วิถีสวีเดน ลดคาร์บอน พร้อมเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร?

วิถีสวีเดน ลดคาร์บอน พร้อมเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร?

เป็นไปได้ไหมที่ประเทศจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ คำตอบคือ เป็นไปได้ยาก เพราะการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องพึ่งพาพลังงาน และหากพลังงานมาจากแหล่งฟอสซิลก็เป็นไปได้ยากที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 

มีประเทศหนึ่งที่ทำได้ดี และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก นั่นคือ ประเทศสวีเดน ซึ่งนอกจากประเทศนี้จะทำให้นึกถึงรัฐสวัสดิการ เฟอร์นิเจอร์อีเกีย และวงดนตรี Abba แล้ว

สวีเดนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในยุโรปในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมกับยังคงสามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1990 สวีเดนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปอยู่แล้วถึง 5 เท่า และตั้งแต่นั้นมาก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงไปอีกถึง 80% ในขณะที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นเป็น 2 เท่า 

สวีเดนทำได้อย่างไร? สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศนี้เกิดจากการมีทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย โดยมีพื้นที่ป่าครอบคลุมถึง 70% ของพื้นที่ประเทศ ทำให้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีแหล่งพลังงานน้ำจากทะเลสาบ และแหล่งพลังงานลม ซึ่งใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ และพลังงานลมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์นี้ทำให้สวีเดนเริ่มลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ต้น โดยปัจจุบันกว่า 70% ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำให้สวีเดนขจัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตไฟฟ้าออกไปเกือบหมด

นอกจากการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว สวีเดนยังเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่นำระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) มาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ซึ่งช่วยให้ธุรกิจ และประชาชนปรับตัว และหันมาใช้พลังงานสะอาดมาได้ตั้งแต่ 30 กว่าปีมาแล้ว

รายได้จากภาษีคาร์บอนยังนำกลับไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ

เช่น ระบบทำความร้อนส่วนกลางที่สามารถลดการปล่อยก๊าซจากการผลิตความร้อนได้มากขึ้น โดยเชื่อมต่อบ้าน และพื้นที่อุตสาหกรรมผ่านท่อที่มีฉนวนกันความร้อน และใช้เชื้อเพลิงชีวมวลหรือขยะเป็นแหล่งพลังงานหลัก

ในขณะเดียวกัน สวีเดนได้พัฒนาสมาร์ทซิตี้ และระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ในการใช้ถนน และการลดภาษีสำหรับผู้ที่ใช้ยานพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

สวีเดนยังได้ดำเนินมาตรการเพื่อให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคอุตสาหกรรมและขนส่งลดลง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Impact Decoupling)

โดยสวีเดนสามารถรักษาราคาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ และคงความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมได้

สวีเดนยังวางเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี 2045 โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองหลักในประเทศเกือบทั้งหมด รวมถึงความร่วมมือจากประชาชน และภาคเอกชน

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ และการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของประชาชน ทำให้สวีเดนสามารถพัฒนาระบบที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง

โดยรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสีเขียว เช่น การผลิตเหล็กด้วยไฮโดรเจนสีเขียวแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ แม้ว่าสวีเดนจะประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลายด้าน แต่ปัจจุบันก็ยังคงเผชิญความท้าทายอยู่ในภาคการขนส่ง

โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลลดภาษีน้ำมัน และดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่ถึงแม้มาตรการนี้จะขัดต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แต่รัฐบาลยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงชั่วคราว

สวีเดนจึงเป็นแบบอย่างของประเทศหนึ่งที่ก้าวหน้ามาก สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากการวางนโยบายที่ครอบคลุมทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียน การเก็บภาษีคาร์บอน การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ระบบขนส่งที่ยั่งยืน และนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียว 

ประเทศไทยสามารถนำแนวทางของสวีเดนมาปรับใช้เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน ทั้งการรักษา และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล

พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดในระดับประเทศ การใช้มาตรการทางการเงิน เช่น ภาษีคาร์บอน จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชน และภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรายได้จากภาษีนี้ควรนำไปลงทุนในโครงการสีเขียวเพิ่มเติม

ในด้านการขนส่ง ควรสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืน และการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า ผ่านการให้สิทธิพิเศษทางภาษี และการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

สร้างความตระหนักในสังคม และการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะช่วยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และทำให้การเมืองที่ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการตั้งเป้าหมายในระยะยาวในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วขึ้น จะทำให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับความท้าทาย และได้โอกาสในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต.

วิถีสวีเดน ลดคาร์บอน พร้อมเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไร?

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์