ห้องคิง ห้องควีนและห้องโหล่
ไม่ว่าจะต้องพูดกันกี่รอบ ไม่ว่าจะต้องถกกันอีกกี่ครั้ง เรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ก็ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้
เพราะผมเชื่อว่าหากมาตรฐานการศึกษาของเรายังไม่กระเตื้อง ก็ไม่ต้องพูดถึงการสร้างชาติบ้านเมืองสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเรียกมันว่า Thailand 4.0 หรือประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ก็ตาม
ผลงานวิจัยที่ปรากฏเป็นข่าวล่าสุดน่าสนใจตรงที่ว่า นอกจากปัจจัยที่เป็นปัญหาคือครู นักเรียนและหลักสูตรแล้ว จุดอ่อนสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ “การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย”
นักการเมืองเข้ามาบริหารกระทรวงศึกษาคนแล้วคนเล่าก็สร้าง “ผลงาน” สำหรับตนเอง ไม่ได้สนใจว่าจะต้องยกเครื่องปรับปรุงกันอย่างจริงจังอย่างไร
งานวิจัยของ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ล่าสุดว่าด้วยการประเมินผลของ PISA ของนักเรียนไทยบอกตอนหนึ่งว่า
ตัวแปรจากระบบที่ส่งผลทางลบคือ การรับนักเรียนเข้าโรงเรียนโดยการคัดเลือกทางวิชาการ ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายประเทศที่มีผลการประเมินสูงไม่เอามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือฟินแลนด์
การแบ่งแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ เช่นการแยกนักเรียนไปอยู่ห้องคิง/ห้องควีน หรือห้องโหล่ ทำให้นักเรียนอ่อนซึ่งมีจำนวนมากกว่านักเรียนเก่ง ขาดประสบการณ์ที่จะได้เห็นการเรียนของเพื่อน ขาดโอกาสจะแบ่งปันทั้งความรู้, ความคิดและวิธีการเรียนรู้จากเพื่อนในวัยเดียวกัน
ข้อมูลจากงานวิจัยบอกว่าระบบโรงเรียนที่ปฏิบัติเช่นนี้ มักจะมีคะแนนต่ำเพราะนโยบายเช่นนี้ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กนักเรียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
นโยบายการแข่งขันสูงในการรับนักเรียนทำให้นักเรียนเก่งไปรวมกันอยู่ในโรงเรียนดีที่สุด ทั้งทางด้านวิชาการและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของโรงเรียนและของนักเรียน
เท่ากับเป็นการแบ่งแยกชนชั้นไปโดยปริยาย ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษา ซึ่งมีผลทางลบต่อการเรียนรู้อย่างปฏิเสธไม่ได้
นอกจากนี้โรงเรียนที่ดีกว่ายังมีโอกาสได้ทั้งทรัพยากรการเรียนที่มีคุณภาพสูง ครูคุณภาพดีกว่าในขณะที่โรงเรียนอื่นทั่วไปขาดโอกาสเช่นนี้
ตัวแปรอีกตัวหนึ่งเกี่ยวโดยตรงกับสังคมและวัฒนธรรมของไทย เพราะเป็นระบบที่เชื่อฟังผู้มีอำนาจหรือคนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนสำคัญหรือมีชื่อเสียง
ดังนั้นในวงการศึกษา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็จะใช้ความคิดเห็นจากบุคคลเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องถูกต้องหรือได้ผลเสมอไป
งานวิจัยนี้บอกด้วยว่า “นอกจากนี้ สาธารณชนไทยยังขาดวิจารณญาณ และมักเชื่อทันทีที่มีคนบอกอะไรโดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล วัฒนธรรมการขาดความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์นี้ถูกส่งต่อเข้าไปในโรงเรียน นักเรียนไม่ได้ถูกฝึกให้คิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การเรียนของนักเรียนจึงมักจบลงท้ายด้วยการกวดวิชา และเน้นการเรียนเพื่อสอบมากกว่าเพื่อความเข้าใจ”
ข้อสังเกตทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การศึกษาของไทย “ไปไม่ถึงไหน”
แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องท้อถอยหรือหดหู่ เพราะอนาคตของประเทศกำลังรอความกล้าหาญทางการเมือง และบทบาทของเอกชนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ยกเครื่องระบบการเรียนการสอนอย่างจริงจัง
ที่สำคัญอย่ารอนักการเมืองหรือข้าราชการ... ภาคประชาชนและพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องกระโดดลงมา ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้จงได้