‘บำนาญจีน’ เสี่ยงถังแตกใน 10 ปี วัยทำงานอาจลดลงเกือบ 40%
ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอย่าง ‘จีน’ เผชิญปัญหาสังคมสูงวัยที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ ระบบเงินบำนาญของจีนใกล้ถึงจุดแตกหักภายในทศวรรษหน้า นโยบายเลื่อนอายุเกษียณอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือวิกฤติครั้งนี้
KEY
POINTS
- ภายในปี 2050 ประชากรวัยทำงานของจีนจะลดลงจากปี 2010 เกือบ 40% หากอัตราการเกิดยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบัน
- “กลุ่มคนสูงวัย” อายุขัยเฉลี่ยในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 78 ปี ณ ปี 2021 จากประมาณ 44 ปีในปี 1960 และคาดว่าจะเกิน 80 ปีภายในปี 2050
- กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40% เป็นมากกว่า 400 ล้านคนภายในปี 2035 เทียบเท่ากับประชากรของสหราชอาณาจักรและสหรัฐรวมกัน
เมื่อเอ่ยถึง “ความมั่นคง” หลัง วัยเกษียณ “เงินบำนาญ” นับเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรามีกินมีใช้ แม้จะไม่ได้ทำงานแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบัน เงินบำนาญที่ควรจะได้กลับเกิดความไม่แน่นอนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะใน “จีน” ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอันดับสองของโลกเผชิญสังคมสูงวัยที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางประชากรวัยแรงงานที่ลดลงเรื่อย ๆ
แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ได้ทำให้ราวหนึ่งในสามของเขตปกครองระดับจังหวัดของจีนเกิด “ภาวะขาดดุลเงินบำนาญ” โดยสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences) ประเมินว่า ระบบบำนาญจีนมีแนวโน้มขาดเงินหรือคือ “ถังแตก” ภายในปี 2035 หรืออีกราว 10 ปีข้างหน้า หากไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง
วัยทำงานจีนอาจลดลงเกือบ 40%
ก่อนจีนจะมาสู่จุดที่เสี่ยงขาดแคลนเงินบำนาญ จีนเคยใช้นโยบายคุมกำเนิดเหลือลูกคนเดียวต่อหนึ่งครอบครัวมานานถึง 30 กว่าปีหรือราว 3 ทศวรรษ แม้จะช่วยควบคุมประชากรไม่ให้ล้นเกินได้ แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาคือ สมดุลประชากรชาย-หญิงที่เปลี่ยนไป รวมถึงต่อมาหนุ่มสาวจีนไม่ค่อยต้องการมีลูกตามเทรนด์ทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจจีนก็ซบเซา ทำให้การอยากมีลูกของชาวจีนยิ่งลดลงไปอีก
ในปีที่ผ่านมา “จำนวนการเกิดของจีน” ลดลงเหลือ 9 ล้านคน และสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ประชากรวัยทำงานของจีนจะลดลงจากปี 2010 เกือบ 40% หากอัตราการเกิดยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบัน
- ชาวจีนมีลูกน้อยลง สวนทางผู้สูงวัยที่อายุยืนขึ้น (เครดิต: AFP) -
สวนทางกับ “กลุ่มคนสูงวัย” อายุขัยเฉลี่ยในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 78 ปี ณ ปี 2021 จากประมาณ 44 ปีในปี 1960 และคาดว่าจะเกิน 80 ปีภายในปี 2050 โดยกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไปของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40% เป็นมากกว่า 400 ล้านคนภายในปี 2035 เทียบเท่ากับประชากรของสหราชอาณาจักรและสหรัฐรวมกัน เรียกได้ว่าเราอาจเห็นประชากรจีนมีแต่ผู้สูงอายุ
จีนเลื่อนวัยเกษียณ แต่อาจหยุดแนวโน้มไม่ได้มาก?
ด้วยปัญหาเสี่ยงขาดแคลนแรงงานดังกล่าว ทำให้สภานิติบัญญัติจีนปรับเพดานวัยเกษียณขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปี จากเดิมที่ผู้ชายเกษียณตอนอายุ 60 ปี ปรับขึ้นเป็น 63 ปีแทน ส่วนผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศจาก 55 ปี เป็น 58 ปี และผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานจาก 50 ปี เป็น 55 ปี โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2025
นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนกล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้เป็น “ก้าวสำคัญ” ในการพัฒนาระบบประกันสังคมของจีน และเพื่อปกป้องและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มอายุเกษียณอาจทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยในระยะสั้น เนื่องจากการเพิ่มอายุเกษียณถือเป็น “ทางเลือก” สำหรับแรงงานหลายคน ซึ่งหมายความว่า พวกเขาสามารถเลือกได้ว่าจะเลื่อนการเกษียณอายุหรือไม่
สำหรับเงินบำนาญระหว่าง “แรงงานย้ายถิ่น” และ “ข้าราชการ” มีข้อแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แรงงานย้ายถิ่นมักได้รับเงินบำนาญที่ไม่เพียงพอ ซึ่งบังคับให้พวกเขาต้องทำงานต่อไปแม้ในวัยชรา เนื่องจากพวกเขาไม่มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอที่จะเกษียณอย่างสบายใจ
ในทางกลับกัน ข้าราชการซึ่งได้รับเงินบำนาญจากรัฐบาลที่สูงกว่า มีความจำเป็นน้อยกว่าที่จะทำงานนานขึ้นหรือเลื่อนการเกษียณ เนื่องจากเงินบำนาญของพวกเขาให้การสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอ ดังนั้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่เลือกอายุเกษียณที่สูงขึ้น
ส่วนข้อกำหนดในการจ่ายเงินเข้าระบบบำนาญเป็นระยะเวลานานขึ้นเพื่อให้มีสิทธิได้รับบำนาญ (ระยะเวลาการจ่ายเงินเข้าเพิ่มขึ้น) ได้กลายเป็นข้อบังคับ โดยจะเพิ่มขึ้นจาก 15 ปี เป็น 20 ปี ซึ่งหมายความว่าแรงงานต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่นี้ไม่ว่าจะเกษียณอายุช้าหรือไม่
“การขยายระยะเวลาส่งเงินเข้ากองทุนบำนาญ โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันของเศรษฐกิจงานชั่วคราวและเศรษฐกิจนอกระบบ อาจทำให้แรงงานระดับล่างจำนวนมากลำบากมากขึ้นในการมีสิทธิ์รับเงินบำนาญ” สจวร์ต กีเทล-บาสเทน (Stuart Gietel-Basten) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกงกล่าว
จะเห็นได้ว่า การเพิ่มอายุเกษียณอาจไม่ช่วยให้รัฐบาลได้รับเงินมากนักในตอนนี้ เนื่องจากแรงงานบางคนอาจเลือกไม่เลื่อนการเกษียณ แต่ทุกคนจะต้องจ่ายเงินเข้าระบบบำนาญนานขึ้นเพื่อรับเงินบำนาญ ดังนั้น จีนอาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เช่น การพัฒนาทักษะให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการสร้างโอกาสทางการทำงานที่หลากหลาย เพื่อให้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากมาตรการขยายอายุเกษียณแล้ว ทางการจีนได้ให้คำมั่นว่า จะทำให้กองทุนประกันสังคมมูลค่า 2.88 ล้านล้านหยวนของจีนใหญ่ขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้สามารถเป็นหลักประกันความปลอดภัยสำหรับประชากรที่กำลังสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยติง เซว่ตง (Ding Xuedong) เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อกองทุนประกันสังคม กล่าวว่า กองทุนบำนาญจะเพิ่มการลงทุนในตลาดทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น
จากปัญหาเงินบำนาญของจีนที่เสี่ยงขาดดุลอย่างหนัก สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสังคมสูงวัยทั่วโลก การขยายตัวของกลุ่มผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว กำลังสร้างแรงกดดันต่อระบบบำนาญในหลายประเทศรวมถึงไทยด้วย การศึกษาจากกรณีของจีน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนรับมือกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันในอนาคต
อ้างอิง: reuters, reuters(2), scmp