นโยบายสำหรับเมืองท่องเที่ยวรอง

นโยบายสำหรับเมืองท่องเที่ยวรอง

ในยุคที่การท่องเที่ยวกำลังเป็นเศรษฐกิจขาขึ้นและรัฐบาลกำลังสนับสนุนเมืองรอง คำถามก็คือว่า อะไรเป็นเมืองหลัก อะไรเป็นเมืองรอง เมื่อผู้เขียน

ลงบทความเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2561 เรื่องทำไมถึงต้องเที่ยวเมืองรอง? ก็มีคำถามว่าอะไรเป็นเมืองรอง ปัจจุบันมี 22 จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด คือ จ.นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และปทุมธานี และอีก 15 จังหวัดที่มีผู้มาเยือนสูงสุด โดย 15 จังหวัดแรก ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา เพชรบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น พังงา และ สระบุรี (ข้อมูลผู้มาเยือนปี 2559) แต่มีเมืองรองถึง 55 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนมากและน่าจะมีความหลากหลายเกินกว่าจะใช้นโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวนโยบายเดียวกันได้เหมือนกัน

รัฐบาลดูเหมือนจะใช้จำนวนผู้มาเยือน หรือรายได้เป็นการแบ่ง 22 : 55 เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก : จังหวัดท่องเที่ยวรองแล้ว เราลองมาหาเกณฑ์เพิ่มเติมที่น่าจะนำมาซอยย่อยกลุ่มเมืองรอง ซึ่งก็น่าจะเป็นการพิจารณาศักยภาพทางการตลาดและความพร้อมในการรองรับของจังหวัด โชคดีที่กรณีนี้ มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะมีดัชนีชี้วัดศักยภาพดังกล่าวคือ ดัชนีผู้มาเยือน ซึ่งวัดขนาดเสถียรภาพและแนวโน้มตลาดท่องเที่ยว และดัชนีเจ้าบ้านซึ่งวัดความพร้อมในเกือบทุกด้าน ล้อตามดัชนี TTCI (The Travel & Tourism Competitiveness Index) ซึ่งจัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) เช่น ตัวชี้วัดด้านอุตสาหกรรมรองรับ ที่พัก โรงแรม สาธารณูปโภคพื้นฐาน สนามบิน สถานีรถไฟ รถสาธารณะ เป็นต้น โดยดัชนีนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้สนับสนุนให้มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะปรับข้อมูลเดิมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้นำจังหวัดต่างๆ มาจัดลำดับตามเกณฑ์ศักยภาพ

เมื่อเอาจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม 10 จังหวัด บวกกับจังหวัดที่มีลำดับดัชนีผู้มาเยือนและดัชนีด้านศักยภาพการรองรับใกล้เคียงกัน (ไม่เกิน 4 ลำดับ) 10 จังหวัด กลุ่มนี้คือจังหวัดที่มีอุปสงค์และอุปทานใกล้เคียงกัน ไม่ควรไปกระตุ้นอุปสงค์มาก เอากำลังกายและกำลังใจไปกระตุ้นกลุ่มที่อุปสงค์ต่ำดีกว่า เมื่อตัดกรุงเทพมหานครออกไปจะเหลือ 55 จังหวัดเช่นกัน และนำ 55 จังหวัดนี้มาจัดกลุ่มใหม่ตามลำดับของดัชนีทั้ง 2 ด้าน โดยกลุ่มเมืองรองกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีลำดับความพร้อมในการรองรับหรืออุปทาน (ดัชนีเจ้าบ้าน) สูงกว่าลำดับด้านอุปสงค์ (ดัชนีผู้มาเยือน) มาก ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ควรโปรโมท (Promote) ด้านการตลาด ให้มีผู้ไปเยือนมากขึ้น กลุ่มนี้มี 28 จังหวัดด้วยกัน ในกลุ่มนี้มีเมืองต้องห้ามพลาด และเมืองต้องห้ามพลาดพลัส ถึง 11 จังหวัด ซึ่งเป็นเมืองที่กำลังโปรโมทด้านการตลาด จึงนับว่ามาถูกทางแล้ว แต่เมืองที่ควรทำการตลาดแต่ยังไม่ได้ทำอีกหลายจังหวัด เช่น จ.เชียงราย ที่มีความพร้อมอยู่ในลำดับ 12 แต่มีผู้มาเยือนอยู่ในลำดับ 23 สุโขทัยที่มีลำดับศักยภาพการรองรับอยู่ลำดับที่ 21 แต่มีผู้ไปเยือนน้อย โดยมีลำดับดัชนีผู้มาเยือนคือลำดับที่ 43 มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 42 ของประเทศในปี 2559 ทั้งๆ ที่มีสิ่งดึงดูดใจเป็นมรดกโลก

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรเป็นเมืองรองที่มีผู้มาเยือนมากอยู่แล้ว คือติดอันดับดัชนีผู้มาเยือนสูง แต่มีความพร้อมในการรองรับ ซึ่งวัดจากดัชนีเจ้าบ้านต่ำ กลุ่มนี้ไม่ควรโปรโมทด้านการตลาดมากเกินไป จะต้องเข้าไปจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ให้มีกำลังรองรับสอดคล้องกับความต้องการ (ตามตารางที่ 1)

นโยบายสำหรับเมืองท่องเที่ยวรอง

กลุ่มนี้มีหลายจังหวัด อาทิ ชุมพร ตราด นครปฐม เลย ระยอง พัทลุง และระนอง ซึ่งเป็นเมืองต้องห้ามพลาด และเมืองต้องห้ามพลาด (พลัส) แต่ก็ยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีผู้มาเยือนมาก แต่ความพร้อมของเจ้าบ้านต่ำ เช่น แม่ฮ่องสอน นครนายก และเพชรบุรี ที่การรองรับตามไม่ทันอุปสงค์ หรือในกรณีในกลุ่มที่ต้องอัพเกรดห่วงโซ่อุปทาน หรือขยายอุปทานก็ต้องไปดูว่าจังหวัดเหล่านี้มีจุดอ่อนที่ห่วงโซ่ตัวไหน ทั้งนี้จากการเข้าไปดูดัชนีย่อยพบว่า นครนายก ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ส่วนแม่ฮ่องสอน ก็เป็นอย่างที่ทราบกันอยู่ คือเสียเปรียบทั้งด้านการคมนาคมขนส่งทางบก และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อยู่ในลำดับที่ 76 ส่วนเพชรบุรี ดูเผินๆ เหมือนว่าจะพร้อมทุกอย่าง แต่ไปมีปัญหาด้านสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว อยู่ในลำดับที่ 57 ของประเทศ โดยมีปัญหามากในด้านความปลอดภัย (71) สุขภาพอนามัย (59) และคุณภาพสิ่งแวดล้อม (15) โดยเฉพาะด้านคุณภาพน้ำทะเล และปริมาณขยะในพื้นที่

การแยกแยะเมืองรองเป็นกลุ่มย่อยๆ จะทำให้การใช้นโยบายตรงเป้ายิ่งขึ้น และนโยบายจะไม่กลายเป็นตัวการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ตามมา!