เปิดกลยุทธ์ดึงนักลงทุนต่างชาติ ระดมทุนผ่านตลาดหุ้นอินเดีย
เมื่อกลางเดือน ก.พ. กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนด้านการเงินของไทย ประกอบด้วยผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย สำนักกรรมการกำกับหลักทรัพย์แต่ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย พบปะหน่วยงานด้านการเงินต่าง ๆ ในเมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการและเทคโนโลยีด้านการเงิน ซึ่งหน่วยงานหนึ่งที่น่าสนใจ คือ National Stock Exchange หรือ NSE เป็น 1 ใน 3 ตลาดหุ้นใหญ่ของอินเดีย ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับตลาดหุ้นและการระดมทุนของอินเดียให้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันตลาดทุนอินเดีย ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าตลาดทุนไทยหลายเท่าตัว โดยมีขนาดมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์ และมีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 3,500 บริษัท ในขณะที่ตลาดทุนไทยมีขนาด Market Capitalization เพียงราว 550 ล้านดอลลาร์ และมีบริษัทจดทะเบียนรวม 688 บริษัท จึงถือได้ว่า ตลาดทุนอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถระดมทุนได้มาก อย่างไรก็ดี ตลาดทุนของอินเดียและไทยต่างมีโครงสร้างของผู้ร่วมตลาดที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือมีผู้ลงทุนรายย่อยเป็นสมาชิกหลักมากกว่าครึ่ง และมีผู้ลงทุนต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25-30% ของตลาด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการระดมทุกอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากจะหยิบยกในวันนี้ คือกลยุทธของประเทศอินเดียในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในตลาดทุนอินเดียเพิ่มขึ้น โดยจะขอเล่าถึ 2 กลยุทธที่น่าสนใจ ดังนี้
1. กลยุทธการรวมศูนย์การซื้อขายสินค้าทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับหุ้นอินเดียกลับเข้ามาในประเทศ กลยุทธนี้เริ่มต้นประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2561 โดยตลาดหุ้นใหญ่ 3 แห่งของอินเดีย ประกอบด้วย National Stock Exchange (NSE) Bombay Stock Exchange (BSE) และ Metropolitan Stock Exchange (MSE) ได้ร่วมกับประกาศไม่เผยแพร่ข้อมูลราคาหุ้นอินเดียให้แก่ตลาด (Exchange) ในต่างประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ส่งผลให้ผู้ลงทุนต่างชาติที่เคยซื้อขายสินค้าอนุพันธ์ (Derivatives) ที่อ้างอิงกับราคาหุ้นอินเดียในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐ และในอีกหลายประเทศ ต้องหันมาลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นของอินเดียแทน และทางการอินเดียก็เชื่อมั่นอย่างมากว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดอินเดียเพิ่มขึ้นในอนาคต
2. กลยุทธการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทุนต่างชาติในการนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดทุนอินเดีย กลยุทธนี้เน้นการพัฒนาความสามารถด้านระบบงานและการเชื่อมต่อให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถนำเงินเข้ามาลงทุนได้โดยสะดวก และการพัฒนาเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ลงทุนต่างชาติ อาทิ การให้บริการสัญญาซื้อขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้า (USD Futures) ซึ่งเปิดให้ผู้ลงทุนสามารถใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) ได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันอินเดียกำหนดให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้รายละไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากข้อกำหนดเมื่อ พ.ศ. 2557 เมื่อครั้งที่อินเดียเริ่มเปิดให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขาย “USD Futures” ได้เป็นเท่าตัว โดยในขณะนั้นอินเดียได้กำหนดให้ลงทุนได้ไม่เกินรายละ 10 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น
นอกจากนี้ อินเดียยังได้เปิดตัวโครงการ “International Finance Tech City” ที่รัฐคุชราต โดยกำหนดให้ International Finance Tech City ที่รัฐคุชราตกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone-SEZ) ที่เปิดโอกาสให้บริษัทและผู้ลงทุนต่างชาติ รวมถึงบริษัทภายในประเทศ สามารถดำเนินธุรกิจด้านการเงินภายใต้สกุลเงินดอลลาร์ ได้อย่างเสรี รวมทั้งมีการผ่อนคลายกฏระเบียบในการดำเนินธุรกิจและให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีมากยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดให้ผู้ลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ความมุ่งมั่นของรัฐบาลอินเดียในการพัฒนาการระดมทุนผ่านยุทธวิธีต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นและทิศทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ อินเดียจึงเป็นประเทศที่น่าจับตามอง ศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจีนในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.จักรพันธ์ ติระศิริชัย ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ร่วมเดินทางกับคณะในครั้งนี้ และได้ถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ผู้เขียนได้มาปรับใช้และถ่ายทอดความรู้ที่น่าสนใจนี้ให้แก่ท่านผู้อ่านทุกคน
โดย...
เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์
เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี