ปฏิรูปภาคเกษตร นโยบายดีแต่ทำยาก
คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติออกมาตรการ
จำนำยุ้งฉาง สำหรับข้าวหอมมะลิที่กำลังจะออกสู่ท้องตลาด เนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิถือว่าต่ำลงอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ระดับราคาต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท โดยรัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนเดือยหมื่นล้านบาท เพื่อชะลอการขายข้าวออกสู่ตลาดในช่วงนี้ และถือเป็นมาตรการระยะสั้นที่ออกมา โดยหวังว่าราคาข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวเกรดดีของไทยจะขยับขึ้นในช่วงต่อไปตามกลไกตลาด
มาตรการของนบข.ในครั้งนี้อาจมองว่าไม่เพียงพอ ในการช่วยเหลือเพื่อพยุงราคา แต่เป็นเพียงมาตรการลดผลกระทบเท่านั้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าราคาข้าวถูกกำหนดจากตลาดโลกเป็นสำคัญ และหากติดตามการผลิตข้าวของโลกในปีนี้พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้สต็อกข้าวโลกขยับขึ้นด้วย ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับแรงกดดันจากตลาดโลกแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องยากมากที่รัฐบาลจะหามาตรการหรือการพยุงราคามาสู้กับตลาดได้
ตลาดข้าวโลกมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนสินค้าประเภทอื่น และหากเปรียบเทียบแล้วประเทศไทย แม้จะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งในช่วงที่ราคาข้าวขยับขึ้นสูง บรรดาผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินเดียและปากีสถานเร่งเพาะปลูกขึ้นมา ก็ทำให้ปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมหาศาล ดังนั้น ความฝันที่รัฐบาลไทยในอดีตเคยวาดไว้ว่า จะเป็นผู้ผูกขาดส่งออกข้าวด้วยโครงการรับจำนำนั้น ก็เพราะประเมินลักษณะของตลาดข้าวผิดพลาด จนนำไปสู่ความเสียหายมหาศาล
แน่นอนว่าความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อภาคเกษตรนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ปัญหาสำคัญคือความช่วยเหลือแค่ไหนจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตมีมาตรการหลากหลายขึ้นกับนโยบายของแต่ละรัฐบาล เพียงแต่มาตรการอุดหนุนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาคือโครงการรับจำนำข้าวของรับบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นนโยบายอุดหนุนข้าวที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะประกาศราคารับจำนำสูงถึงตันละ 15,000 บาท
บทเรียนจากนโยบายในอดีต ชี้ให้เห็นว่าเราไม่อาจต้านทานพลังของตลาดโลกได้ เพราะเรื่องดีมานด์-ซัพพลาย เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของไทย ดังนั้นจึงมีความพยายามลดภาระการอุดหนุนข้าวของรัฐบาลปัจจุบัน โดยการดำเนินนโยบายปฏิรูปภาคเกษตร ด้วยการสนับสนุนให้เปลี่ยนประเภทการเพาะปลูกและลดต้นทุนเกษตรกร แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี แสดงให้เห็นว่ายังไม่เพียงพอที่ทำให้เห็นว่าเกิดการปฏิรูปการเพาะปลูกข้าวได้จริงตามนโยบายรัฐบาล
จากกรณีของข้าวหอมมะลิที่เกิดขึ้นย่อมเป็นบทเรียนสำคัญอีกครั้ง สำหรับนโยบายรัฐบาลที่พยายามแก้ปัญหา ภาคเกษตรของไทยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการจัดการ ที่สำคัญเกษตรกรไทยได้รับการอุดหนุนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งปัญหาสำคัญคือจะทำอย่างไรไม่ให้มีการอุดหนุนเกิดขึ้น และกรณีนี้ก็ยังชี้ให้เห็นว่าถึงอย่างไรเสียรัฐบาลยังต้องช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องราคาอยู่นั่นเอง เพียงแต่ระดับความช่วยเหลือแตกต่างกันไปขึ้นกับเงื่อนไขในแต่ละรัฐบาล
เราเห็นว่าการอุดหนุนภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทย เนื่องจากเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมที่สุด และเรียกร้องมากที่สุดคือระดับราคา ที่เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้จริงในตลาด เราเชื่อว่าหากนโยบายของรัฐบาล ในการปฏิรูปภาคเกษตรยังไม่เห็นผลตามที่คาดหวังไว้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรเดิมได้ นั่นคือ รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณไว้อุดหนุนราคาที่เราไม่อาจควบคุมได้ และเป็นระดับราคาที่อ่อนไหวมากกว่าคาดคิดในโลกปัจจุบัน ที่มีผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น