วัยทำงานชาวจีนไม่พอใจ ทางการเลื่อนอายุเกษียณเป็น 63 ปี แก้ปัญหาสังคมสูงวัย
จีน ‘เลื่อนอายุเกษียณ’ เป็น 63 ปี วัยทำงานทุกรุ่นไม่พอใจแต่ก็ต้องก้มหน้ารับ แม้มองว่ายิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำเงินบำนาญ
KEY
POINTS
- ทางการจีนปรับอายุเกษียณของแรงงานชายจาก 60 ปีเป็น 63 ปี ส่วนแรงงานหญิงที่ทำงานในสำนักงานจะเพิ่มอายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 58 ปี
- สังคมผู้สูงอายุในจีนขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นต่อระบบประกันสังคม อาจเป็นเหตุผลให้ทางการจีนเร่งประกาศใช้มาตรการขยายอายุเกษียณ
- นักวิชาการหลายฝ่าย ชี้ วัยทำงานชาวจีนต้องทนทุกข์กับการเลื่อนอายุเกษียณครั้งนี้ ไม่มีใครมีความสุข หากทางการไม่จัดการกับความรู้สึกนี้ของประชาชน อาจเกิดผลร้ายแรงตามมา
ก่อนหน้านี้มีหลายๆ ประเทศแก้ปัญหาสังคมสูงวัยและการขาดแคลนแรงงาน ด้วยการ “เลื่อนอายุเกษียณ” ออกไปยาวนานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ ล่าสุด.. ‘จีน’ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประกาศใช้มาตรการนี้เช่นกัน ไม่นานมานี้ สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า การเคลื่อนไหวของทางการจีนในการปรับช่วงเกษียณอายุให้ขยายออกไป ดูเหมือนจะไม่เป็นที่นิยมในหมู่วัยทำงานชาวจีน แม้ว่าจะยังไม่เห็นการประท้วงเกิดขึ้นก็ตาม
โดยมาตรการดังกล่าวได้มีการอนุมัติโดย ‘สภานิติบัญญัติระดับสูงของจีน’ ไปเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังใช้เวลาพิจารณาเพียงสี่วัน โดยไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือกับสาธารณชน ทั้งนี้ ทางสภาฯ ได้วางแผนปรับอายุเกษียณของแรงงานชายจาก 60 ปีเป็น 63 ปี ส่วนแรงงานหญิงที่ทำงานในสำนักงานจะเพิ่มอายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 58 ปี ขณะที่แรงงานหญิงที่ทำงานในโรงงานจะเพิ่มอายุเกษียณจาก 50 ปีเป็น 55 ปี
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป และในอีก 15 ปีข้างหน้า ก็จะทยอยขยายอายุเกษียณเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ 3-5 ปี (อายุเกษียณสูงสุดอาจอยู่ที่ประมาณ 68 ปีในที่สุด) อย่างไรก็ตาม วัยทำงานชาวจีนบางส่วนกังวลว่า การขยายอายุเกษียณดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมกันในโครงการบำเหน็จบำนาญระหว่างภาครัฐกับเอกชน
สังคมผู้สูงวัยในจีนพุ่งรวดเร็ว เพิ่มแรงกดดันต่อระบบประกันสังคม
อัลเฟรด วู (Alfred Wu) รองศาสตราจารย์จากคณะนโยบายสาธารณะ Lee Kuan Yew แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ แสดงความคิดเห็นว่า การเคลื่อนไหวมาตรการดังกล่าวของทางการจีน อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดงานที่น่าหดหู่ มากไปกว่านั้นคือแทนที่จะช่วยแก้ไขเรื่องขาดแคลนแรงงานแต่อาจซ้ำเติมให้ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงขึ้น สิ่งนี้อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อทางการจีนด้วย
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความชอบธรรมของรัฐบาลส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ จึงชัดเจนมาก ว่าตอนนี้ผลงานของรัฐบาลไม่ได้ดีเหมือนเดิมอีกต่อไปและอาจลดทอนความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาลลงไป” รองศาสตราจารย์ วู อธิบาย
เขาบอกอีกว่า ปักกิ่งพลาดโอกาสทองที่จะทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องอายุเกษียณ ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโรคระบาด เพราะช่วงนั้นถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดของจีน “มีทั้งโอกาสในการทำงานมีมากมาย เศรษฐกิจกำลังเติบโต และทุกคนมีความสุข” แต่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุในจีนขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นต่อระบบประกันสังคม ซึ่งแรงงานทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนสนับสนุนเงินเข้าระบบ เพื่อรอรับเงินบำนาญเมื่อเกษียณอายุ
ทุก Gen รู้สึกไม่พอใจ นโยบายเลื่อนอายุเกษียณในจีน
ผู้ที่เกิดหลังปี ค.ศ. 1980 หรือกลุ่มวัยทำงานรุ่น Gen Y ไปจนถึง Gen Z ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่รู้สึกหงุดหงิดใจมากที่สุดกับนโยบายขยายอายุเกษียณที่ยาวนานขึ้น เนื่องจากพวกเขาจะต้องเผชิญกับผลกระทบเต็มรูปแบบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยกตัวอย่างเคสของ ‘จ่าว (Zhao)’ พนักงานบริษัทที่ปรึกษาการตลาดวัย 26 ปีในปักกิ่ง เธอบอกว่าตนเองคัดค้านนโยบายนี้อย่างหนัก
“การเลื่อนอายุเกษียณยิ่งจะทำให้คนหนุ่มสาวรู้สึกไม่พอใจกับงานและไม่อยากหางานทำ อีกทั้งมองว่ามันไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ให้ดีขึ้นได้เลย สิ่งที่ทางการต้องจัดการตอนนี้คือการสร้างงานให้มากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ แทนที่จะให้ข้าราชการที่มีอายุมากกว่าได้ทำงานที่มีความสะดวกสบายต่อไปยาวๆ แถมยังมีอำนาจเพิ่มขึ้นอีกหลายปี” เธอสะท้อนมุมมองส่วนตัว
วัยทำงานชาว Gen Z อีกคนอย่าง คลิตี้ เฉิน (Clytie Chen) วัย 26 ปี ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องยากเธอที่จะยอมรับ โดยก่อนหน้านี้ เธอทำงานที่ต้องกดดันสูงที่บริษัทผลิตรถยนต์ รายได้มากกว่าร้อยละ 30 ของเธอถูกนำไปจ่ายภาษีและเงินบำนาญ แทบออมเงินไม่ได้เลย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูง ต่อมาเธอถูกเลิกจ้างจากบริษัทผลิตรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2024 และตัดสินใจย้ายกลับไปหนานจิง บ้านเกิดของเธอ และหางานทำที่นั่น
“ใครจะรู้ว่าฉันจะเสียงานอีกไหมในตอนที่อายุเพิ่มเป็น 35 ปี และเมื่อฉันกำลังจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ทางการอาจมาบอกว่าฉันจะเกษียณได้ก็ต่อเมื่ออายุ 65 หรือ 70 ปีเท่านั้น รู้สึกเหมือนไม่รู้ว่าจะได้เกษียณจริงๆ เมื่อไรกันแน่ ขณะที่พ่อของฉันซึ่งเป็นข้าราชการได้รับเงินบำนาญสูงกว่าเมื่อเทียบกับเงินเดือนของฉัน ความไม่เท่าเทียมกันนี้ส่งผลต่อคนหนุ่มสาวอย่างมาก” เธอเล่าให้เห็นภาพชัดขึ้น” เธอบอก
ไม่ใช่แค่พนักงานรุ่นหนุ่มสาว แต่วัยทำงานชาว Gen X ในกลุ่มข้าราชการก็ไม่พอใจที่ต้องทำงานนานขึ้นเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งรับราชการวัย 50 ปีคนหนึ่ง (ไม่เปิดเผยชื่อ) ในเมืองเซินเจิ้นบอกว่า “เราทุกคนเข้าใจถึงเหตุผลของทางการที่ใช้มาตรการดังกล่าว แต่ไม่มีใครพอใจกับเรื่องนี้จริงๆ”
ขณะที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐอีกคนในเมืองเซี่ยงไฮ้รุ่น Gen Y วัย 37 ปี บอกว่าตนเองเตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องเจอมาตรการขยายอายุเกษียณ แม้จะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมที่คนรุ่นของเขาจะได้รับเงินบำนาญช้ากว่าคนรุ่นก่อนๆ และบางเคสก็ได้เงินบำนาญน้อยลงด้วย แต่เขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น เพื่อร่วมงานของเขาต่างก็บ่นกันมากทีเดียว มันเหมือนกับการแข่งขันที่ริบบิ้นที่เส้นชัยจะค่อยๆ เลื่อนออกไป แต่ดูเหมือนว่าทุกคนจะต้องยอมรับมัน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เขาได้แต่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอายุเกษียณอีกครั้ง ก่อนที่เขาจะใกล้ถึงวัยนั้น
ทางการไม่ให้วัยทำงานแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อนโยบายใหม่นี้ ป้องกันสร้างความแตกแยก
อย่างไรก็ตาม มีนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งในปักกิ่ง (ไม่เปิดเผยชื่อ) ให้ข้อมูลผ่าน South China Morning Post ว่า ทางการจีนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะไม่เป็นที่นิยมในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศ เพราะหลังจากประกาศนโยบายนี้ออกมาแล้ว ก็มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในระดับ “เฝ้าระวังสูงสุด” เพื่อป้องกันความไม่สงบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้น
“โดยพื้นฐานแล้ว ทุกคนต้องทนทุกข์กับการเลื่อนอายุเกษียณครั้งนี้ และไม่มีใครมีความสุข หากทางการจีนไม่จัดการกับความรู้สึกนี้ของประชาชน อาจเกิดผลที่คาดเดาไม่ได้ขึ้นมา ยกตัวอย่างในรัสเซียการตัดเงินบำนาญก็จุดชนวนให้เกิดการประท้วงให้เกิดขึ้นได้ แต่สำหรับในจีนมองว่าไม่น่าจะเกิดประท้วงอะไรขึ้นได้ เพราะทางการจีนมีการใช้โฆษณาชวนเชื่อและกองกำลังรักษาความปลอดภัยที่พร้อมจะเข้ามาจัดการและหยุดยั้งความไม่มั่นคงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น” เขาบอก
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเมืองกว่างโจวทางตอนใต้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐวัย 60 ปีบอกว่า เขาได้รับแจ้งไม่ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนโยบายขยายอายุเกษียณดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นจากผู้คนในสังคม เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบผลประโยชน์ระหว่างการเกษียณอายุของภาครัฐและการเกษียณอายุเอกชน เนื่องจากข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับประโยชน์จากแผนบำเหน็จบำนาญที่เอื้อเฟื้อมากกว่าพนักงานภาคเอกชนนั่นเอง
เนื่องจากชาวจีนผู้สูงวัยทยอยเกษียณอายุจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับขาดแรงงานหนุ่มสาวเข้ามาทดแทน นั่นจึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องกองทุนเงินบำนาญขาดสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย กู่ ยู่ (Gu Yu) ซึ่งเป็นทนายความในกรุงปักกิ่งเชื่อว่า นี่คือสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงนโยบายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 63 ปี ไม่ใช่เหตุผลที่ทางการอ้างว่า การขยายอายุเกษียณเป็นเพราะผู้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้นกว่าอดีต ซึ่งเขาเองก็คัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะมองว่าจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับวัยทำงานทุกคนอย่างไม่ต้องสงสัย
นโยบาย ‘เลื่อนอายุเกษียณ’ ของจีน อาจทำไม่ได้จริงเหมือนญี่ปุ่น
ด้าน เติ้ง ยู่เหวิน (Deng Yuwen) อดีตรองบรรณาธิการวารสาร Study Times ของ Central Party School สะท้อนมุมมองไม่ต่างกันว่า นี่เป็นจังหวะที่ไม่ดี แต่รัฐบาลไม่สามารถรอได้ การเลื่อนอายุเกษียณเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับจีน โดยเฉพาะปักกิ่งจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการเกิดที่ลดลง และการขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูงขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้วิกฤติเงินบำนาญของจีนลุกลามอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเร็วกว่าที่ปักกิ่งคาดการณ์ไว้มาก
เติ้งบอกอีกว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลสำหรับจีน เพราะเรื่องนี้อาจจัดการไม่ได้ง่ายๆ เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นทำได้ เนื่องจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น จะไปถึงขั้นนี้นี้ ระดับรายได้ต่อหัวของพวกเขาสูงกว่าของจีนในปัจจุบันมาก ทำให้พวกเขาสามารถจัดตั้งระบบประกันสังคมและสวัสดิการสาธารณะที่ค่อนข้างแข็งแกร่งได้
แต่สำหรับจีน เป็นไปได้ว่า หากคุณตัดสินใจเกษียณอายุก่อนกำหนด ระบบจะหักรายได้บำนาญของคุณออกไปเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทำงานนานขึ้น (อ้างคำกล่าวของ เผิง เซียวเจี้ยน (Peng Xiujian) นักวิจัยอาวุโสศูนย์นโยบายศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ในเมืองเมลเบิร์น)