EEC : หัวรถจักรการลงทุนใหม่แห่งทศวรรษ
หากจะกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงปัจจุบัน คงจะเรียกได้ว่าฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
โดยขยายตัวในระดับ 3% ติดต่อกันหลายปี สาเหตุหนึ่งมาจากเครื่องยนต์สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า “การลงทุนภาคเอกชน” นั้น อยู่ในระดับซบเซามาเป็นเวลานาน ภาครัฐจึงต้องหาทางกระตุ้นให้การลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้น ผ่าน “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EEC (Eastern Economic Corridor Development) ซึ่งเป็นเสมือนภาคต่อของ Eastern Seaboard ที่เคยดึงดูดการลงทุนและยกระดับรายได้ของประเทศได้อย่างมหาศาลเมื่อ 30 ปีก่อน บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ EEC ซึ่งกำลังเป็นประเด็นยอดนิยมในปัจจุบัน พร้อมกับวิเคราะห์ศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุน และนำเสนอนัยทางนโยบายที่สำคัญ ที่ต้องมีควบคู่กับการพัฒนา EEC ในระยะต่อไป
EEC คืออะไร?
โครงการ EEC เป็นการยกระดับพื้นที่ 3 จังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเป็นพื้นที่ที่รัฐต้องการให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย ผ่านการผ่อนคลายกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนในพื้นที่ปกติ โดยในพื้นที่ EEC นี้ นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งภาครัฐจะมีการจัดสรรทรัพยากรลงในพื้นที่นี้เป็นกรณีพิเศษ อาทิ การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดของพื้นที่ในสายตาของนักลงทุน และเป็นการเพิ่ม Ease of Doing Business แก่ผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด (รูปที่ 1)
ทำไมต้องเป็น EEC?
เป้าหมายหลักที่ภาครัฐต้องการผลักดัน EEC ให้สามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็ว อาจสรุปได้ 3 ข้อ ดังนี้
(1) กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน: การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ แม้จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ และภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังขาดแรงขับเคลื่อนด้านการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะยกศักยภาพเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน EEC จึงเป็นความหวังที่จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนที่ทวีคูณต่อยอดจากการลงทุนนำร่องของภาครัฐ
(2) ยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทย: เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ไทยจึงต้องเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น โดยต้องลงทุนในเครื่องจักรและ R&D มากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะต่อไป
(3) สร้างสิ่งดึงดูดการลงทุนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง: การเปิด AEC ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนมีลักษณะเป็นตลาดเดียวกัน มีฐานการผลิตเดียวกัน การเคลื่อนย้ายแรงงาน โรงงาน หรือฐานการผลิตสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ไทยจึงต้องพัฒนาความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อยู่เสมอ
จะเห็นได้ว่า EEC มีหน้าที่เป็นเครื่องดึงดูดและสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจาก 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (5 First S-Curves และ 5 New S-Curves) อาทิ ธุรกิจยานยนต์สมัยใหม่ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ธุรกิจขนส่งและการบิน และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งล้วนมีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ต่อระบบเศรษฐกิจสูงสอดคล้องกับเป้าหมายหลักที่ภาครัฐต้องการให้ประเทศก้าวเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” หรือเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575 ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังตั้งใจจะพัฒนา “เมืองใหม่” ไปพร้อมกับพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่จะเป็นจุดหลักของการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการอยู่อาศัยที่จะขยายตัวจากกรุงเทพฯ ระยอง และชลบุรี ผ่านการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ EEC สามารถเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทันสมัยและมีข้อดีรอบด้าน
วิเคราะห์ศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนของ EEC
จากการศึกษากรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จสูง อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นของจีน และเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ของมาเลเซีย พบว่าปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จของโมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ (1) ความเหมาะสมของพื้นที่ โดยทำเลตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี เช่น ติดทะเล หรืออยู่ใกล้กับเมืองเศรษฐกิจสำคัญ และมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ รองรับการขนส่งมวลชนและการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคตได้ และ (2) การบริหารจัดการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ โดยนโยบายของรัฐมีความต่อเนื่อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีสิทธิประโยชน์ที่ตรงความต้องการของธุรกิจ
ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้ง EEC เป็นไปตามสูตรสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านความเหมาะสมของพื้นที่ที่ EEC มีความได้เปรียบคู่แข่งจากทำเลที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีการเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายคมนาคมขนส่งครบวงจร ทั้งทางถนน ราง น้ำ และอากาศ ซึ่งจะส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจมีความต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น EEC ยังมีฐานการผลิตตั้งต้นขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมจากโครงการ Eastern Seaboard ในอดีต ซึ่งเอื้อประโยชน์ในการลงทุนต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ในห่วงโซ่การผลิต อาทิ ฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย และศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ชั้นนำในภูมิภาค
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการผลักดันโครงการอย่างชัดเจน สะท้อนจากการเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าได้เร็วและราบรื่นที่สุด โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการดูแลถึงสองชุดเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงรอกฎหมาย (พ.ร.บ. EEC) ที่คาดว่าจะผ่านสภานิติบัญญัติได้ไม่เกินกลางปี 2560 รวมถึงการเข้าเจรจาและจัดสัมมนาเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ต้องทำควบคู่ เพื่อให้ EEC เป็นความหวังใหม่ได้อย่างสมบูรณ์
EEC เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการกระตุ้นการลงทุนที่ดีที่สุดของไทยในขณะนี้ จากปัจจัยในการดึงดูดนักลงทุนที่เพียบพร้อมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลให้การลงทุนขยายตัวตามที่คาดหวังได้ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังถือเป็น Zero-Sum Game (เกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์) กล่าวคือ เราจำเป็นต้องเหนือกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อแย่งส่วนแบ่งการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในระยะยาว ข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในแง่ความพร้อมและคุณภาพ และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ประเทศอื่นสามารถไล่ตามหรือแข่งขันได้ไม่ยาก ดังนั้น การที่ EEC จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริงได้นั้น เราต้องแก้ไขอุปสรรคที่ฉุดรั้งการลงทุน ได้แก่ (1) ภาครัฐต้องทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์สามารถทำได้รวดเร็วและสำเร็จเป็นรูปธรรมตามแผน รวมทั้งนโยบายต่างๆ ต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และ (2) ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้านแรงงานที่มีทั้งเชิงปริมาณ จากการที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และเชิงคุณภาพ ดูจากคะแนนทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ (EF) และความรู้วิทยาศาสตร์/การอ่าน/คณิตศาสตร์ (PISA) ที่ไทยอยู่ในระดับไม่ดีนัก
กล่าวโดยสรุป หากภาครัฐสามารถเรียกความมั่นใจในการลงทุนของภาคเอกชน ผ่านความชัดเจนและต่อเนื่องของนโยบาย และการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านแรงงานที่เป็นรูปธรรมผ่านการสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เชื่อมั่นได้ว่าแรงงานไทยก็จะพัฒนาและเติบโตขึ้นไป พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ EEC ให้เป็นหัวรถจักรการลงทุนใหม่แห่งทศวรรษได้อย่างที่หวังไว้แน่นอน