ภายในปี 2571 ฮ่องกงจะขาดแคลนแรงงาน 180,000 คน คิดเป็น 260% ของปี 2566
ฮ่องกงจะขาดแคลนแรงงาน 180,000 คนภายในปี 2571 คิดเป็น 260% เมื่อเทียบกับปี 2566 เหตุประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็ว
KEY
POINTS
- ภายในปี 2571 ฮ่องกงจะเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานสูงถึง 180,000 คน โดยสาเหตุหลักมาจากประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ช่างบันไดเลื่อน และช่างก่อสร้างจะเป็นสายอาชีพที่ขาดแคลนมากที่สุด โดยมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด
- การขาดแคลนแรงงาน 180,000 คน อิงจากสมมติฐานว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.2% ในแต่ละปี ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 260% เมื่อเทียบกับการขาดแคลนแรงงานในปี 2566
ไม่ใช่แค่ไทยแต่ยังมีอีกหลายประเทศและดินแดนทั่วโลก ที่เผชิญกับภาวะสังคมสูงวัยและปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งหนึ่งในเขตดินแดนที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักก็คือ “ฮ่องกง” โดยมีรายงานจาก South China Morning Post ที่เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า ภายในปี 2571 ฮ่องกงจะเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานสูงถึง 180,000 คน โดยสาเหตุหลักมาจากประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
สำนักงานแรงงานและสวัสดิการของฮ่องกงคาดว่า เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่มีทักษะเฉพาะทาง เช่น ช่างบันไดเลื่อน และช่างก่อสร้างจะเป็นสายอาชีพที่ขาดแคลนมากที่สุด โดยมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด
ภายในปี 2571 ฮ่องกงจะขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น 260%
การศึกษาวิจัยที่ดำเนินการในปี 2566 ได้สำรวจข้อมูลจากภาคธุรกิจ 17 ภาคส่วนหลัก และรวบรวมมุมมองจากนายจ้างในอุตสาหกรรมต่างๆ มากกว่า 1,000 ราย เพื่อวิเคราะห์ถึงอุปทานและอุปสงค์ของแรงงานฮ่องกงในอีก 5 ปีข้างหน้า
รัฐบาลคาดการณ์ว่า อนาคตข้างหน้าภายในปี 2571 หรืออีกประมาณ 4 ปีข้างหน้า แรงงานหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้นถึง 3.56 ล้านคน แต่ความต้องการแรงงานของตลาดจะสูงกว่านั้น คือประมาณ 3.75 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน 180,000 คน โดยอิงจากสมมติฐานว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.2% ในแต่ละปี ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 260% เมื่อเทียบกับการขาดแคลนแรงงาน 50,000 ราย ในปี 2566
คริส ซัน ยุก-ฮาน (Chris Sun Yuk-han) รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ สะท้อนความเห็นว่า ประชากรสูงอายุเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฮ่องกง ประชากรวัยทำงานจะลดลง ในขณะที่อายุเฉลี่ยของแรงงานในภาคส่วนต่างๆ จะเพิ่มขึ้น
ภายในปี พ.ศ. 2571 ผู้คนมากกว่า 2 ล้านคนหรือ 28% ของประชากรชาวฮ่องกง จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้าเกณฑ์เป็นผู้สูงอายุ ส่วนประชากรวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-64 ปี จะมีจำนวน 4.6 ล้านคน คิดเป็น 63% ของประชากรทั้งประเทศ
แม้จะขาดแคลนแรงงานมากขึ้น แต่ปัญญาประดิษฐ์อาจทดแทนได้ ?
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานและอุปสงค์ของแรงงาน ได้แก่ การใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ระดับการศึกษาของแรงงาน การเติบโตและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่น
รอย ชาน กว๊อกเฟย (Roy Chan Kwok-fai) หัวหน้าหน่วยวิจัยของสำนักงานฯ เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าความต้องการแรงงานในอนาคตจะลดลง 10-20% เนื่องจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงานมนุษย์
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวน 180,000 ราย ประกอบไปด้วย ช่างเทคนิคที่มีทักษะสูง, คนงานในอุตสาหกรรมบริการ, ผู้เชี่ยวชาญและผู้จัดการบางสายงาน, คนงานใช้แรงงานทั่วไป ขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด หรือประมาณ 60,000 คน เป็นช่างเทคนิคที่มีทักษะเฉพาะทาง เช่น คนงานก่อสร้าง ช่างบันไดเลื่อน และช่างซ่อมบำรุงเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม นโยบายของทางการฮ่องกงในปีนี้ มีแผนดึงดูดคนงานจำนวน 10,000 คนที่มีอายุ 35 ปีหรือน้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษา ให้เข้ามาในระบบตลาดแรงงานเป็นเวลาสามปี เพื่อช่วยอุดช่องว่างการขาดแคลนดังกล่าว
ซัน ยุก-ฮาน บอกอีกว่า รัฐบาลจะยังคงมีแผนนำเข้าบุคลากรต่างชาติที่มีพรสวรรค์และแรงงานเข้ามาเพิ่มด้วย พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายจ้างพิจารณาแนวทางต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับทักษะของคนงาน การทบทวนกำลังคนในระยะกลางจะเกิดขึ้นในปี 2025
หลายฝ่ายชี้ นำเข้าแรงงานต่างชาติไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ขณะที่ โจว ซิว ชุง (Chau Siu-chung) สมาชิกรัฐสภาภาคแรงงาน มองว่า แม้ว่าการนำเข้าแรงงานต่างชาติสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทางบางประเภท ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานตอนนี้ อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่รัฐบาลไม่ควรละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างที่บีบให้แรงงานท้องถิ่นต้องออกจากงาน
“หากเงินเดือนยังคงต่ำ ชั่วโมงการทำงานยาวนาน และคนงานยังคงต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่แย่ คนงานจากต่างประเทศก็คงจะยากที่จะทำงานอยู่ที่นี่ได้เช่นกัน” สมาชิกรัฐสภาภาคแรงงานเตือน ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน ในกรณีที่จะพิจารณาการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เนื่องจากจะทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจกระบวนการแก้ปัยหาและเหตุผลเบื้องหลังวิกฤตการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
“จะไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลเลย หากรัฐบาลนำเข้าแรงงานโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง เพื่อมาเติมเต็มตำแหน่งว่าง 180,000 ตำแหน่ง ที่สำคัญที่สุด เราไม่สามารถพึ่งพาคนนอกได้ในระยะยาว เราต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้น่าดึงดูดใจสำหรับแรงงานรุ่นหนุ่มสาวมากขึ้น” เขาบอก
ไซมอน ลี ซิวโป (Simon Lee Siu-po) นักวิชาการด้านการเงิน สะท้อนมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่ของฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังเกิดกับเมืองเล็กพื้นที่รอบนอกด้วย ส่งผลให้แรงงานแต่ละเมืองต้องแข่งขันกันสูง และแรงงานท้องถิ่นอาจย้ายหนีออกไปเช่นกันหากพวกเขาพบโอกาสที่อื่นที่ดีกว่า
“จะดีที่สุดหากทางการช่วยให้แรงงานท้องถิ่นสามารถตั้งรกรากอยู่ในเมืองได้ เมื่อพวกเขาทำงานที่นี่มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อที่จะดึงแรงงานที่มีความสามารถระดับสูงไว้ในพื้นที่ และไม่คิดย้ายไปที่อื่น ปัญหาแรงงานสูงวัยที่ทยอยเกษียณออกไปเรื่อยๆ จากอุตสาหกรรมจนส่งผลให้องค์กรขาดแคลนแรงงานนั้น จะยังคงดำเนินต่อไปหากไม่มีการจูงใจให้บุคลากรหนุ่มสาวหน้าใหม่เข้ามาทดแทน” ลี ซิวโป อธิบาย
เขาเตือนอีกว่า ภาวะการขาดแคลนแรงงาน 180,000 คนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น อาจคุกคามความสามารถในการแข่งขันของเมือง เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ต้องแบกรับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นต่อไป ซึ่งต้นทุนดังกล่าวจะถูกโอนไปยังผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งด้วย ต่อไปชาวฮ่องกงอาจเจอสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว