“ยุคของ HealthTech มาถึงแล้ว?
ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยมี สตาร์ทอัพ เกิดใหม่จำนวนมากขึ้นทุกปี
โดย เทค สตาร์ทอัพ ที่ได้ยินคุ้นหูกันบ่อยๆจะเป็นในส่วนของ ฟินเทค หรือ อี-คอมเมิร์ซ แต่จริงๆแล้วยังมี สตาร์ทอัพ อีกหลายสาขา ซึ่งที่กำลังน่าจับตามองเป็นพิเศษคือ เฮลท์เทค (HealthTech)หรือ เทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ ดาต้าเบสที่เข้ามาช่วยคิดวิเคราะห์ข้อมูลการรักษา และระบบการจัดการทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ Wearable ที่ช่วยบันทึกติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้สวมใส่ที่นับเป็นเทรนด์ใหม่ทั่วโลกของสตาร์ทอัพ
และตั้งแต่ปีนี้ไปถึง 3 ปีข้างหน้า ในกลุ่มประเทศอย่าง ยุโรป อเมริกา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะในฝั่งอเมริกามีมูลค่าการเติบโตสูงถึง 7.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 กระแสนี้เกิดจากการที่ผู้คนอาศัยอยู่กับเทคโนโลยีที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆสะดวกสบายมากขึ้นจึงเกิดความคาดหวังที่จะได้รับบริการที่สะดวกสบายในด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างที่น่าสนใจของ HealthTech มีมากมาย ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลหลายแห่งในอเมริกาได้นำ VR มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยเพื่อช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยในเรื่องจิตบำบัดของผู้ป่วย ตลอดจนการนำ Touch Surgery โดยสตาร์ทอัพชาวอังกฤษมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนด้านการแพทย์ เพื่อจำลองสถานการณ์การผ่าตัดผ่านโมเดลแบบ 3มิติ ให้ศัลยแพทย์ฝึกหัดได้วิเคราะห์และฝึกฝนทักษะในสถานการณ์เสมือนการผ่าตัดจริง หรือจะเป็นในแง่ของการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนด้านบุคลากรและความไม่สะดวกสบายต่างๆ
Medifi ในฟิลิปปินส์ที่เข้ามาเชื่อมต่อการรักษาแบบ Telehealth ให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านบริการ Web App ได้ หมดปัญหาเรื่องการเดินทาง การรอคิว และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล โดยสามารถใช้ทั้ง VDO Conference และโปรแกรมสนทนาเข้ามาช่วยแก้ปัญหา มีการจัดทำประวัติและบันทึกการรักษาและอีกหลากหลายฟังก์ชันที่เข้ามาช่วยให้การรักษาทางไกลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรืออย่างในสิงคโปร์เองก็มี RingMD ที่เป็น Healthcare marketplace ของบริการ Telehealth ที่เชื่อมต่อผู้ป่วยกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกตามมาตรฐานของ HIPPA ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนปัจจุบันได้ขยายบริการออกไปใน 7 ประเทศ (สิงคโปร์, จีนและฮ่องกง, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, อเมริกา, ไทย และปากีสถาน)
ในส่วนของประเทศไทยกระแสเรื่อง HealthTech ในปัจจุบันเริ่มมีสตาร์ทอัพของวงการนี้ออกมาให้เห็นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น TeleMedicine อย่าง Ooca ซึ่งเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของคนไทย เพราะการจะไปพบจิตแพทย์นอกจากเรื่องการเดินทาง การทำนัดแล้ว ยังมีเรื่องของทัศนคติในแง่ลบที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ แพลตฟอร์มนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ในวันเวลาและสถานที่ที่ตนเองสะดวก
อีกหลายเจ้าที่หวังเข้ามาแก้ปัญหาในการดูแลผู้ป่วย เช่น Health at Home ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยภายในบ้าน โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับญาติในการค้นหาผู้ดูแลและช่วยฝึกอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐาน
โดยบริษัทด้านบริษัทสุขภาพอย่าง ไบเออร์ไทย ได้จัดตั้ง HealthTech Acceleratorภายใต้โครงการ Grant4Apps Thailand เพื่อให้เหล่า Startup นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจได้ส่งไอเดียและนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาสุขภาพเข้าประกวด หรือจะเป็นภาคการศึกษาอย่างทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตที่ได้จัดตั้งวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการขึ้นมาใหม่เพื่อสนับสนุน HealthTech ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
เห็นได้ชัดเจนว่ายุค HealthTech ของวงการสุขภาพได้มาถึงแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ประเทศไทยควรทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาเพื่อนำประโยชน์จากเทคโลยีเหล่านี้มาใช้สูงสุด เพราะปัญหาหลักในการเติบโตของวงการ HealthTech ในประเทศไทย คือเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูล
ดังนั้น มาตรการในการควบคุมต้องเป็นไปอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค แต่ก็ยังต้องเปิดโอกาสให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดและพัฒนาการรักษาให้ประสบผลสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น