เรียนรู้นโยบายเพื่อผู้สูงวัยของสิงคโปร์
การก้าวสู่สังคมสูงวัยเป็นความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เพราะปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
โดยมีประชากรวัย 60 ปีหรือมากกว่าคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็อาจไม่ตกใจมาก เพราะประเทศอื่นในเอเชียด้วยกันก็พบกับความท้าทายนี้เหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปก่อนหน้านี้ สำหรับในอาเซียน สิงคโปร์ถือเป็นชาติแรก ตามมาด้วยไทย และในอนาคตอีกไม่นานนัก ประเทศในอาเซียนก็จะทยอยกันเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน
สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวกับสังคมสูงวัย เนื่องจากมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปีในขณะที่อัตราการเกิดลดลง รัฐบาลจึงได้เริ่มใช้มาตรการและนโยบายต่างๆ โดยเริ่มจากการจัดตั้งกระทรวงการพัฒนาชุมชน เยาวชน และการกีฬา (MCYS) รวมทั้งได้แต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการด้านผู้สูงอายุโดยตรง มีนายลิม บุน เฮง(Lim Boon Heng) รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายใต้คำขวัญ "Successful Ageing for Singapore” และได้วางแนวนโยบายไว้ดังนี้
1) ส่งเสริมการจ้างงานและเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน ด้วยการเพิ่มทักษะและจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน เพื่อยกระดับผลิตภาพ และความสามารถในการเพิ่มรายได้ของแรงงานในระยะยาว ซึ่งภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการวางแผนจัดสรรรายได้และรายจ่ายอย่างสมดุล โดยเฉพาะกองทุน Central Provident Fund (CPF) เพื่อเป็นหลักประกันยามเกษียณ และเป็นการส่งเสริมการออม
2) ให้การดูแลสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุอย่างรอบด้านในราคาย่อมเยา เน้นให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ ในทุกๆ ปีรัฐบาลจะใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อให้การศึกษาด้านการดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ
3)ช่วยเหลือผู้สูงอายุในสังคม โดยภาครัฐเป็นผู้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้สามารถอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุ เช่น การออกแบบอาคาร สถานที่สาธารณะ และระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม
4)การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีอายุยืน โดยการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เช่น การพัฒนางานด้านบริการเพื่อผู้สูงอายุ ปรับปรุงนโยบายด้านเงินอุดหนุนแก่อาสาสมัคร สนับสนุนการฝึกอบรมด้านการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ
นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุนั้นวางอยู่บนหลักการของระบบประกันสังคมของสิงคโปร์ 3 ประการ ประการแรก คือ การพึ่งตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมประการต่อมาคือ การพึ่งพาครอบครัว และประการสุดท้ายคือ การอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งชุมชนและองค์กรต่างๆ ทั้งนี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม เพื่อสร้างระบบที่เน้นให้สมาชิกในครอบครัวรับหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชรา และหากไม่เลี้ยงดู พ่อแม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากบุตรได้ ทั้งยังให้ความสำคัญกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกในการดูแลประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก
นอกจากนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการพัฒนาเด็ก การส่งเสริมการมีคู่ การสมรส และการเพิ่มจำนวนประชากร ภายใต้มาตรการต่างๆ ได้แก่
- แผนการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาเด็กเพื่อสนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์มีบุตร ซึ่งรัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้แก่บิดามารดา ด้วยรูปแบบการให้เงินสด และสมทบทุนบัญชีเงินฝาก ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็กจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรที่ศึกษาในโรงเรียนที่จดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ และใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของบุตรได้ทุกประเภท
- การประกาศใช้นโยบายการแต่งงานและแพ็คเกจการเลี้ยงดูบุตรเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนแต่งงานและมีลูกโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ การแต่งงาน การมีบุตร การเลี้ยงดูบุตร และการสนับสนุนสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว
จะเห็นได้ว่านโยบายและมาตรการต่างๆ ของสิงคโปร์เน้นการมีส่วนร่วม และการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ โดยมีแผนนโยบายแห่งชาติเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเป็นแนวทางหลักในการดำเนินการ และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายที่มีทิศทางสอดคล้องกันระหว่างกระทรวงต่างๆ
จากนโยบายสังคมสูงวัยของสิงคโปร์ เราสามารถสรุปหัวใจสำคัญได้อย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) มีความรอบด้าน ครอบคลุมหลายมิติของสวัสดิการสังคม 2) ไม่เน้นเพียงการให้สวัสดิการโดยผู้สูงวัยเป็นเพียงผู้รับอย่างเดียว หากยังเน้นการดึงศักยภาพของผู้สูงวัยออกมาใช้ และ 3) อาศัยการประสานงานกันระหว่างหลายภาคส่วน ไม่ใช่เน้นแต่ผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่เน้นหลายมิติของครอบครัว เช่น เด็ก และการศึกษา เป็นต้น สามประการนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเราหากนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุของไทยเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
////////////
โดย ชัชฎา กำลังแพทย์
ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.