การต่อสู้บนพื้นที่ 'ความทรงจำ'
ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากในสังคมไทย รู้สึกแปลกประหลาดใจอย่างมาก ที่มีเกิดการถอนหมุดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
เพราะไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าผู้กระทำนั้นทำไปทำไม เพราะไม่รู้ว่าทำแล้วจะได้อะไรขึ้นมา คำอธิบายที่พอจะทำให้เข้าใจได้บ้างว่าทำไปทำไม ก็คือ เป็นการทำพิธีทางไสยศาสตร์เท่านั้น ซึ่งก็ค่อนข้างจะไร้เหตุผลอย่างมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ รากฐานของสังคมการเมืองและวัฒนธรรมปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ สิ่งสำคัญๆ ที่เรารับรู้กันอยู่ทุกวันในปัจจุบันนี้ ก็ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์อยู่กับความเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่ว่าการถอนหมุดจะเกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจอะไร แต่ก็ได้สร้างผลกระเพื่อมในสังคมอย่างมากทีเดียว
เพราะนอกจากความประหลาดใจของผู้คนแล้ว ความอึดอัดไม่พอใจก็สะพรั่งมากขึ้น บทความที่อธิบายเรื่องหมุดประวัติศาสตร์กับ “ความทรงจำ” ที่คุณภาพดีเยี่ยมเกิดขึ้นหลากหลายอย่างน่าสนใจ
แตในขณะเดียวกัน ก็มีกระแสสวนทางเกิดขึ้นเหมือนกัน การรณรงค์เรื่องนี้ใน change .org ระหว่างประเด็น “ เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร ” กับ “ร่วมกันต่อต้าน ”หมุดกบฎ“ ทรราชย์” ก็มีการแสดงความรู้สึกของความทรงจำสองชุดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แม้ว่าจนถึงวันนี้ ผู้สนับสนุนการรณรงค์ประเด็น “ เอาผิดผู้ทำลายและต้องคืนหมุดคณะราษฎร ”จะมีจำนวนผู้ลงชื่อเห็นด้วยมากกว่าผู้สนับสนุนประเด็น “ร่วมกันต่อต้าน ”หมุดกบฎ“ ทรราชย์” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากรอบความทรงจำ “ ประชาธิปไตย” จะครองความเหนือกว่าแต่อย่างใด เพราะการต่อสู้บน “ พื้นที่ความทรงจำ” นั้นยังไม่จบสิ้น
การต่อสู้บน“พื้นที่ความทรงจำ” ที่แหลมคมจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง และยังไม่สามารถจัดความสัมพันธ์ทางการเมือง ( ในความหมายกว้าง ) ให้ลงตัวได้ ชนชั้นนำทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่รู้สึกว่ากำลังสูญเสียอำนาจ หรือกลุ่มใหม่ที่กำลังอยากจะได้อำนาจเพิ่มมากขึ้น ก็จะเริ่มต้นการเลือกหยิบ “ความทรงจำ” มาทำให้กลายเป็นความคิดนามธรรมสนับสนุนบทบาทของกลุ่มตนเอง
การเสนอ “ ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ” ( Make America Great Again) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการต่อสู้บนพื้นที่ “ ความทรงจำ” หรือ การ์ตูนเรื่องล่าสุดของสตูติโอ Ghibi เรื่องThe Wind Rises เป็นการนำเสนอ“ความทรงจำใหม่” ที่สัมพันธ์อยู่กับความเป็นมนุษย์ผู้มุ่งมั่นต่อความสำเร็จตามใจปรารถนาซึ่งส่งผลการพลิกไปทำให้ลืมภาพของผู้สร้างเครื่องบินรบที่ใช้ในสงคราม
การต่อสู้บนพื้นที่ “ ความทรงจำ” จึงไม่ได้แยกออกการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งหมายความว่าเรื่องราวต่างๆจะไม่ได้จบลงในเรื่องหรือประเด็นหนึ่งๆเท่านั้น หากแต่เป็นกระบวนการที่เมื่อเริ่มต้นแล้วก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนกว่าการต่อสู้ทางการเมืองจริงๆนั้นจบลงหรือลงตัวได้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว การเน้นว่าจะ “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยของโรนัลด์ เรแกนในปีค.ศ.1980 แล้ว แต่มากลายเป็นการรื้อฟื้น “ความทรงจำต่ออดีตที่ยิ่งใหญ่”ในสมัยนี้
อาจจะกล่าวได้ว่าความขัดแย้งที่ปะทุอยู่เกือบทั่วโลกในวันนี้ล้วนแล้วสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกระบวนการต่อสู้บน “ พื้นที่ความทรงจำ” ของคนในพื้นที่นั้นๆ
ผมเผอิญได้อ่านหนังสือของJILL A. EDY เรื่อง Troubled Pasts : News and the Collective Memory of Social Unrest ซึ่งทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์ถูกทำให้กลายเป็น“ความทรงจำร่วมของสังคม” และส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน
การหวนกลับมาศึกษากระบวนการสร้าง “ ความทรงจำ” ซึ่งมีผลต่อสังคมและต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในสังคมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในวันนี้ เพราะหากไม่เข้าในในเรื่องนี้ ก็ไม่สามารถเข้าใจความสลับซับซ้อนของการเคลื่อนไหวทางสังคมได้เลย
ที่กล่าวถึงปรากฏการณ์ในประเทศอื่นๆ นั้น ก็เพื่อจะบอกว่าการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยวันนี้ก็ยังไม่ลงตัวนะครับ แม้ว่าคณะทหารพยายามจะหวนกลับไปสู่ลักษณะพิเศษของการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบก็ตาม แต่อำนาจทางการเมืองใหม่อีกหลายลักษณะก็เกิดขึ้นมาพร้อมกันกับอำนาจของกลุ่มทหารด้วย ดังนั้นด้วยเงื่อนไขนี้เองจึงจะทำให้เกิดการช่วงชิง “ พื้นที่ความทรงจำ” เข้มข้นมากขึ้นเพื่อจะนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง
ผมเสนอว่าเราทั้งหมดต้องคิดกันให้มากขึ้นในเรื่องที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การทำให้สังคมไทยจัดความสัมพันธ์กับ “ อดีต/ประวัติศาสตร์” กันให้เหมาะสมกว่านี้ กล่าวคือ สังคมไทยต้องสร้างการเรียนรู้ “ประวัติศาสตร์” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้ผู้คนในสังคมสามารถมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเชื่อประวัติศาสตร์ชุดใดและสวนไหน
มิฉะนั้นแล้ว การเลือกหยิบบางส่วนของ “ ประวัติศาสตร์” มาทำให้กลายเป็น “ความทรงจำร่วม ” ของคนบางกลุ่มในสังคมจะกลายเป็นทางเดินไปสู่จุดปะทะของความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น