FinTech คืออะไร
FinTech คืออะไร
ฟินเทค กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงกับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเงินโลก บทความชุด “ฟินเทคเปลี่ยนโลก” ชุดนี้จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จัก Mega Trend ในเรื่องนี้กันครับ ซึ่งเริ่มต้นในตอนแรกเราไปรู้จักกันก่อนเลยครับว่าเจ้าฟินเทคนี่มันคืออะไรกันแน่
Fintech คือการผสมระหว่างคำว่า Finance กับคำว่า Technology หรือการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน โดยมากกว่าการประยุกต์แล้วในหลายครั้งยังเป็นการ Disrupt ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากแบบเดิมไปสู่สิ่งใหม่อีกด้วย คล้ายๆ กับวันที่ Apple ผลิต iPhone ออกมาและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคจากการใช้มือถือแบบมีปุ่มกดเป็นมือถือระบบสัมผัสอย่างนั้นน่ะครับ ส่วน Startup นั้นหมายถึงการเกิดขึ้นของธุรกิจซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผู้บริโภคที่สามารถทำการขยายได้ในวงกว้าง
สำหรับ Fintech ในเมืองไทย ตื่นตัวกันมาซักพัก มาปีนี้เรียกว่าคึกคักกันเป็นอย่างมากครับ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวมาก ๆ เช่น การใช้โปรแกรม Streaming ในการซื้อขายหุ้นที่เริ่มมีความนิยมในการใช้เทรดหุ้น แทนการซื้อขายในห้องค้ามากขึ้น บริษัทอย่าง StockRadar ที่ทำโปรแกรมทางมือถือสำหรับเป็นเครื่องมือช่วยในการซื้อขายหุ้น ระบบ Payment API อย่าง Omise รวมไปถึงระบบ Crowd Funding ซึ่งเป็นวิธีการระดมทุนผ่านระบบ Online ซึ่งล่าสุดทางสำนักงาน กลต.ก็ได้ออกกฎหมายมารองรับแล้ว
ผมเคยได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ Jamie Dimon ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ JPMorgan ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ท่านพูดเลยว่าคู่แข่งสำคัญของ JPMorgan ที่สำคัญจากนี้ไปไม่ใช่ธนาคารใหญ่ๆ ในอเมริกาอีกต่อไปแล้วแต่เป็นเหล่าบริษัท Fintech Startup ที่กำลังบ่มเพาะกันอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะในแถบ Silicon Valley ในสหรัฐ
ผมมองว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นแน่ครับ อยู่ที่ว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ระบบการชำระเงินด้วยเครดิต จากเดิมที่ยักษ์ใหญ่ในโลกคือ VISA แต่เดี๋ยวนี้ มีระบบการชำระเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่าง Blockchain ซึ่งมีค่าธรรมเนียมถูกกว่ามาก ในธุรกิจซื้อขายหุ้นก็เช่นกัน เริ่มมีบริษัท Fintech หลายเจ้า อย่างเช่น Robinhood ซึ่งให้บริการซื้อขายหุ้นแบบ Zero Commission ซึ่งก็เติบโตเป็นยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่ากิจการเกิน 1 พันล้านเหรียญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าเข้ามาในเมืองไทยนี่เราต้องปรับตัวกันมากเลยทีเดียว แน่นอนว่าผู้บริโภคย่อมได้ประโยชน์ แต่ผู้ให้บริการต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ครับงานนี้
ในส่วนของประเทศไทย เกิดการตื่นตัวกันอย่างชัดเจนสำหรับเรื่องของ Fintech ในบ้านเรา โดยล่าสุดธนาคารพาณิชย์ชั้นนำได้เริ่มเคลื่อนไหวกันเต็มสูบแล้ว ตั้งแต่การตั้ง Lab ในการค้นคิดผลิตภัณฑ์ด้าน Fintech การจัด Training กันอย่างต่อเนื่องโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากฟากฝั่ง Tech มาให้ความรู้ การตั้งทีมภายในของธนาคารแต่ละสายงานเพื่อดูช่องโหว่หรือรอยรั่วของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตัวเอง ไปจนถึงการตั้งบริษัทที่เป็น Venture Capital เตรียมพร้อมที่จะเข้าลงทุนใน Fintech เกิดใหม่ในประเทศไทย
ปัจจุบันฟินเทคไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100 บริษัท เมื่อเทียบในช่วงปีที่ผ่านมา (2559) มีอยู่ประมาณ 40 บริษัท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่ต้องยอมรับว่า ฟินเทคไทยมีความแตกต่างจากหลายๆ ประเทศ คือโดยมากจะเป็นบริษัทที่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก และไม่ได้มีฐานลูกค้ามากมายเป็นของตัวเอง ผมจึงเชื่อว่าสถาบันการเงินไทยโดยเฉพาะธนาคารจะเป็นผู้นำการผลักดันการใช้ FinTech ในประเทศไทย โดยจะเป็นภาพของการจับมือกันระหว่างพี่ ๆ สถาบันการเงิน และน้อง ๆ ผู้ประกอบการ FinTech Startup ในการเติบโตไปด้วยกันครับ