มาตรฐานการประเมินมูลค่า
มาตรฐานการประเมินมูลค่า
เมื่อพูดถึงการประเมินมูลค่าส่วนใหญ่ทราบดีว่าวิธีการประเมินมูลค่ามี 3 วิธี การประเมินโดยคิดลดกระแสเงินสด ( Income Approach หรือ DCF) การเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) และการอ้างอิงมูลค่าสินทรัพย์ (Asset-based Approach) ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป
วิธีประเมินโดยคิดลดกระแสเงินสด (DCF) ใช้ข้อมูลสมมติฐานประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตซึ่งขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ธุรกิจและปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ และอัตราคิดลด (Discount rate) ที่เหมาะสม สิ่งท้าทายคือปัจจัยเหล่านี้มีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้ อัตราคิดลด (Discount rate) ซึ่งแม้จะถูกคำนวณโดยใช้ทฤษฎีเดียวกัน (CAPM) ก็อาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น การอ้างอิงค่าเบต้า (Beta) จากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน การใช้อัตราผลตอบแทนตลาด (Rm) ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน หรือบางกรณีอาจมีการใช้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ตามมูลค่าตามบัญชีแทนการใช้ข้อมูลจากกลุ่มบริษัทเปรียบเทียบที่จดทะเบียนในตลาดฯ ด้วยความหลากหลายของข้อมูลตัวแปรที่ใช้และวิธีการนำมาใช้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ผลการประเมินมูลค่าจะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ในระดับนานาชาติ มีมาตรฐานการประเมินมูลค่าที่นักการเงินส่วนใหญ่นำมาอ้างอิง คือ มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 13 : การวัดมูลค่ายุติธรรม (IFRS 13) และ International Valuation Standard (IVS) ทั้งนี้ IFRS 13 เป็นมาตรฐานสำหรับกรณีที่ต้องวัดมูลค่ายุติธรรม ในขณะที่ IVS มักใช้ในการประเมินมูลค่าในขอบเขตงานที่กว้างกว่า มาตรฐานทั้ง 2 ฉบับมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งบการเงินและรายงานการประเมิน โดยสร้างความโปร่งใสและมาตรฐานแนวทางการประเมินมูลค่า
สาระสำคัญของมาตรฐานทั้งสองฉบับนี้สามารถสรุปได้ดังนี้
IFRS 13 : มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) คือ ราคาที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์ หรือจ่ายเพื่อโอนหนี้สินในรายการที่เกิดขึ้นในสภาพปกติระหว่างผู้ร่วมตลาด (Market Participant) ณ วันที่มีการวัดมูลค่า การวัดมูลค่ายุติธรรมตามมาตรฐานฉบับนี้มีสมมติฐานว่าการทำรายการเกิดขึ้นในตลาดหลัก (Principal Market) และในกรณีที่ไม่มีตลาดหลักก็ต้องเป็นตลาดที่ผู้ขายคาดว่าจะได้มูลค่าที่สูงสุดและมีค่าใช้จ่ายในการทำรายการน้อยที่สุด (Most Advantageous Market) ตามมาตรฐานฉบับนี้กิจการต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้
- ตลาดหลัก หรือมูลค่าที่ผู้ขายคาดว่าจะได้รับสูงสุดในการเข้าทำรายการ (Principal Market or Most Advantageous Market)
- สำหรับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงินให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้ (Highest and Best Use)
- วิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมต้องใช้สมมติฐานที่ผู้ร่วมตลาดคำนึงถึงในการกำหนดราคาสินทรัพย์
วิธีการประเมินมูลค่าที่นิยมใช้มี 3 วิธี คือ วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด วิธีต้นทุน และวิธีส่วนลดกระแสเงินสด กิจการสามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งวิธีในการประเมินมูลค่า
นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับนี้ได้กำหนดลำดับชั้นการวัดมูลค่ายุติธรรมเป็น 3 ระดับ โดยให้ลำดับความความสำคัญสูงสุด Level 1 กับราคาเสนอซื้อขายในตลาดที่มีสภาพคล่อง โดยข้อมูลต้องนำมาใช้โดยไม่ต้องปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่ายุติธรรมที่น่าเชื่อถือที่สุด การให้ความสำคัญ Level 2 กับการอ้างอิงข้อมูลอื่นที่สังเกตได้ในตลาดหลักไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และการให้ความสำคัญ Level 3 กับการอ้างอิงข้อมูลที่ไม่สามารถสังเกตได้ในตลาดหลัก ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ต้องสะท้อนถึงข้อมูลและประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ร่วมตลาดทั่วไปคำนึงถึงและใช้ในการวัดมูลค่า
IVS : มูลค่าตลาด (Market Value) คือ จำนวนเงินโดยประมาณของสินทรัพย์หรือหนี้สินที่มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เต็มใจขายกับผู้เต็มใจซื้อ ณ วันที่ประเมินมูลค่า ภายใต้เงื่อนไขการซื้อขายของผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน หลังจากที่มีการทำการตลาดอย่างเหมาะสม มีเวลาตัดสินใจเพียงพอ และมีความรอบรู้ในทรัพย์สินนั้นของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยไม่ถูกบังคับให้เข้าทำรายการ วิธีการประเมินราคาตามมาตรฐาน IVS มี 3 วิธี คล้ายคลึงกับ IFRS 13 ผู้ประเมินราคาอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหากมีความมั่นใจถึงความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของวิธีการที่ใช้นั้น โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและสถานการณ์ต่าง ๆ ในการประเมินราคา อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินราคาควรพิจารณาวิธีการประเมินที่มากกว่าหนึ่งวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อบ่งชี้ของมูลค่า
ข้อสังเกต
คำจำกัดความของมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) กับมูลค่าตลาด (Market Value) ตามนิยามของมาตรฐานทั้ง 2 ฉบับมีความคล้ายคลึงกัน โดยระบุว่าเป็นมูลค่าในมุมมองของผู้ร่วมตลาดและไม่ใช่มูลค่าของผู้ลงทุนคนใดคนหนึ่ง ผู้ร่วมตลาดคือผู้เต็มใจซื้อและผู้เต็มใจขาย ซึ่งมีความรอบรู้และเข้าใจในทรัพย์สินนั้น โดยมีความเต็มใจและจูงใจเพื่อให้เกิดการซื้อขายโดยไม่ได้ถูกบังคับ
ในบางกรณีผู้ประเมินบางรายนำผลประโยชน์ร่วมกัน (Synergies) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมาเป็นส่วนประกอบในการประเมินมูลค่า ซึ่ง IFRS 13 ไม่อนุญาตให้รวมปัจจัยเหล่านั้นหากผู้ร่วมตลาดไม่คาดว่าจะเกิดผลประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ในขณะที่ IVS เห็นว่าการประเมินมูลค่าที่นำผลประโยชน์ร่วมกันเข้ามารวมนั้นไม่ถือว่าเป็นมูลค่าตลาด (Market Value) แต่เสมือนว่าเป็นมูลค่าของผู้ลงทุนเจาะจง (Investment Value)
แม้ว่ามาตรฐานทั้ง 2 ฉบับอนุญาตให้ใช้วิธีการประเมินมูลค่าเหมือนกัน แต่ IFRS 13 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงลำดับความสำคัญในการวัดมูลค่ายุติธรรม กล่าวคือ Level 1 อ้างอิงราคาเสนอซื้อขายในตลาดที่มีสภาพคล่อง และหากไม่มีข้อมูลดังกล่าว จึงใช้ Level 2 ซึ่งอ้างอิงวิธีเปรียบเทียบในตลาด ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบจึงใช้ Level 3 ซึ่งมักอ้างอิงการประเมินโดยวิธีคิดลดกระแสเงินสด ประเด็นสำคัญคือสมมติฐานที่ใช้ควรเป็นสมมติฐานที่ผู้ร่วมตลาดโดยทั่วไปพึงใช้ ไม่ใช้สมมติฐานของผู้ลงทุนเฉพาะราย อัตราคิดลดก็ควรสะท้อนความเสี่ยงของผู้ร่วมตลาดโดยทั่วไปเช่นกัน ในทางกลับกับวิธีการประเมินมูลค่าตามมาตรฐาน IVS มีความยืดหยุ่นกว่า สามารถใช้วิธีการที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หากแต่หลักการของผู้ร่วมตลาดยังคงต้องคำนึงถึงในการประเมินมูลค่าตลาดเช่นกัน
ในไทยได้มีการใช้มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 13 (TFRS 13) ซึ่งมีเนื้อหาเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดย IFRS 13 สำหรับมาตรฐาน IVS ยังไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการในไทย ซึ่งผู้มีส่วนร่วมน่าจะพิจารณานำมาตรฐาน IVS มาปรับใช้ในอนาคต