เลือกหุ้นตามแหล่งรายได้ แนวคิดใหม่ของการลงทุน
เลือกหุ้นตามแหล่งรายได้ แนวคิดใหม่ของการลงทุน
ปัจจุบัน การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการเชื่อมโยงกันมากกว่าในอดีต หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เนื่องจากการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ รวมถึงทรัพยากรทั้งหลายสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นตามเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งสามารถขยายผลกำไรและรายได้จากหลากหลายประเทศและภูมิภาค นอกเหนือจากรายได้ในประเทศที่บริษัทตั้งอยู่ ตัวอย่างเช่น ดัชนี S&P 500 ประกอบด้วยหุ้น Blue Chip 500 บริษัท โดยในบรรดา 500 บริษัทนี้ มี 312 บริษัทที่มีรายได้จากประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศสหรัฐฯ และมีถึง 12 บริษัทที่สร้างรายได้จากนอกประเทศสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 85% ของรายได้บริษัท ทั้งนี้ หากพิจารณารายได้รวมทั้งหมดของ 500 บริษัทในดัชนี S&P 500 ในปี 2016 จะพบว่า 43.2% ของรายได้รวม เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศสหรัฐฯ
หมายเหตุ: ข้อมูลจาก S&P 500 2016: Global Sales Report
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตของบริษัทใดบริษัทหนึ่งในโลกยุค Globalization นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่บริษัทตั้งอยู่ (Country of Domicile) เพียงอย่างเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่บริษัทนั้นๆ ไปดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น หากผู้ลงทุนเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และวางแผนจะลงทุนในหุ้น S&P 500 ของสหรัฐฯ เพื่อจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Capture Growth) แต่ในความเป็นจริงแล้ว หุ้น S&P 500 มีสัดส่วนรายได้เพียง 57% ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในประเทศ ดังนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น S&P 500 จะไม่ได้สูงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างที่คาดไว้แต่จะขึ้นกับผลตอบแทนจากประเทศอื่นๆ ที่บริษัทเหล่านี้ไปลงทุนด้วย
ในอีกหนึ่งตัวอย่าง หากผู้ลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนจะมีการเติบโตที่ดี และต้องการจะไปลงทุนในหุ้นของประเทศจีน แต่มีความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดสำหรับผู้ลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การลงทุน ความยากง่ายในการเข้าถึงตลาด รวมไปถึงการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจเลือกใช้หุ้นใน Hong Kong ที่มีรายได้จากการทำธุรกิจในจีนเป็นทางเลือกแทนการลงทุนตรงในหุ้นของประเทศจีน เพื่อ Capture Growth ที่ต้องการได้แทน
ด้วยลักษณะการดำเนินธุรกิจในระดับ Global Scale ของบริษัทต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้มีแนวคิดในการลงทุนรูปแบบใหม่ที่มองในแง่รายได้จากการดำเนินงานเป็นหลัก (Revenue Based Approach) หรือที่มักเรียกว่า Economic Exposure เกิดขึ้น กล่าวคือ หากผู้ลงทุนต้องการได้ประโยชน์หรือต้องการผลตอบแทนจากการเติบโตของบริษัทในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ก็จะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแหล่งรายได้ของบริษัทมาจากภูมิภาคดังกล่าวในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ แทนการลงทุนตรงในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดของภูมิภาคดังกล่าว
ด้วยแนวคิดดังกล่าว ในปัจจุบันบริษัทผู้จัดทำดัชนี (Index Provider) ชั้นนำหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น FTSE, MSCI หรือ S&P ได้สร้างและเผยแพร่ดัชนีในรูปแบบ Economic Exposure Index ที่เป็นการรวบรวมรายชื่อหุ้นที่สร้างรายได้ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่มีแนวคิดนี้ เช่น ดัชนี Russell Developed Large Cap EM GeoExposure Index ที่พัฒนาโดย FTSE เป็นการรวบรวมรายชื่อหุ้นที่อยู่ภายในดัชนี Russell Developed Large Cap Index และมีแหล่งรายได้จากกลุ่มประเทศ Emerging Market ในระดับที่มีนัยสำคัญ มาจัดทำเป็นดัชนี เพื่อใช้เป็นตัวเทียบวัดและเป็นรายชื่อหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในบริษัทที่จะเติบโตจากตลาด Emerging Market
แนวคิดการลงทุนแบบยึดแหล่งรายได้แทนแหล่งที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนของเราได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เรามองว่ากลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง (มากกว่า 6% ต่อปีในปี 2017 และจะเติบโตในระดับสูงกว่า 6% ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2019 ตามการคาดการณ์ของ World Bank) ทำให้มีความสนใจน่าลงทุน รวมทั้งกลุ่มผู้ลงทุนจากทั่วโลกยังให้ความสนใจลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) ในประเทศกลุ่มนี้ อย่างต่อเนื่อง โดยมีระดับสูงเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 ในขณะที่ตลาดทุนของกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา มีหุ้นจดทะเบียนไม่มาก (ยกเว้นตลาดเวียตนาม) และการลงทุนในตลาดเหล่านี้ อาจมีข้อจำกัดในด้านของการได้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันการณ์ บทวิเคราะห์ หรืออัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้น ถ้าหากเราเชื่อมั่นว่าเศรฐกิจของประเทศ CLMV จะเติบโตอย่างมาก วิธีการลงทุนของเราในประเทศเหล่านี้ก็อาจทำได้โดยการไปลงทุนในตลาดทุนเหล่านี้โดยตรง หรือไม่ก็ลงทุนในบริษัทของไทยที่มีรายได้จากกลุ่มประเทศเหล่านี้ จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2559 พบว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย จำนวน 130 บริษัท นั้นมีการลงทุนโดยตรงหรือมีรายได้จากกลุ่มประเทศ CLMV ตัวอย่างเช่น AMATAVT ที่สร้างรายได้ทั้งหมดจากการเปิดนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม เป็นต้น
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการรวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทยที่เปิดเผยว่ามีการลงทุนหรือรายได้จากกลุ่มประเทศเหล่านี้แล้วในเวปไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ แต่ในปีหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์จะมีการพัฒนาดัชนี CLMV Economic Exposure Index ซึ่งประกอบด้วยหุ้นจดทะเบียนในตลาด SET ที่มีสภาพคล่องและมีแหล่งรายได้จากกลุ่มประเทศ CLMV ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยบริษัทจดทะเบียน เพื่อเผยแพร่ให้เป็นตัวเทียบวัดสำหรับการลงทุนใน CLMV ให้แก่ผู้ลงทุน และสามารถต่อยอดนำดัชนีดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น กองทุนรวม (Mutual Fund) หรือกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนในการลงทุนกลุ่มประเทศ CLMV ได้อีกด้วย