กัมปงไอเยอร์ : แหล่งกำเนิดของประเทศบรูไนดารุสซาลาม (1)***
ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนอาจกล่าวได้ว่า บรูไนเป็นประเทศเดียวที่แสดงวิวัฒนาการของเมืองจากผืนน้ำได้อย่างชัดเจน สะท้อนอารยธรรมแรกของโลกมาลายู
ดังปรากฏหมู่บ้านน้ำหรือเรียกเป็นภาษาถิ่นว่า “กัมปงไอร์” หรือ "กัมปง ไอเยอร์” บนแม่น้ำบรูไน ชานกรุงบันดาเสรีเบกาวัน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นหมู่บ้านน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และยังคงสืบทอดมรดกการดำรงชีวิตบนผืนน้ำมาจนถึงปัจจุบัน
กัมปง ไอเยอร์
ในอดีตแม่น้ำลำคลองรวมถึงทะเลเป็นเส้นทางเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดวงจรทางการค้าและความสัมพันธ์ทางสังคม จากหลักฐานทางโบราณคดีเกาะบอร์เนียวเป็นแหล่งอาศัยของกลุ่มคนในตระกูลออสโตรนีเซียน (Austronesian) มาไม่น้อยกว่าสองพันปี กลุ่มนี้บางส่วนคือพวกบาเยา (Bajau) ที่ชอบใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เป็นชนเผ่าเร่ร่อนดั้งเดิมทางทะเล คนเหล่านี้เร่ร่อนมาจากหลายที่แล้วจึงเคลื่อนย้ายเข้าไปในบอร์เนียว มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าทึบ ฝนตกชุก การเคลื่อนย้ายไม่เพียงไปตามชายฝั่ง แต่ยังไปตามแม่น้ำสายต่างๆ เกิดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ความเป็นมาของกัมปงไอเยอร์ในบรูไนเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้เช่นกัน กัมปง ไอเยอร์ จึงถือเป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของบรูไน
กัมปงไอเยอร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14 มีการเรียกชื่อที่ตั้งของกัมปงไอเยอร์หรือบรูไนแตกต่างกันตามยุคสมัยซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏในเอกสารของจีน ดังเช่นในสมัยราชวงศ์เหลียง (502-566 AD) และสมัยราชวงศ์ซุย (518-618 AD) รู้จักในนาม Po-li สมัยราชวงศ์ถัง (618-960 AD) ในนาม Po-li และ Po-lo สมัยราชวงศ์ซ้อง (960-1279 AD) รู้จักในนาม Po-ni, Pu-ni และ Fuo-ni สมัยราชวงศ์หมิง (1368-1643 AD) รู้จักในนาม Po-ni การเรียกชื่อบรูไนอาจแปลงเสียงมาจากคำภาษาจีนคือคำว่า เวินไล (Wen lai) หรือ บุนไล (Bun lai) ที่ตั้งกัมปงไอเยอร์เป็นส่วนหนึ่งของแว่นแคว้นศรีวิชัย จากเอกสารจีนบันทึกสมัยราชวงศ์ซ้องได้แสดงให้เห็นว่า หมู่บ้านน้ำในบรูไนสมัยโบราณอาจเป็นที่รู้จักในนามโฟนิ (Po-ni) หรือศรีวิชัยด้วย
ในปี ค.ศ. 977 โฟนิได้กลายเป็นแหล่งการค้าแห่งยุค เป็นแหล่งพักเรือสำเภาสินค้าของจีนในช่วงมีมรสุม ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 Chau Ju Kua ได้บันทึกว่าเป็นชุมชนที่สงบ สันติ มีประชากรราวหมื่นคน โดยมีผืนน้ำล้อมรอบและเรือรบร้อยลำเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญมีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมายังท่าเรือ เพื่อแลกเปลี่ยนของป่าและผลิตผลทางทะเลกับเครื่องปั้นดินเผา ทอง เงิน และผ้าไหม
เรือสำเภาจีนได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าเมืองและประชาชน เกิดความร่วมมือทำการค้าระหว่างกัน มีงานเฉลิมฉลองนิยมใช้ฆ้องบรรเลง มีการบันทึกลักษณะเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เสื้อผ้าทำจากใยฝ้ายต้นกีเพ (Ki-pei) มีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผู้ชายหากมีฐานะจะสวมใส่ผ้าไหม ผ้ายกดิ้นทอง ส่วนผู้หญิงใส่โสร่ง หากมีฐานะดีขึ้นอีกใส่โสร่งผ้าฝ้ายหลากสี หรือไหมยกดิ้นลวดลายต่างๆ กัน เครื่องประดับทำด้วยทอง เงิน ทองเหลือง และลูกปัด ผู้มีฐานะใส่แหวนทอง ต่างหู และกำไล แหวนทองจำเป็นสำหรับพิธีแต่งงาน ผู้มีฐานะน้อยใส่ทองเหลืองและลูกปัด นอกจากนี้ยังพบว่า พ่อค้าจากจีนนำลูกปัดมาขายหลายสีหลายรูปแบบ ท่าเรือจึงเต็มไปด้วยผู้คนคับคั่ง
ในช่วงก่อนที่จะมีชาวต่างชาติมาถึงคนในหมู่บ้านใช้สิ่งของจากวัสดุธรรมชาติ ครกสากกะเบือทำจากหิน ถาด จวัก (Gegawi) ทำจากไม้ หม้อและไหทำจากดินเหนียว การติดต่อกับต่างชาติทำให้คนในหมู่บ้านยอมรับวัสดุใหม่ๆ เช่น เซรามิค สโตนแวร์ เหล็ก และทองเหลือง วัสดุสิ่งของเครื่องใช้ในจีนมีคุณภาพดีกว่าในท้องถิ่น จึงเป็นที่นิยมทั่วไป อิทธิพลวัฒนธรรมต่างชาติถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้สอยอยู่ในครัวเรือน นำมาปรับเป็นอาวุธ เครื่องมือทำหัตถกรรม งานโลหะผลักดันให้เกิดความชำนาญในงานฝีมือจนกลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน
แผนที่โบราณของกัมปงไอเยอร์
Dade Nanhai Zhi เดินทางมาในปี ค.ศ. 1304 และ Daoyai Zhilue ในปี ค.ศ. 1349 ได้บันทึกว่าบรูไนเป็นเมืองที่ร่ำรวยด้วยผลิตผลต่างๆ เช่น การบูร ไม้หอมที่เรียกว่า กาฮารู (Gaharu) หอยมุก บรูไนเป็นท่าเรือสำคัญทางการค้าระหว่างท้องถิ่นกับต่างชาติ สินค้าจากซูลูและอินโดนีเซียทางตะวันออกถูกเก็บรวบรวมไว้ท่าเรือแห่งนี้ก่อนจะส่งไปยังจามปา สยาม และฟิลิปปินส์ แผ่ขยายไปจนถึง Butuan Sulu Mindoro และอีกหลายแห่งในฟิลิปปินส์ เป็นแหล่งผลิตศิลปหัตถกรรมจำพวกผ้าทอ เครื่องไม้ เครื่องเงิน เครื่องทอง ปรากฏการณ์เหล่านี้ปรากฏจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในหลายแห่งของบรูไน ดังเช่นที่แม่น้ำลิมัว มานิส (Limau Manis) ในกูปัน เทอรูซัน (Kupan Terusan) แม่น้ำมันตัน (Mantan) พบโบราณวัตถุงานไม้ งานหล่อ เครื่องไม้แกะสลักเป็นรูปหน้ากากคน รูปปลา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในงานช่าง นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับทำประมงสะท้อนให้เห็นว่า สังคมบรูไนยึดโยงกับอาชีพประมงตั้งแต่ระยะแรกถึงปัจจุบัน
ศิลปวัตถุที่ค้นพบในกัมปง ไอเยอร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 14
ยังมีเอกสารอาหรับที่ไม่ได้กล่าวถึงโฟนิหรือบรูไนโดยตรง แต่กล่าวถึงดินแดนของศรีวิชัย ดังคำบันทึกของสุไลมาน (Suleiman) ที่กล่าวว่า มีเมืองตั้งบนฝั่งหันหน้าไปทางประเทศจีน ตั้งอยู่ระหว่างจีนกับอาหรับ เป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ที่ใด บ้านเรือนผู้คนอยู่ริมน้ำติดต่อกันไม่ขาดสาย เป็นตลาดการค้าเครื่องเทศที่มีชื่อเสียง เรือกำปั่นทุกชาตินิยมเดินทางมาแลกเปลี่ยนซื้อขาย ชาวอาหรับรู้จักศรีวิชัยในนามเมืองซาบัค มีบันทึกของมาซูดี (Mas’udi) ที่ระบุว่า หมู่เกาะซาบัคมีประชาชนจำนวนมาก ไม่มีผู้ใดที่สามารถเดินทางโดยเรือที่เร็วที่สุดไปรอบเกาะ ซึ่งมีประชากรอยู่หนาแน่นเช่นนี้ได้โดยรอบภายใน 2 ปี
แม้หลักฐานไม่ได้ชี้ชัดถึงสภาพของกัมปงไอเยอร์สมัยโบราณที่ตั้งอยู่ในกรุงบันดาเสรีเบกาวันในปัจจุบัน แต่จากพัฒนาการของศรีวิชัยได้แสดงให้เห็นว่า ในอดีตนิยมสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมน้ำ สิ่งนี้สะท้อนถึงรากเหง้าของกัมปงไอเยอร์มีภูมิหลังมายาวนาน ดังนั้นการกล่าวถึงกัมปงไอเยอร์ย่อมหมายถึงเมืองที่มีประวัติศาสตร์ของบรูไนรวมอยู่ด้วย
////
โดย... ปัญญา เทพสิงห์
เก็ตถวา บุญปราการ
เกษตรชัย และหีม
เจตน์สฤษฏิ์ สังขพันธ์
*** ชื่อเต็ม... กัมปงไอเยอร์ : หมู่บ้านน้ำแหล่งกำเนิดของประเทศบรูไนดารุสซาลาม (1)