ละแห่ง ยังได้ความช่วยเหลือด้านซอฟต์แวร์มูลค่า 4 แสนเหรียญสิงคโปร์ และค่า Office Space อีกแห่งละ 7 พันเหรียญสิงคโปร์ คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า จะมี Start-up เข้ามาร่วมกับโครงการนี้ถึงพันแห่งกันเลยทีเดียว ที่สำคัญ ทาง UOB ยังสนับสนุนให้พนักงานของตนเองตั้งทีม Start-up โดยยอมให้ลาพักแบบชั่วคราวในการไปจัดตั้งบริษัทของตนเองอีกต่างหาก
ต้องบอกว่า ดูแล้วสิงคโปร์มีความตื่นตัวทาง Fintech มากแบบที่ไม่แพ้ชาติอื่นใดในโลกครับ