ประมูลซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
ข้าวจากโครงการรับจำนำในสต๊อกของรัฐ จำนวน 17ล้านตันเศษ รัฐบาลใช้เวลาช่วงสามปีที่ผ่านมาระบายได้เกือบหมดแล้ว เหลือข้าวอีกประมาณ2ล้านตันเศษ
เป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานทั้งหมด มีทั้งผิดมากผิดน้อย ตั้งกองปนอยู่ในโกดังรวมกัน ด้วยเหตุที่เป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานและเก็บมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี และเหตุผลด้านความจำกัดของตลาดข้าวบริโภคที่อิ่มตัว ประกอบกับข้าวใหม่ของชาวนากำลังจะออกสู่ตลาด รัฐจึงประมูลขายแบบยกคลัง โดยมีข้อจำกัดให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนหรือสัตว์ เพื่อไม่ให้ข้าวเก่าในสต๊อกที่ผิดมาตรฐานไปเพิ่มปริมาณในตลาดข้าวบริโภคอันจะมีผลกระทบต่อราคาข้าวที่ชาวนาจะได้รับ
ในการประมูลข้าวดังกล่าวผู้เสนอซื้อที่เข้าประมูลต้องแจ้งวัตถุประสงค์และประเภทของอุตสาหกรรมที่จะนำข้าวสารในสค๊อกของรัฐไปใช้อย่างชัดเจน ผู้เสนอซื้อที่ชนะการประมูลที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ตามประกาศการประมูล ที่สำคัญคือต้องนำข้าวที่ประมูลได้ไปใช้ในอุตสาหกรรมตามที่ได้แจ้งไว้ หากนำข้าวไปใช้นอกเหนือจากที่แจ้งไว้ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ผู้เสนอซื้อที่ชนะการประมูล ต้องทำสัญญาซื้อข้าวที่ประมูลได้กับองค์การคลังสินหรือ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร แล้วแต่กรณี โดยในสัญญาซื้อข้าวดังกล่าวนอกจากจะกำหนดเงื่อนไข ตามประกาศการประมูลแล้ว ยังกำหนดเงื่อนไขส่วนที่เป็นรายละเอียด ที่ผู้ซื้อต้องปฏิบัติในฐานะคู่สัญญาอีกด้วย โดยเฉพาะการนำข้าวที่ชนะการประมูลไปใช้ ผิดไปจากเงื่อนไขที่แจ้งไว้ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
ถ้าผู้ชนะการประมูลนำข้าวไปใช้นอกเหนือจากที่แจ้งไว้ เช่นแจ้งว่า จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเป็นอาหารสัตว์ แต่ลักลอบนำไปปรับปรุงแล้วจำหน่ายเป็นข้าวบริโภค เข้าข่ายเป็นการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อจะได้ซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐ
การหลอกลวงซื้อสินค้า ศาลฎีกาได้เคยพิพากษาว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เช่นคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4263/2528 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่ได้จดทะเบียนแล้วนำชื่อห้างไปใช้หลอกลวงเพื่อซื้อสินค้าโดยมีเจตนาไม่ชำระราคามาแต่แรกโดยครั้งแรกชำระด้วยเงินสดหรือออกเช็คชำระค่าสินค้าเรียกเก็บเงินได้ตลอดแต่ครั้งหลังถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้เสียหายได้ติดต่อกับจำเลยกับพวกออกเช็คให้ใหม่แต่ธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินอีก แม้จะเป็นการกระทำหลายครั้งแต่ก็โดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อจะฉ้อโกงผู้เสียหายจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
คดีตามคำพิพากษาฎีกาที่1865/2538 คดีนี้จำเลยหลอกซื้อสินค้าโดยออกเช็คทั้งที่ไม่มีอำนาจลงชื่อในเช็ค จำนวนสามฉบับศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์อุทธรณ์และฎีกาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมขอให้ลงโทษสถานหนัก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว่าการออกเช็คทั้งสามฉบับของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการกระทำส่วนหนึ่งของการหลอกลวงโดยมีเจตนาเป็นอย่างเดียวคือเพื่อให้ได้ไปซึ่งสินค้าจากโจทก์โดยทุจริตไม่ต้องการให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นมาแต่ต้นจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 7635/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่าการที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมในคดีนี้เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจ เพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากด้วยการอาศัยวิธีการ
ออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสดโดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าในคดีนี้ให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
(หมายเหตุ จำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดจากการใช้เช็คจากการกระทำดังกล่าวต่อศาลอื่นแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่ได้ลงโทษฐานฉ้อโกงอีก เพราะเป็นการฟ้องซ้อน)
กรณีประมูลซื้อข้าวโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จเป็นการหลอกลวง อาจเทียบเคียงกับคดีคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้นได้ แม้ข้อเท็จจริงจะต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือการที่ผู้เข้าประมูลแจ้งวัตถุประสงค์นำข้าวที่ได้จากการประมูลไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่ไม่ใช่การบริโภคของคนหรือสัตว์ เช่นผลิตปุ๋ย แต่มีเจตนาที่จะนำข้าวที่ประมูลได้ไปปรับปรุง แล้วนำไปขายในตลาดข้าวบริโภค เข้าข่าย เป็นการ หลอกลวงเจ้าหน้าที่โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้สามารถเข้าประมูลได้ เพื่อจะได้รับการคัดเลือกได้สิทธิซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐ แล้วนำไปลักลอบขายเป็นข้าวบริโภคแสวงหากำไรทิ่มิควรได้โดยชอบเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ที่บัญญัติว่าผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ