เมื่อจีนวางตัวไว้ตรงศูนย์กลาง ระเบียบโลกใหม่
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเปิดงานประชุมสุดยอด “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21”
ที่ปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์เหมือนวางจีนไว้ตรงจุดศูนย์กลางของ “ระเบียบโลกใหม่” มาแทนที่สหรัฐ และยุโรป
เป็นก้าวย่างที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างยิ่ง
ผู้มาร่วมประชุมกว่า 1,500 คนจากกว่า 100 ประเทศประกอบด้วยระดับผู้นำจาก 29 ชาติครั้งนี้ย่อมจะส่งสัญญาณชัดแจ้งว่าบทบาทใหม่ของจีนคือผู้ผลักดันระบบการคบหาแบบ “พหุภาคีนิยม” (multilateralism) ที่ยืนอยู่คนละข้างกับปฏิสัมพันธ์แบบ “เอกภาพนิยม” (unilateralism)
ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงประกาศจุดยืนสนับสนุน “โลกาภิวัตน์” (globalization) และต่อต้านโลกร้อน (global warming) อย่างคึกคักขณะที่สหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์กลับเปลี่ยนจุดยืนคัดค้านโลกาภิวัตน์ และไม่เชื่อว่าปัญหาเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องจริง
การสลับบทบาทของสองมหาอำนาจไปคนละขั้ว เป็นปรากฏการณ์ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
สีจิ้นผิงยืนตระหง่านประกาศว่า “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” เป็น “โครงการแห่งศตวรรษ” อย่างไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย
ไม่มีน้ำเสียงถ่อมตน และไม่เรียกตนเองว่าเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” อย่างที่เคยเป็นแนวทางนำเสนอมาตลอดหลายสิบปี
ตรงกันข้าม ผู้นำจีนกลับบอกว่าจีนจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนในประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ และจะริเริ่ม “100 โครงการแก้ความยากจน” ทั่วโลก
ปักกิ่งกำลังเล่นบทเป็นพระเอกทั้งด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล และเป็นพ่อพระในการแก้ปัญหาสังคมของประเทศอื่นเหมือนที่อเมริกาครั้งหนึ่งเคยทำภายใต้โครงการ USAID แต่ทรัมป์กำลังจะตัดงบประมาณความช่วยเหลือต่างชาติต่าง ๆ ลงอย่างมาก
ผมสังเกตเห็นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียนั่งอยู่แถวหน้าเพื่อแสดงความชื่นชมอย่างเต็มเปี่ยม (นอกจากโชว์ฝีมือเปียโนที่บ้านพักของสีจิ้นผิง) แต่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโซะ อาเบะและนายกฯนรินทรา โมดีของอินเดียไม่ปรากฏตัวให้เห็น
สีจิ้นผิงตอกย้ำถึงการสร้าง “ครอบครัวใหญ่ที่อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น” ไม่ใช่ต้องการสร้าง “กลุ่มเล็กที่อาจทำลายเสถียรภาพ”
ข้อหลังย่อมหมายถึงสหรัฐ ข้อแรกคือวิธีการสร้างเครือข่ายของจีน แบบใหม่
เป็นการแยกแยะให้เห็นว่าจีนวันนี้ไม่ได้เดินตามสหรัฐฯ แต่เป็นการสร้างทางหลวงระหว่างประเทศใหม่ที่กว้างกว่าใหญ่กว่าและเปิดใจกว้างกว่า
จีนทำตัวเป็น “เจ้าบุญทุ่ม” ด้วยการประกาศว่าจะธนาคารพัฒนาจีนและธนาคารนำเข้าส่งออกของจีน จะปล่อยเงินกู้ $55,000 ล้านขณะที่กองทุนเส้นทางสายไหมจะได้เงินเพิ่มอีก $14,000 ล้านเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
แต่จีนก็ต้องแสดงความจริงใจให้เห็นในทางปฏิบัติด้วย เพราะความไม่พอใจต่อจีนในการขยายอิทธิพลไปอย่างน่ากลัวในหลาย ๆ ประเทศทำให้เกิดภาพทางลบกับจีนขึ้นแล้ว
อินเดียหวาดระแวงจีนที่ทำเส้นทางผ่านปากีสถานซึ่งเป็นศัตรูกับตน และเข้าถึงแคชเมียร์ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งกันมาตลอดหลายสิบปี
อินเดียบอกว่าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จีนผลักดันอยู่ขณะนี้อาจจะนำไปสู่การสร้าง “หนี้สินมหาศาล” สำหรับหลายประเทศที่ไม่มีความสามารถจะรองรับภาระหนักทางการเงินได้ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจของตน
ญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งจีนในเวทีระหว่างประเทศอย่างชัดเจน จึงพยายามจะ “คาน” อิทธิพลของจีนในเกือบทุกด้าน
ที่ปฏิเสธไม่ได้คือจีนกำลังวางตัวเป็น “ตัวละครเอก” ของโลกที่มีทั้งเงิน บารมีและความพร้อมด้านการทูตระหว่างประเทศ ที่กำลังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแห่งดุลอำนาจครั้งสำคัญที่สุด ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
จะมีผลด้านบวกหรือลบอยู่ที่เราจะวางยุทธศาสตร์ตั้งรับและรุกอย่างไรเท่านั้น