‘ดิจิทัล’ขจัดพ่อค้าคนกลาง ดีจริงหรือไม่
สัปดาห์ที่ผ่านมา หอการค้าได้จัดสัมมนาทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 โดยกำหนดหัวข้อ “นวัตกรรม ทำจริง สู่ประเทศไทย 4.0” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นครั้งแรกที่หอการค้า ได้ยกบริบทของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล มาเป็นธีมหลักของงาน
คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวถึง ช่องทางดิจิทัล ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถซื้อขายโดยตรง ซึ่งช่วยลดต้นทุน ลดเวลาและขั้นตอน ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นช่องทางในยุคก่อนดิจิทัล จะลดความสำคัญ และในอนาคต จะต้องปิดตัวหายไปจำนวนมาก และได้ยกตัวอย่างของ ห้างในสหรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะปิดตัวลง 1 ใน 6 ในอีก 10 ปีข้างหน้าและจะมีคนเดินห้างลดลงเหลือเพียง 50% ของในปัจจุบัน
สำหรับผู้เขียนเอง มิใช่เรื่องที่ไกลตัว หรือเรื่องที่จะต้องรอคอยอนาคต เพราะห้างสรรพสินค้าที่ผู้เขียนคุ้นเคยและเคยเป็นศูนย์กลางความบันเทิง ในขณะที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ที่อเมริกาเมื่อสิบกว่าปีก่อน พอถึงปัจจุบันได้ปิดกิจการลงไปกว่าครั้งหนึ่งแล้ว
ธีมของหอการค้า จึงเป็นทั้งเรื่องราวของโอกาส ของผู้ที่ไหวตัวทัน สามารถสร้างโอกาสจากความเปลี่ยนแปลง และความล้มเหลว ของผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
ในปัจจุบัน 70% ของประชากรไทย ใช้สมาร์ทโฟน และ 53% ของประชากร ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน ตลาดอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท และมีการขยายตัวกว่า 10% อยู่ทุกปี
มุมมองหนึ่ง ที่ผู้เขียนอยากจะเสริมเป็นข้อคิด ซึ่งต่อยอดจากธีมของหอการค้าและเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ยิ่งกว่า การเสื่อมถอยของธุรกิจค้าปลีก ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ที่ว่าช่องทางดิจิทัล ช่วยลดต้นทุน และทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถซื้อขายโดยตรง ในแง่มุมหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการขจัดพ่อค้าคนกลาง
แต่ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมว่า พ่อค้าคนกลาง ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก แท้ที่จริงแล้ว อาจเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และ GDP ของไทย
ขณะที่ช่องทางดิจิทัล ที่สามารถข้ามขั้นตอนนี้ กลับเป็นการขจัดส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ
เคยสังเกตไหมว่า สินค้าเกือบทั้งหมด ที่มีการซื้อขาย บนช่องทางดิจิทัลที่เป็นที่นิยมของประเทศ ล้วนเป็นแบรนด์ของต่างประเทศ
การซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ จึงเป็นการส่งเงินโดยตรงออกไปจากประเทศ โดยเหลือสัดส่วนเพียงน้อยนิด ที่เป็นมาร์จินของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ
ในยุคก่อนดิจิทัล จะเป็นมาร์จินของผู้ประกอบการค้าปลีก และพ่อค้าคนกลางอื่นๆ ซึ่งจะมีการจ้างงานและมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย
นวัตกรรมดิจิทัลของประเทศไทย จึงเป็นพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์แบบ มีแต่การปรับปรุงช่องทาง แต่มิได้มีการปรับปรุงสินค้าและบริการ
ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกลับไม่สามารถสร้างความต้องการให้กับสินค้าของตน ดิจิทัล จึงเป็นการเร่งเร้าให้เงินทุนรั่วไหลจากประเทศ
ในประเทศอื่นๆ กลับมีผู้ผลิตสินค้า ในระดับสตาร์ทอัพ ที่สามารถใช้ช่องทางดิจิทัล เช่น คราวด์ฟันดิงในการระดมทุน เพื่อผลิตสินค้าที่มีความต้องการ และยังใช้ช่องทางดิจิทัลในการขายสินค้า จนขึ้นมาเป็นธุรกิจที่มีตลาดใหญ่ในระดับโลกโดยใช้เวลาไม่กี่ปี
ตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จ คือ บริษัท Peak Design ผู้ผลิตอุปกรณ์กล้องถ่ายรูป เช่นสายสะพายและกระเป๋า ได้เริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ ด้วยการนำเสนอดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อระดมทุนด้วยคราวด์ฟันดิงผ่าน Kick Starter และปฏิเสธการลงทุนจาก Venture Capitalist จนสามารถผลิตสินค้าที่มีความนิยมในระดับโลก และมียอดขายอันดับหนึ่งโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี
ปัญหาของประเทศไทย คือธุรกิจเป็นจำนวนมาก ยังคงอยู่ในบริบทของ “ซื้อมาขายไป” หรือ พ่อค้าคนกลางซึ่งธุรกิจของไทย มักมิได้มีค่านิยมของการผลิตสินค้าเอง เพื่อที่จะบุกตลาดเมนสตรีมที่มิใช่นิช
หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนค่านิยมนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล มิเพียงแต่ธุรกิจค้าปลีก ที่จะเสื่อมถอยลง แต่ธุรกิจเป็นจำนวนมาก ที่เป็นลักษณะของพ่อค้าคนกลาง ก็จะถูกขจัดออกไปด้วย
และด้วยบริบทของปัจจุบัน หมายความว่า เงินทุนก็จะรั่วไหลออกจากประเทศไป