เมืองอัจฉริยะกับความสามารถในการครอบครองที่อยู่อาศัย
เป้าหมายในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0” ที่มุ่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยก้าวพ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง พร้อมๆ ไปกับ
การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องในเชิงหลักการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สังคมไทยสามารถบรรลุทั้งสองเป้าหมายดังกล่าวในทางปฎิบัติ จึงจำเป็นต้องมีการเปิดกว้างเพื่อรับ ข้อมูล คำถาม หรือปัญหาเชิงนโยบายจากหลากหลายมุมมองที่รอบด้าน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายมองเห็นสาเหตุของปัญหา และทางเลือกเชิงนโยบาย ที่จะส่งผลต่อประโยชน์ของสังคมได้มากขึ้น
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ถือเป็นแผนการพัฒนาเมืองที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0” เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยคำนึงถึงมิติเรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัย มีการจัดการเรื่องการประหยัดพลังงาน เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและแหล่งความรู้ที่สำคัญ มีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ตัวอย่างของโครงการนำร่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก็คือ โครงการภูเก็ต สมาร์ต ซิตี้ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ร่วมมือกับภาคเอกชน และโครงการพัฒนาเมืองและนิคมอุตสาหกรรม สู่เมืองอัจฉริยะของกระทรวงพลังงาน กับภาคเอกชน เป็นต้น
นอกจากผลกระทบเชิงบวกของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบได้เช่นกัน หากไม่มีการเตรียมการรับมือกับปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งนี้เนื่องจากว่า หลักการสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยการบังคับใช้อำนาจการควบคุมโดยรัฐที่ทำผ่านข้อบังคับในรูปของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เมืองนั้น ๆ มีการขยายตัวไปในลักษณะ “สะเปะสะปะ” แบบไร้ทิศทางตามกลไกระบบตลาดแบบปกตินั่นเอง ซึ่งการควบคุมของรัฐนี้อาจมีผลกระทบต่อการจำกัดปริมาณอุปทานที่ดินในบางพื้นที่ที่จะใช้เพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย และส่งผลต่อทำให้ราคาของบ้านอยู่อาศัยในเมืองอัจฉริยะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าในที่อื่น ๆ โดยราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนทั่วไป ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ชาวบ้านทั่วไปไม่มีความสามารถในการถือครองบ้านอยู่อาศัยของตนเองนั่นเอง
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราจำเป็นต้องไปดูผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ในต่างประเทศเพื่อใช้เทียบเคียงกัน ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Jerry Anthony (2006) ที่ตีพิมพ์ใน Social Science Quarterly ได้ทำการศึกษากรณีของรัฐฟลอริดา สหรัฐ เพื่อดูผลกระทบจากมาตรการจัดการบริหารการขยายตัวของเมืองที่มีต่อราคาบ้านในแต่ละเขตจำนวน 67เขต โดยได้ติดตามข้อมูลติดต่อกันเป็นช่วงหลายปี (longitudinal data) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1980-1995
โดยพยายามควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ผลที่เกิดกับราคาบ้านได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่า มาตรการแทรกแซงของรัฐเพื่อการบริหารจัดการการขยายตัวของเมืองนั้น มีผลทำให้ราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านเดี่ยวนั้นมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเชิงสถิติ
ผลการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไปว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่นจะมีมาตรการหรือนโยบายในการจัดการช่วยเหลือชาวบ้านทั่วไปให้สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านอยู่อาศัยได้อย่างไร
งานศึกษาของ Arthur C. Nelson and Susan M. Wachter (2003) ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Affordable Housing & Development Law ซึ่งได้วิจัยเกี่ยวกับนโยบายการเพิ่มอำนาจซื้อบ้านอยู่อาศัย (affordable housing policy) ว่า แม้ว่าการบริหารจัดการเมืองจะมีผลทำให้ราคาบ้านสูงขึ้น แต่ภาครัฐก็อาจดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเพิ่มอำนาจซื้อบ้านของครัวเรือนได้ด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและมีการจัดการที่เพียงพอ เช่น ภาครัฐอาจบริหารจัดการเพื่อให้มีการลงทุนจัดสร้างอุปทานที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพหรือบริการขั้นต่ำและขนาดพื้นที่ที่ยอมรับได้ในระดับราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของคนในพื้นที่นั้นในจำนวนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งก็จะช่วยลดภาระของชาวบ้านในเรื่องราคาบ้านที่ถีบตัวสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ รัฐก็ยังอาจต้องพิจารณาใช้นโยบายที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเมืองเหล่านี้และมีรายได้ที่สูงมากพอนั้น ต้องหันมารับภาระการพัฒนาเมืองในรูปของภาษีที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้ ก็เพื่อสะท้อนให้ผู้กำหนดนโยบายได้ตระหนักถึงผลกระทบทางด้านลบที่อาจตามมาจากนโยบายหลักที่กำลังผลักดันกันอยู่นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ทางบวกที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะได้มีการบริหารจัดการกับปัญหาเหล่านั้นตั้งแต่ต้น เพื่อทำให้สังคมไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้น้อยลงด้วยในที่สุด
///////////
โดย ศ.ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา