คาโรชิ: ยังไม่มีภาษาไทย
คาโรชิ: ยังไม่มีภาษาไทย
คนที่ประสบความสำเร็จ มักปลุกเร้าผู้อื่นให้ทำงานหนัก เพราะความสำเร็จไม่เคยได้มาง่ายดาย ต้องแลกด้วยการทำงานหนักเท่านั้น
ขงจื้อ ก็พูดประมาณนี้ ฝรั่งก็บอกว่า “Hard work never killed anyone” การทำงานหนัก ไม่เคยทำให้ใครตาย แต่จะจริงหรือ เพราะขนาด โรนัลด์ เรแกน ยังเคยพูดว่า “Why take risk?”
คนที่ทำงานหนักจนตายนั้น เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เดือนที่แล้ว นางแบบรัสเซีย วัยเพียง 14 ปี ไปเดินแบบที่ประเทศจีนได้เพียง 2 เดือน คู่สัญญาให้เธอทำงานหนักมาก บางครั้ง 13 ชั่วโมงต่อเนื่อง ไม่มีเวลาพักผ่อน เธอล้มป่วยและเสียชีวิตในที่สุด
ที่ญี่ปุ่น แม่คนหนึ่งต้องสูญเสียลูกสาว เพราะทำงานหนัก เธอฟ้องศาลและคดีได้ ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปี ศาลโตเกียวพิพากษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 นี้เอง
มัทสุริ ทากาฮาชิ เป็นพนักงานของบริษัทโฆษณาเดนท์สุ แม่ของเธอกล่าวหาว่า บริษัทให้ลูกสาวและพนักงานอีก 3 คน ทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด เป็นเหตุให้ลูกสาวของเธออ่อนล้า และพุ่งหลาวลงมาจากอาคารสำนักงาน เมื่อวันคริสต์มาส ปี 2015 ด้วยวัยเพียง 24 ปี เท่านั้นเอง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การทำงานหนักและต่อเนื่อง เป็นวัฒนธรรมการทำงานสร้างชาติ ที่เหนียวแน่นของญี่ปุ่น แต่ก็นำไปสู่การเสียชีวิตบ่อยครั้ง จนเกิดคำว่า “คาโรชิ” (Karoshi) ซึ่งแปลตรงตัวว่า “เสียชีวิตเพราะทำงานหนัก” เช่นหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก หรือ ฆ่าตัวตาย
การที่แม่ของน้องมัทสุริ นำคดีขึ้นสู่ศาล จึงทำให้คดีนี้โด่งดัง และได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ในประเทศญี่ปุ่น
คำพิพากษาของศาลแห่งนครโตเกียว เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม สั่งให้เดนท์สุ จ่ายค่าเสียหายให้แก่คุณแม่ของมัทสุริ ซึ่งทนายความบอกว่า นี่แหละคือชัยชนะอย่างแท้จริง เพราะศาลได้พิพากษาแล้วว่า เป็นความผิดของเดนท์สุ อย่างชัดเจน
กรรมการผู้จัดการของเดนท์สุ กล่าวว่า “เราตระหนักถึงความรับผิดชอบ และรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เพื่อเป็นการขอโทษ บริษัทจะยกเลิกการทำงานล่วงเวลาให้หมดสิ้นไป”
ความจริงรัฐบาลญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่น ก็ตระหนักถึงปัญหาการทำงานหนักและยาวนาน จนเกิด คาโรชิ อยู่แล้ว แต่คดีของน้องมัทสุริ ทำให้กระแสเรื่องนี้แรงขึ้นอย่างมาก
กรณีของเธอ ได้สร้างกระแสสังคม จนบริษัท NHK ก็ต้องออกมายอมรับว่า นักข่าวสาวของ NHK วัย 31 ปี ที่ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2556 นั้น ก็เพราะก่อนหน้านั้นเป็นเวลา 1 เดือน เธอได้ทำงานเพิ่มขึ้นจากปกติ อีกถึง 159 ชั่วโมง จนหัวใจล้มเหลว
ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปแล้ว โดยขอให้บริษัทต่างๆ เปิดโอกาสพนักงานมีสิทธิ “สุขสันต์วันศุกร์” (Premium Friday) คือให้มีสิทธิที่จะเลิกงานในทุกวัน ศุกร์สุดท้ายของเดือน ตั้งแต่เวลา 15.00 และบางบริษัทก็ออกกฏเกณฑ์ว่า หลังจากที่พนักงานได้เดินทางออกไปจากที่ทำงานไปแล้ว พนักงานจะต้องมีเวลา “เว้นวรรค” อย่างน้อยอีกกี่ชั่วโมง ก่อนที่จะกลับมาเริ่มทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น
แต่ คาโรชิ ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง หนึ่งปีนับจนถึงเดือนมีนาคม 2560 มีคาโรชิ 191 กรณี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมี 189 กรณี ทนายความคนหนึ่ง ซึ่งทำคดีคาโรชิ มากมาย กล่าวว่าปีที่ผ่านมา คดีคาโรชิ ที่เขาทำ มีตั้งแต่แพทย์ ไปจนถึงคนขับรถบรรทุก
คำกล่าวว่า ไม่เคยมีใครเสียชีวิตเพราะงานหนัก จึงไม่จริงอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นที่ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ฯลฯ หรือไทยเราก็ตาม
ประเด็นก็คงอยู่ที่นโยบายของบริษัท และการดูแลตนเองของผู้ที่เป็นพนักงาน วันนี้บริษัทญี่ปุ่นกำลังปฏิรูปนโยบายการทำงานล่วงเวลา ส่วนการดูแลตนเอง ก็ต้องเป็นเรื่องของพนักงานแต่ละคน เพราะต่อให้ไม่ทำงานล่วงเวลา แต่ถ้าพนักงานเอาเวลาที่เหลือ ไปดื่มอย่างไร้สติ หรือเที่ยวหัวราน้ำ ชีวิตก็อาจจบก่อนเวลาอันควรได้ เช่นกัน
อย่างนี้ เขาไม่เรียกว่า “คาโรชิ” หรอกครับ เขาเรียกว่า “คุณแหละชุ่ย” เสียมากกว่า
ที่หลีกเลี่ยงยากสักหน่อยก็คือ บางอาชีพ เช่นผู้สอบบัญชี ซึ่งมักมีงานมากเป็นปกติ และหักโหมมากขึ้น ในช่วงเวลาใกล้ปิดงบบัญชี หรือที่ปรึกษาธุรกิจ ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฏหมาย วาณิชธนากร ฯลฯ ซึ่งบางครั้งไม่ได้นอนกันทั้งคืนในบางช่วงเวลา ตรงนี้แต่ละคนก็ต้องประเมินสุขภาพและดูแลตนเองให้ดี
คุณแม่ของมัทสุริชนะคดีแล้ว บริษัทก็ยอมรับผิดแล้ว ทราบไหมว่าคุณแม่ของเธอ ได้รับการชดเชยความเสียหายเท่าใด เพราะชีวิตการทำงานของเธอยังเหลืออีกราว 40 ปี เชื่อหรือไม่ว่า ศาลพิพากษาให้เดนท์สุ จ่ายค่าเสียหายให้คุณแม่ เพียง 500,000 เยน หรือ 150,000 บาท เท่านั้นเอง
คำพิพากษาระบุว่า บริษัทมีความผิด ที่ให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเกินกว่ากฏหมาย แต่มิได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของน้องมัทสุริ แต่อย่างใด ตรงนี้อาจเป็นเหตุให้การกำหนดค่าเสียหาย เป็นจำนวนเพียงน้อยนิดก็ได้ จนทำให้คุณแม่ของเธอ ยังต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป
ประเทศไทยเรา ก็มีเหตุการณ์แบบนี้อยู่บ้าง เช่นกรณีของคุณหมอบอล เป็นต้น แต่โดยรวม สังคมคงยังไม่ค่อยมองว่าเป็นปัญหาใหญ่เท่าใดนัก และคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังใช้ชีวิตแบบ 3 ส. คือ สะดวก สบาย สนุก เราไม่เครียดมากกับชีวิต คนไทยยิ้มง่าย และชาติไหนก็ยิ้มไม่ได้อย่างเรา
แต่ถ้าเราอยู่กันไปเรื่อยๆ ทำงานแบบสบายๆ ไม่เครียด ก็เป็นสัญญาณอันตรายของการพัฒนาประเทศเช่นกัน เพราะการทำงานหนัก เป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่อย่าหนักจนตึงและขาด เท่านั้นเอง
ไม่ใช่ญี่ปุ่นเท่านั้น ที่มีคำว่า “คาโรชิ” เกาหลีก็มีคำว่า “กวาโรซ่า” และจีนก็มีคำว่า “กั้วเหล่าสึ” ซึ่งเป็นคำที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน และมีความหมายเดียวกัน
ก็ได้แต่ภาวนาครับ ว่าจะไม่ถึงวันที่ไทยเรา ต้องบัญญัติศัพท์สั้นๆแบบเดียวกันนี้ ในภาษาไทย