“แวบหนึ่ง” ของอุบัติเหต
การได้เห็นคลิปอุบัติเหตจำนวนมากและถี่ขึ้นตามสื่อต่างๆ ทำให้ผมสงสัยว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วอุบัติเหตนั้นเพิ่ม
มากขึ้นมาก หรือว่าเป็นความนิยมกล้องติดรถยนต์/และกล้อง cctv เพิ่มมากขึ้นจึงทำให้การส่งรูปอุบัติเหตเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น ผมถามคำถามนี้กับเพื่อนอาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่ง คำตอบก็มักจะบอกว่าเป็นเพราะการมีกล้องและการส่งคลิปอุบัติเหตได้ง่ายขึ้น
แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกจะพบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตนั้นเพิ่มมากขึ้นจริงๆ สถิติช่วงสั้นๆจากปี พ.ศ.2554/2555 ถึง พ.ศ.2557/2558 พบว่าอุบัติเหตที่เจ้งนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 10% (จาก 60,639 เป็น 67,853) ที่น่าสนใจ ได้แก่ รถมอเตอร์ไซคเพิ่มขึ้น 25% รถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิ๊กอัพเพิ่มขึ้น 28% ซึ่งน่าจะหมายความได้ว่ารถสามประเภทนี้ชนระหว่างกันมากที่สุด
ผมเดาเอาว่าหากดูสถิติย้อนหลังไปให้ไกลมากขึ้น จำนวนร้อยละของอุบัติเหตก็น่าจะสูงมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า คำตอบง่ายๆแบบหนึ่ง ก็คงจะเป็นการบอกว่าก็รถมันมากขึ้น ก็เลยเกิดอุบัติเหตมากขึ้นซึ่งคำตอบแบบนี้แม้ว่าจะสมเหตุสมผลอยู่ แต่การตอบแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นและก็คงมองหาทางแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้
ผมอยากจะลองอธิบายสามประการ
ประการแรก ได้แก่ การเคลื่อนไหว/เคลื่อนย้ายมีมากขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ผู้คนเปลี่ยนอาชีพตนเองจากการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่มาสู่การเคลื่อนย้ายเช้า/เย็นหรือทั้งวันมีมากขึ้น ลองนึกถึงการเดินทางออกไปนอกที่ทำงานเพื่อหาข้าวกลางวันกิน หรือในเมืองใหญ่ๆ การออกไปกินข้าวนอกบ้านในตอนเย็นกลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดากันแล้ว ประกอบกับชีวิตการทำงานที่มีเวลาประจำปีตายตัว มีวันหยุดตรงกันเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายขนาดใหญ่ขึ้น
การเหลื่อมเวลาการทำงาน/ เหลื่อมเวลาวันหยุด/การรณรงค์ให้ใช้ชีวิตที่เดินทางเคลื่อนย้ายน้อยลงหรือเคลื่อนย้ายในจังหวะที่การจราจรไม่คับคั่งนักก็น่าจะทำให้โอกาสการเกิดอุบัติเหตลดลง
ประการที่สอง ได้แก่ การสร้างการขนส่งมวลชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาสถิติในรายละเอียดกันให้ชัดเจนว่าพื้นที่จังหวัดใดที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด และรัฐจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ลงทุนในต่างจังหวัด ไม่ใช่ลงทุนเฉพาะเมืองหลวง อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ พูดกันมานานจนปากเปียกปากแฉะแล้วครับ แต่ไม่เห็นมีใครขยับทำอะไรนอกกรุงเทพฯ
การสร้างการคมนาคมทางเลือกอื่นๆที่นอกเหนือจากรถที่ใช้น้ำมันจำเป็นต้องคิดกันให้ชัดเจน จักรยานที่นิยมมากขึ้นก็ไม่ใช่การใช้ในชีวิตประจำวัน สังคมไทยจะสร้างการเดินทางทางเลือกในชีวิตประจำวันได้ ก็ต่อเมื่อต้อง “รังแก” คนใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์มากขึ้น ( แหะ ๆ ผมโดนด้วย )
ประการที่สาม ซึ่งผมคิดว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงสิบปีหลังนี้ ได้แก่ ความรู้สึกเป็นส่วนตัวในห้องโดยสาร การพัฒนายานยนต์ที่ดีมากขึ้นได้ทำให้การใช้ชีวิตในพื้นที่ห้องโดยสารไม่ได้สัมพันธ์หรือรับรู้กับสภาวะการณ์รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันเสียงที่มาจากข้างนอกที่ทำให้ “ข้างใน” เงียบสนิทหรือการพัฒนาระบบเครื่องเสียงที่เสนาะโสตมากขึ้นมาก รวมไปถึงการพัฒนา “ลูกเล่น” ในการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆในห้องโดยสาร ที่สำคัญ ชีวิตส่วนตัวในห้องโดยสารก็จะต้องใช้เทคโนโลยี่การสื่อสารที่สามารถใช้ได้ในทุกเวลาที่ต้องการ
ความรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวในห้องโดยสารขณะบังคับรถ ะทำให้ความระมัดระวังและความใส่ใจในภาพที่เห็นข้างหน้า/ข้างข้าง/หรือข้างหลังลดลง กล่าวได้ว่า “แวบเดียว” ของการหันเหความใส่ใจจากท้องถนนไปสู่ชีวิตส่วนตัวในห้องผู้โดยสารสามารถจะนำไปสู่อุบัติเหตได้โดยง่ายและทันที
ท่านผู้อ่านลองดูคลิปอุบัติเหตหรืออ่านการรายงานข่าวกันนะครับ จะพบเห็นได้ชัดเจนว่าการเกิดการชนกันนั้นจำนวนมากที่ไม่ได้แสดงให้เห็นการเบรครถหรือไม่ได้มีร่องรอยของการเบรครถเลย เจ้าหน้าที่มักจะอธิบายว่า “ หลับใน” แต่สำหรับผมคิดว่าเป็นเพราะการหันเหจากท้องถนนไป “ แวบหนึ่ง” เพื่อทำกิจส่วนตัวในห้องโดยสารนี่แหละครับเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่เกิดการเบรคหรือเบรคไม่ทัน
ผมคิดว่าการหันเหความใส่ใจออกจากถนนเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อปัญหา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างย่ิงที่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจว่าการเดินทางของเราไม่ใช่เพียงแค่การเดินทางของเรา หากแต่เป็นระบบการเดินทางของผู้อื่นร่วมกัน การเอาใจใส่ในทุกเวลาของการเดินทางจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิดและตระหนักเสมอ/ตลอดเวลา
สังคมไทยต้องรณรงค์ทำความเข้าใจการใช้ชีวิตกับการเดินทางให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ลงโทษหรือประนามคนกินเหล้าเท่านั้น คนพวกที่ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างไร้สติควรจะต้องถูกกดดันให้หนักมากขึ้น
อนึ่ง เรื่องที่ผมเขียนไว้หลายครั้งแล้ว ได้แก่ คนไทยส่วนใหญ่ขับรถไม่เป็น เพราะจะเข้าใจเพียงแค่ว่าขับรถเป็นคือการบังคับรถให้ไปถึงที่หมายได้ โดยที่ไม่เคยพยายามเข้าใจว่าในระบบการจราจรนั้น เราต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรถของเรากับการจราจรทั้งหมด การเปิดไฟเลี้ยวก็เพื่อให้รถรอบข้างรับรู้ว่าเรากำลังจะไปทางไหนจะได้ตัดสินใจได้ถูก แต่คนไทยส่วนใหญ่ในวันนี้ไม่รู้จัก/ไม่ชอบเปิดไฟเลี้ยว ( ในเมืองที่ผมเกิดและมีชีวิตอยู่ ได้แก่ เชียงใหม่ ก็พบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา คนไม่เปิดไฟเลี้ยวมีเพิ่มมากขึ้น ระวังหน่อยนะครับ หากใครคิดจะขับรถมาเที่ยวเชียงใหม่ )
ขอให้ขับรถกันด้วยการเอาใจใส่ในการขับขี่นะครับ