ปลดพันธนาการความรู้ “สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์”
คณาจารย์สายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ จำนวน 324 ท่าน จากมหาวิทยาลัย 48 สถาบันได้ร่วมกันลงนามในการคัดค้าน
การใช้อำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558” คณาจารย์ทั้งหมดเห็นว่าการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานนี้จะก่อให้เกิดพันธนาการความรู้สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไม่ให้สร้างสรรค์ปัญญาให้แก่สังคม
ข้อกำหนดเกี่ยวกับผลงานทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ที่จะมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม หรืออาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ว่าจะต้อง “มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่มีชื่อ อยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ ซึ่งตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง” ส่วนในระดับปริญญาเอกจะต้อง “มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติซึ่งตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 5 เรื่อง”
แม้ว่าประกาศกระทรวงฯข้างต้นนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้บริหารหลักสูตรต่างๆ สามารถขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยได้ในกรณีที่จำเป็นต้องแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ แต่ข้อกำหนดในเรื่องนี้ก็จะสร้างปัญหาอย่างยิ่งแก่การบริหารหลักสูตรของภาควิชาและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้
1. นักวิชาการในหลายสาขาวิชาไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในวารสารระดับนานาชาติ เนื่องจากต้องการให้ผลงานของตนตอบสนองความสนใจและความจำเป็นของคนไทยและสังคมไทย และนักวิชาการจำนวนมากก็ให้ความสำคัญแก่การเผยแพร่ผลงานในรูปแบบที่หลากหลาย มิใช่ในรูปแบบของบทความทางวิชาการเท่านั้น การหานักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานตีพิมพ์ตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก
ในประเด็นนี้จำเป็นต้องกล่าวด้วยว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา วงวิชาการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไทย ได้สร้างองค์ความรู้เพื่อตอบสนองความจำเป็นของสังคมไทย แต่ได้กลายเป็นพลังที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ในระดับสากล โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย แต่ข้อกำหนดดังกล่าว เท่ากับผลักดันให้วงวิชาการไทยละทิ้งสังคมไทย เพราะมุ่งให้ความสำคัญแก่ผู้มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ โดยคิดว่าเป็นผู้มีความรู้ระดับสูงและมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการเหนือกว่า ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ขาดความตระหนักว่า การตีพิมพ์ในระดับนานาชาตินั้นเป็นการตอบสนองต่อกลุ่มผู้บริโภคความรู้อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่คนไทย
2. ถ้ายึดข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด จะเกิดปัญหาตามมาหลายประการต่อการทำวิทยานิพนธ์ในสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิมีผลงานตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อวิทยานิพนธ์ การศึกษาในประเด็นใหม่หรือศึกษาด้วยมุมมองใหม่ก็จะเกิดขึ้นแทบไม่ได้เลย
ตรงกันข้าม การผลิตความรู้ของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกจะต้องถูกตีกรอบให้อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ วิธีวิทยา หรือองค์ความรู้ที่มีผู้อื่นได้ศึกษาไว้มากแล้ว วิทยานิพนธ์ฉบับใดที่ต้องการจะเปลี่ยนแนวทางการอธิบายไปในทางโต้แย้งความรู้ที่ “ผู้รู้” เสนอไว้ ก็อาจจะไม่สามารถทำได้
ในที่สุดแล้วการเลือกประเด็นที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ ก็อาจถึงกับต้องเลือกเฉพาะประเด็นที่มั่นใจว่าจะหาผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมหรือมาเป็นกรรมการสอบได้เท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยก็ไม่อาจทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญต่อความก้าวหน้าทางวิชาการได้เลย
นอกจากนั้นแล้ว ข้อกำหนดตามประกาศข้างต้น ทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์ความรู้เพื่อสังคมอีกหลายด้าน เช่น ผู้เกี่ยวข้องต้องใช้เวลาไปในการติดต่อหาผู้ทรงคุณวุฒิตามประกาศ ในกรณีที่ไม่สามารถหาผู้ทรงคุณวุฒิในจังหวัดเดียวกัน แต่จำเป็นต้องเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ หรือการขออนุมัติแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากสภามหาวิทยาลัย ในกรณีที่ภาควิชาไม่สามารถหาผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญได้ เป็นข้อกำหนดที่สร้างความยุ่งยากแก่หลายฝ่าย
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ ศธ. ควรกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นและเกื้อหนุนให้เกิดความคล่องตัว ความสะดวก และประสิทธิภาพในการสร้าง การถ่ายทอด และการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ ควรมีความเคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพของมหาวิทยาลัยและชุมชนทางวิชาการมากขึ้น ไม่ควรออกกฎระเบียบหรือประกาศต่างๆ ที่เน้นการกำกับควบคุมเสมือนนักวิชาการและมหาวิทยาลัยเป็นเด็กทารก
นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญแก่เสรีภาพในการบริหารจัดการหลักสูตร รวมทั้งเสรีภาพในทางวิชาการอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ให้แก่โลกและสังคมไทย
คณาจารย์ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และศธ. เร่งพิจารณาทบทวน เรื่อง “เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558” โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากคณาจารย์ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ ที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของศาสตร์แต่ละกลุ่ม ก่อนที่จะร่างกฎระเบียบใดๆ ออกมาบังคับใช้ในอนาคต และจำเป็นที่จะต้องตั้ง “คณะกรรมการวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์” ในการทำงานร่างกฎเกณฑ์ที่จะบังคับใช้ในอนาคต
ความรู้สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้จรรโลงสังคมไทยให้เคลื่อนมาถึงวันนี้ แต่กำลังถูกทำลายลงด้วยความปรารถนาเพียงแค่การจัดลำดับชั้นมหาวิทยาลัยจากมาตรฐานกลวงๆ ของระบบการศึกษาในโลกทุนนิยมเสรนิยมใหม่ที่ทำการศึกษาเป็นการค้าเท่านั้น
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการต้องคิดถึงอนาคตของสังคมไทยให้มากกว่านี้นะครับ