การเมืองของการสร้างภาพ 'ชนบทไทย'
กรอบความเข้าใจ “สังคมชาวนา” ว่าเป็นสังคมที่สงบสุข ผู้คนมีจิตใจงดงาม มีประเพณีที่สูงคุณค่า
มีการจัดระบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสม รู้ที่ต่ำที่สูง ฯลฯ ถูกสร้างและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยตลอดมา พร้อมกันนั้น ก็ถูกทำให้เป็นภาพแทน “ความเป็นไทย” ที่ต้องยึดมั่นรักษาเอาไว้ให้คงทนสถาพรไป
ภาพ “สังคมชาวนา”ซึ่งเป็นภาพแทน “ความเป็นไทย”ถูกผลิตและผลิตซ้ำโดยผ่านปัญญาชน (นักคิดของชนชั้นนำ Intellectuals) และกลุ่มปัญญาชนสังคม (Intelligentsia กลุ่มทางสังคมของผู้มีการศึกษา)
พระยาอนุมานราชธน ปัญญาชนคนสำคัญของสังคมไทย ได้สร้างความรู้เพื่อแสดงว่าสังคมชนบทของไทยมีวัฒนธรรมที่สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ อันทำให้สังคมชนบทมีความสงบสุข แม้ว่าพระยาอนุมานราชธนเน้นว่าคนชนบทอาศัยความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาที่เต็มไปด้วยความงมงาย อีกทั้งยังนับถือพุทธศาสนาบนความศรัทธา (มิใช่ปัญญาหรือเหตุผล) ในการจรรโลงระเบียบแบบแผนต่างๆ ในสังคมของตน ซึ่งส่งผลให้ภาพชนบทเป็นภาพของกลุ่มคนที่ล้าหลังในบางด้าน แต่พระยาอนุมานราชธนก็ได้เน้นว่าการพัฒนาชนบทให้เจริญขึ้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพื่อจะป้องกันมิให้คนชนบทพากันหลงเชื่อลัทธิอันไม่พึงปรารถนา ซึ่งการพัฒนาชนบทนี้ควรดำเนินการโดยผู้นำและชนชั้นนำที่มีสติปัญญาและคุณธรรมเหนือคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทย นอกจากนี้ยังเน้นด้วยว่าโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้นนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม ดังนั้น การสร้างความรู้เรื่อง “สังคมชาวนา “ของพระยาอนุมานราชธนจึงตอกย้ำความสำคัญของการรักษาโครงสร้างรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจ
การสร้างความรู้ “สังคมชนบท” ถูกเชื่อมต่อกับบทบาทของรัฐรวมศูนย์แบบเผด็จการโดยการประกอบสร้างความคิดเรื่อง “การปกครองแบบไทย”ที่เสนอโดยปัญญาชนกระแสหลักที่สำคัญ ได้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เน้นว่า ลักษณะของสังคมไทย เหมาะสมที่จะปกครองแบบที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดและปกครองประชาชนด้วยความเมตตากรุณาเสมือนพ่อปกครองลูก และข้าราชการควรจะเป็น “นายของประชาชน” ก็ทำให้เป็นโอกาสของรัฐที่จะขยายอำนาจเข้ามาควบคุมและให้บริการแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาชนบทโดยรัฐหรือระบบราชการ ซึ่งจะทำให้ชนบทหลุดพ้นจากวัฏจักร “โง่ จน เจ็บ”
กระบวนการสร้างความรู้ “สังคมชนบท” นี้ ถูกทำให้ตราตรึงและฝังเข้าไปในระบบอารมณ์ความรู้สึกของพลังของกลุ่มปัญญาชนสังคม (Intelligentsia กลุ่มทางสังคมของผู้มีการศึกษา) คนกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากปัญญาชนกลุ่มหลักและก็ได้แสดงตนในการร่วมสร้างจินตนาการ “ชนบท” นี้อย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะทางด้านการสื่อสารทางอารมณ์ อันได้แก่ การสร้าง “บทเพลงชนบท” ขึ้นมา เมื่อเกิดวิทยุทรานซิสเตอร์ซึ่งทำให้วิทยุราคาถูกมากทำให้คนทั่วไปในสังคมไทยล้วนแล้วแต่ครอบครองได้ ส่งผลทำให้การกระจายความคิดเรื่องชนบทนี้ออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น
นักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ครูไพบูลย์ บุตรขัน (ไพบูลย์ ประณีต) ที่มีบทบาทตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แต่งเพลงที่ชื่นชม “ความเป็นชนบท” ไว้มากมาย จนอาจะกล่าวได้ว่าความนิยมมีมากมายนอกจากความสามารถในการแต่เพลงที่มีอย่างล้ำลึกแล้ว การเลือกแต่งเพลงเกี่ยวกับ “ความเป็นชนบท” เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดพลังของความชื่นชอบ/ชื่นชม จนเมื่อความนิยมเพลง “ความเป็นชนบท” ได้ขยายตัวคลุมสังคมไทย จึงทำให้เกิดการให้ความหมายรวมของบทเพลงชนบทนี้ว่า “เพลงลูกทุ่ง” ซึ่งเกิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2507
นักร้องจำนวนมากได้เข้าร่วมขยายการรับรู้เรื่อง “ความเป็นชนบท” ผ่านเพลงของครูเพลง ( ซึ่งไม่แตกต่างไปจากบทบาทของช่างซอ ในภาคเหนือ หมอลำในภาคใต้ หนังตะลุงและโนราในภาคใต้ที่เริ่มปรับตัวเข้ามาเชื่อมต่อกับ “ความเป็นชนบท” ที่ถูกสร้างขึ้น ) ที่มีชื่อเสียง เช่น สมยศ ทัศนพันธุ์ ชาญ เย็นแข ปรีชา บุณยเกียรติ ทูล ทองใจ นริศ ทองอารีย์ ชัยชนะ บุญนะโชติ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ลัดดา ศรีวรนันท์ บุปผา สายชล ผ่องศรี วรนุช เรียม ดาราน้อย เป็นต้น
ภาพสังคมชนบทที่มีความหมายเน้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคมที่งดงามที่ถูกสร้างขึ้นมาได้เปิดโอกาสให้แก่การเคลื่อนไหวของปัญญาชนนักวิชาการและปัญญาชนสังคม (นักพัฒนาเอกชน (NGOs)) จำนวนหนึ่งที่พยายาม “รื้อฟื้น” วัฒนธรรมชุมชนขึ้นมา เพื่อใช้เป็นฐานในการต่อรองและการต่อสู้กับรัฐและทุน เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของชาวบ้านในทุกภูมิภาค โดยปัญญาชนกลุ่มนี้จะเน้นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณกาลที่ทำให้ชุมชนชาวบ้านมีความเป็นปึกแผ่นสูง สามารถร่วมมือกันในการผลิต มีการแลกเปลี่ยนแรงงานและผลผลิตระหว่างกัน และการช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ อย่างรอบด้านด้วยน้ำใจไมตรีที่คนในชุมชนมีต่อกัน โดยหวังว่าการจัดการทรัพยากรของชุมชนชาวบ้านจะทำให้สามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความเข้มแข็งของทรัพยากรทางวัฒนธรรมจนทำให้ชาวชนบทสามารถ “พึ่งตัวเอง” ได้อย่างยั่งยืนสืบไปในอนาคต
ภาพจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระยาอนุมานราธนในทศวรรษ 2490 จึงมีความต่อเนื่องมาสู่ภาพชนบทที่ล้าหลังที่ต้องการการพัฒนาแต่ก็ยังต้องรักษาความ “ดีงาม” ของความสัมพันธ์ทางสังคมเอาไว้ในช่วงต้นของการพัฒนาและช่วงของการพัฒนด้วยการเน้น “วัฒนธรรมชุมชน”
กลุ่มปัญญาชนสังคม (Intelligentsia กลุ่มทางสังคมของผู้มีการศึกษา) ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการสื่อสารจากวิทยุมาสู่โทรทัศน์ ก็ได้ผลิตซ้ำ “ความเป็นชนบท” ต่อเนื่องมา การทำงานพัฒนาชนบทภายใต้กระแส “วัฒนธรรมชุมชน” ได้ขยายออกไปยังสื่อโทรทัศน์อย่างเข้มข้น ที่น่าสนใจ ได้แก่ นิรมล เมธีสุวกุล
การสร้าง “ความเป็นไทยในความเป็นชนบท” ก็ได้เกิดการสร้างโครงเรื่องประวัติศาสตร์ของชนบทหรืออดีตของสังคมชาวนาไปในทิศทางเดียวกัน คือ อดีตที่งดงาม แต่ต่อมาถูกทุนนิยมและอิทธิพลตะวันตกเข้ามาทำลาย และในวันนี้ เรา : คนไทยต้องช่วยกันรณรงค์รักษาความเป็นไทยในชนบทไว้ให้ได้
การสร้างภาพจินตนาการ “ความเป็นชนบท” ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรู้เกี่ยวกับชนบท หากแต่เป็น “โครงการทางการเมือง”(Political Project) ที่ชนชั้นนำต้องการให้ชนบทเป็นเช่นที่วาดหวังไว้ ด้วยการผลักดันของปัญญาชนชนชั้นนำได้สร้างความเป็น “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม”(Cultural nationalism) ขึ้นมาซึ่งส่งผลทั้งทางด้านที่ทำให้ชาวชนบทจำนวนไม่น้อยรู้สึกภาคภูมิใจมากขึ้นในการที่พลังของสังคมท้องถิ่นของตนได้ถูกยอมรับให้กลายมาเป็นหลักหนึ่งของการดำรงอยู่ของรัฐไทย แต่ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง ก็ตอกย้ำให้ต้องยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าตามวิธีคิดและรู้สึกแบบ “รู้ที่ต่ำที่สูง” ของสังคมไทย
วันนี้ “ชนบท” เปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาลและลึกซึ้งเกินกว่ากรอบของ “ความเป็นชนบท” แบบเดิมจะสามารถอธิบายได้อีกแล้ว แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่มีปัญญาชนกระแสหลักที่หลักแหลมมีปัญญาเพียงพอในการปรับเปลี่ยนกรอบภาพจินตนาการเพื่อประคับประคอง “โครงการทางการเมือง” ชุดสำคัญนี้ต่อไปได้
วันนี้ อยากจะชักชวนท่านผู้อ่านทุกท่านลองพินิจพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของชนบทด้วยสายตาใหม่ และอยากจะให้ช่วยกันร่วมสร้างความหมายให้แก่ “ชนบทใหม่” เพื่อที่จะให้เป็นจุดเริ่มต้น ( point of departure ) ในการร่วมสร้างและผลักดันให้สังคมไทยก้าวพ้นความขัดแย้งทั้งหลายครับ