Top-down SPACE: วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอย่างไ
ในทุกๆไตรมาส ทุกๆ 6 เดือน หรือ ทุกๆปี ก็มักจะมีสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ ออกมาประเมิณสถานการณ์เศรษฐกิจ และใส่ตัวเลขประมาณการบอกมุมมองออกมา
เป็นวัตถุดิบให้เราเอามาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนกันต่อ
แล้วบทวิเคราะห์จากใครที่เราควรไปนั่งดู?
ถ้าอยากได้มุมมองที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ผมก็แนะนำให้อ่านรายงานจาก IMF และ World Bank นะครับ ความแม่นยำเป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่การอ่านบทวิเคราะห์เศรษฐกิจนี้ จะทำให้เราเห็นว่า ปัจจัยใดที่นักเศรษฐศาสตร์เขามองว่าสำคัญ และมีอิทธิมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ตรงนี้ละครับ ที่จะทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์และกำหนดธีมการลงทุนในลำดับถัดไป
และล่าสุดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้ง IMF และ World Bank ก็ได้ออกประมาณการเศรษฐกิจโลก และเจาะในรายประเทศสรุปมาให้อ่านกัน ซึ่งผมขอสรุปใจความสำคัญตามนี้ครับ
ในรายงาน World Economic Outlook World เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา IMF มองว่า เศรษฐกิจโลกโตที่ระดับ 3.1% ในปีนี้ และ 3.4% ปีหน้า ทั้งนี้ รายงานฉบับเดือน ต.ค. จะเห็นว่า โดยรวมแล้วการประมาณการไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากรายงานที่ออกมาเมื่อตอนเดือน ก.ค.
แต่หากมองลงไปในรายละเอียด จะเห็นว่า IMF ปรับลด GDP Growth ของ สหรัฐลง 0.6% เหลือเพียง 1.6% ในปี 2559 และลดลง 0.3% เหลือ 2.2% ในปี 2560 โดยมองว่า ค่าเงินดอลล่าร์มีโอกาสแข็งค่า จะกระทบการส่งออก และ ความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายการเงินและการคลัง หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย มีค่อนข้างสูง ตรงนี้ แสดงว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะมีน้ำหนักในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของเราเช่นกันนะครับ
แต่ไม่ใช่ว่าจะแย่ทั้งหมดนะครับ ประเทศที่ IMF ปรับประมาณการดีขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น และ อินเดีย โดยญี่ปุ่น IMF มองว่า GDP Growth จะขยายตัวได้ 0.5% ในปี 2016 (เพิ่มขึ้น 0.2%) และ 0.6% ในปี 2017 (เพิ่มขึ้น 0.5%) ฝั่งประเทศอินเดีย IMFก็ได้คาดการณ์ว่า จะมีการขยายตัว 7.6% ในปีนี้และปี 2017 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเพิ่มขึ้น +0.2% จากคาดการณ์เดิมในเดือนก.ค. ซึ่งแปลว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่มี GDP Growth โตมากสุดในกลุ่ม G20 ทีเดียว ตรงนี้แสดงว่า การลงทุนในอินเดีย อาจจะน่าสนใจ ในเชิงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง
สำหรับไทยเรา (IMF ทำการวิเคราะห์ผ่านกลุ่ม ASEAN-5 คือ Indonesia, Malaysia, Philippines, Thailand, Vietnam) เขาคาดการณ์ว่า GDP Growth ปีนี้จะอยู่ที่ 3.2% ปีนี้ และ 3.3% ปีหน้า ซึ่งสูงกว่าประมาณการรอบก่อนที่ IMF ประเมินว่า ต่ำกว่าระดับ 3% สำหรับฝั่ง World Bank รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ฉบับล่าสุด ได้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asia) ในปีนี้ GDP Growth จะเติบโตที่ 5.8% และ 5.7% ในปี 2016-2017 โดยคาดว่าจีนจะสามารถมี GDP Growth ขยายตัวได้ที่ระดับ 6.7% ปีนี้ และ ลดลงเหลือ 6.5% ปีหน้า ทั้งนี้ในภาพรวม World Bank มองว่า ปัจจัยลบกระทบเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ก็คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักอย่างยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้การส่งออกหดตัวลง แต่ก็ชดเชยด้วยการบริโภคในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง ทำห้โดยรวมแล้ว อัตราการเติบโตจะไม่ลดลงต่ำไปกว่าปีก่อนหน้า
สำหรับประเทศไทย ทาง World Bank มีการปรับ GDP Growth ปีนี้เพิ่มเป็น 3.1% ดีขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ต้นปีว่าจะอยู่ที่ 2.5% ด้วยเหตุผลหลักมาจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก เรายังสามรถเติบโตค่อนข้างดีจากภาคการท่องเที่ยวและมาตรการการคลังที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
ตรงนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญเหมือนกันนะครับ เพราะเราไม่ได้เห็นการปรับประมาณการเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาเลย ซึ่งตรงนี้ น่าจะทำให้เหล่านักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นำตัวแปรเศรษฐกิจไปใส่ในแบบจำลองและปรับมุมมองต่อกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้ World Bank มีการให้ความเห็นว่า เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เห็นควรมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมาให้ได้ ถึงตรงนี้ น่าจะพอมองออกนะรับ ว่าเครื่องยนต์ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยตัวต่อไปจะเป็นอะไร และอุตสาหกรรมใดจะได้ประโยชน์
จะเห็นว่ารายงานแค่ 2 ฉบับ ก็ให้มุมมองภาพกว้างเราได้ชัดขึ้นถ้าเราตีความเป็นนะครับ