ฮ่องกงเจอปัญหา ‘แก่จน’ เพิ่มขึ้น หลายฝ่ายร้องทางการ จ้างงานคนวัยเกษียณ

ฮ่องกงเจอปัญหา ‘แก่จน’ เพิ่มขึ้น หลายฝ่ายร้องทางการ จ้างงานคนวัยเกษียณ

ผู้สูงวัยฮ่องกง ‘แก่จน’ เพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องทางการหาวิธีจ้างงานคนวัยเกษียณ ชี้ให้ดูตัวอย่างจากสิงคโปร์-ญี่ปุ่นสิ!

KEY

POINTS

  • ชาวฮ่องกงมากกว่า 1.39 ล้านคนเข้าข่ายเป็นคนจน ซึ่งคิดเป็นอัตรา 20.2% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 19.5% เมื่อปีที่แล้ว สถานการณ์สังคมสูงวัยในฮ่องกงยิ่งนับวันก็ยิ่งจะเลวร้ายลง
  • สหพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง เรียกร้องทางการจูงใจผู้ประกอบการต่างๆ จ้างผู้สูงอายุเข้าทำงาน แนะให้ดูแนวทางการบริหารจัดการสังคมผู้สูงอายุจากสิงคโปร์และญี่ปุ่น
  • นโยบายที่ทำได้จริงของสิงคโปร์และญี่ปุ่น นอกจากการให้เงินช่วยเหลือแล้ว ยังพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงมีงานทำต่อไป และขยายเพดานอายุเกษียณ

ปรากฏการณ์สังคมสูงวัยกำลังขยายวงกว้างไปในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่ง “ฮ่องกง” ก็เป็นอีกหนึ่งดินแดนที่ประสบปัญหา “ผู้สูงวัยแก่จน” ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาเกษียณอายุออกไปแล้วแต่ยังคงหนีไม่พ้นความยากจน ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาสังคม และการขาดความรู้ด้านวางแผนทางการเงินของประชากรในชาติ

ผู้เชี่ยวชาญในฮ่องกงหลายฝ่ายต่างออกมาเรียกร้องให้ทางการฮ่องกงแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที โดยมองว่าจำเป็นต้องจูงใจนายจ้างมากขึ้น เพื่อให้วัยทำงานกลุ่มผู้สูงอายุในฮ่องกงยังมีงานทำต่อไปท่ามกลางปัญหาความยากจนที่เพิ่มมากขึ้น 

โดยการออกมาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่หน่วยงานท้องถิ่นแห่งหนึ่งภายใต้ “Oxfam Hong Kong” หรือ องค์กรการกุศลระหว่างประเทศของฮ่องกง ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ (ไม่เท่าเทียมกัน) ด้านความมั่งคั่งที่ขยายตัวมากขึ้นในฮ่องกง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่พบว่ายังไม่หลุดพ้นจากความยากจน

ปี 2024 ชาวฮ่องกงกว่า 1.39 ล้านคน หรือ 20.2%  เข้าข่ายเป็นคนจน

“ฮ่องกงกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ต่ำ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งให้การสนับสนุนและส่งเสริมการจ้างงานในหมู่ผู้สูงอายุ เพื่อแก้ปัญหาสังคมสูงวัย และช่วยยกระดับผู้สูงอายุให้หลุดพ้นจากความยากจน” โจว ซิวจุง (Chau Siu-chung) สมาชิกรัฐสภาภาคแรงงาน และผู้นำสหพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกงและเกาลูน กล่าว

ข้อมูลจาก Oxfam Hong Kong ยังเปิดเผยว่าชาวฮ่องกงมากกว่า 1.39 ล้านคนเข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์เป็นคนจนในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งคิดเป็นอัตรา 20.2% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 19.5% เมื่อปีที่แล้ว และ 18.3% ในปี 2562  อีกทั้งสถานการณ์สังคมสูงวัยในฮ่องกงยิ่งนับวันก็ยิ่งจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยพบว่ามีผู้สูงอายุมากกว่า 580,000 คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้าข่ายอยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 42.9% นับจากปี 2019

ในฮ่องกงไม่มีอายุเกษียณตามกฎหมาย แต่บริษัทส่วนใหญ่กำหนดให้พนักงานหยุดทำงานเมื่ออายุระหว่าง 60 - 65 ปี ทั้งนี้พบว่าอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานในกลุ่มผู้สูงอายุโดยรวมอยู่ที่ 13.9% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุที่ยากจนในในกลางเมืองอยู่ที่เพียง 3.8% เท่านั้น

เมื่อเทียบกับแรงงานผู้สูงวัยในต่างประเทศพบว่า อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานในกลุ่มผู้สูงอายุของญี่ปุ่นอยู่ที่ 25.6% , ในออสเตรเลียอยู่ที่ 15.01% , ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 19.23% , ในนอร์เวย์อยู่ที่ 13.65% ตามสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2022

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเรียกร้องให้ทางการ เพิ่มโครงการจัดหางานให้ผู้สูงอายุมากกว่านี้

โจว ซิวจุง บอกอีกว่าในนามของสหพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง เขาขอให้ทางการกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจให้บริษัทหรือผู้ประกอบการต่างๆ จ้างผู้สูงอายุเข้าทำงาน และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงาน เนื่องจากโครงการสนับสนุนในปัจจุบันยังมีอยู่อย่างจำกัด 

โดยหนึ่งในโครงการที่มีอยู่ก็คือ “โครงการจ้างงานผู้สูงอายุและวัยกลางคน” ที่เชิญชวนผู้ประกอบการจ้างคนหางานที่ว่างงาน อายุ 40 ปีขึ้นไป โครงการนี้มอบการฝึกอบรมในระหว่างทำงานให้กับผู้หางาน โดยให้เบี้ยเลี้ยงการฝึกอบรมแก่ผู้จ้างงานสูงสุด 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (ราวๆ 21,500 บาทต่อเดือน) ต่อพนักงานหนึ่งคน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน และเขายังเสนอแนะให้นายจ้างลดหย่อนภาษีในการรับสมัครคนงานผู้สูงอายุอีกด้วย

ที่สำคัญคือ เขาเรียกร้องให้ทางการฮ่องกงดูแนวทางการบริหารจัดการสังคมผู้สูงอายุจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์และญี่ปุ่น โดยชี้ให้เห็นถึงนโยบายที่ทำได้จริงของสิงคโปร์และญี่ปุ่น ที่นอกจากการให้เงินช่วยเหลือแล้ว ยังพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงมีงานทำต่อไป 

โดยพบว่าทั้งสองประเทศดังกล่าวต่างก็มีการใช้มาตรการสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีงานทำ ยกตัวอย่างเช่น มาตรการให้เครดิตภาษีรายได้จากการทำงาน, การเลื่อนการจ่ายเงินบำนาญออกไป (ขยายอายุงาน), การกำหนดกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพราะอายุ รวมถึงการให้เงินอุดหนุนนายจ้างหรือการหักลบค่าใช้จ่ายบางอย่างให้แก่นายจ้างที่จ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น 

สิงคโปร์สนับสนุนคนวัยเกษียณมีงานทำ โดยอุดหนุนเงินให้บริษัทจ้างงาน

ยกตัวอย่างการแก้ปัญหานี้ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ใช้วิธีให้เงินช่วยเหลือสำหรับบริษัทที่จ้างพนักงานสูงวัย ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถเลื่อนอายุเกษียณและอายุการจ้างงานให้ยาวนานออกไปอีก โดยเงินช่วยเหลือนี้ จะมอบให้กับบริษัทที่จัดหางานใหม่แบบพาร์ทไทม์ให้กับพนักงานที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน (หรือราวๆ 102,700 บาทต่อเดือน)

พระราชบัญญัติการเกษียณอายุและการจ้างงานซ้ำของทางการสิงคโปร์ กำหนดให้บริษัทต่างๆ จ้างพนักงานสูงวัยให้มีสิทธิ์กลับมาทำงานอีกครั้ง หลังจากที่พนักงานเหล่านั้นถึงอายุเกษียณขั้นต่ำตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 63-68 ปี ทั้งนี้พบว่าอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานสูงวัยในสิงคโปร์ พุ่งขึ้นที่ 31.5% เมื่อปีที่แล้ว

เคลวิน แทน (Kelvin Tan) หัวหน้าโครงการศึกษาการประยุกต์ใช้กับวัยชราของมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์สิงคโปร์ กล่าวว่า ทางการยังได้ส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาทักษะของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยจัดหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาและวิชาชีพ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถหางานทำได้ในทุกช่วงอายุ ต่อไปสิงคโปร์จะขยายอายุเกษียณออกไปอีก 1 ปี (เป็น 64 ปี) ภายในปี 2569 ซึ่งทางรัฐบาลก็จะสนับสนุนให้นายจ้างจ้างคนวัยเกษียณอย่างต่อเนื่อง 

“ตราบใดที่พวกเขามีสุขภาพแข็งแรงและมีความสามารถ พวกเขาจะไม่ตกงาน และการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ ดึงดูดผู้สูงวัยหลังเกษียณให้ยังทำงานต่อไป ก็ช่วยให้บริษัทประหยัดต้นทุนทางธุรกิจได้ด้วย จุดนี้เป็นสิ่งที่ฮ่องกงควรเรียนรู้ เพราะฮ่องกงกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน” เขากล่าว

ทางการญี่ปุ่นให้บริษัทปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย ส่งเสริมการจ้างงานกลุ่มคนเกษียณ

เทอร์รี เหลียง หมิงเฟิง (Terry Leung Ming-fung) ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและการสนับสนุนของ Oxfam Hong Kong เรียกร้องให้เมืองใหญ่ต่างๆ ในฮ่องกง เรียนรู้วิธีบริหารจัดการพนักงานสูงวัยจากตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะกับสภาวะสุขภาพของคนงานสูงอายุ และมอบเวลาทำงานและการจัดการที่ยืดหยุ่นให้กับพวกเขา

ในประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่นายจ้างเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายบางส่วนในการจัดหาสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีหน่วยงานที่ชื่อว่า “Silver Human Resource Centres” หรือศูนย์ทรัพยากรมนุษย์ซิลเวอร์ ถูกจัดตั้งขึ้นหลายสาขาเป็นเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานชั่วคราวและงานระยะสั้นสำหรับผู้คนทั่วไปที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในทุกๆ ชุมชน

“การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากจนให้กลับมามีงานทำ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้พวกเขาปรับปรุงสถานการณ์การเงินของตนเอง และสามารถดึงพวกเขาออกจากความยากจนได้ในที่สุด” ผู้จัดการฝ่ายวิจัยฯ กล่าว