4ปีคสช.‘ระบบพวกพ้อง’ ดัชนีชี้วัดปัญหาคอร์รัปชัน
22 พ.ค.ครบรอบ4ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เข้ามาบริหารประเทศ
โดยหนึ่ง
นโยบายสำคัญ ที่ถูกหยิบยกมาพูดนับตั้งแต่เข้าควบคุมอำนาจคือ การขจัดการทุจริตและปัญหาคอร์รัปชัน
ตลอด4 ปีที่ผ่านมาแม้คสช.จะออกมาตรการต่างๆซึ่งมีการบังคับใช้ไปแล้วในหลายเรื่องเช่น การใช้คำสั่งมาตรา 44 กว่า10 ฉบับดำเนินการกับข้าราชการที่เข้าข่ายทุจริตกว่า300ราย,การมี“รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” รวมถึงการออกกฎหมายเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการปราบโกง แต่ทว่าเสียงท้วงติงในเรื่อง“2มาตรฐาน” ยังคงปรากฏออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง
วันก่อนมีโอกาสได้พูดคุยกับ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เจ้าตัวได้สะท้อน4ปีคสช.ต่อการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ว่า 2ปีแรกคสช.มีผลงานที่เด่นชัดในหลายประการ แต่พอมาช่วง2ปีหลังกลับเริ่มมีความไม่เข้มแข็งเพราะมีเรื่องการตรวจสอบคนกันเองเข้ามาเกี่ยวข้อง และแม้ว่าองค์กรบางองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบจะได้รับการติดดาบให้มีอำนาจในการดำเนินการที่รวดเร็ว แต่การดำเนินการไม่มีทางสมบูรณ์100% หากผู้ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติไม่นำมาบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง
ขณะที่ข้อมูลจาก องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(IT) ได้เปิดเผยคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) โดยในช่วง4ปีคสช.พบว่า ปี2557 ไทยได้38 จาก100คะแนนอยู่อันดับที่85 ของโลก ปี2558 ไทยได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 76 ของทั่วโลก ปี2559 ไทยได้35 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 ของทั่วโลก และ ปี 2560 ไทย ได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่96ของโลก
ค่า CPI ที่ออกมาค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับความเห็นจากประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะหากดูตัวเลขทั้ง4ปีจะเห็นว่า ในช่วง2ปีหลังประเทศไทยมีค่าCPIที่ลดลง ซึ่งมีการมองว่าส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลายกรณีก่อนหน้านี้ ยิ่งไปกว่านั้นกรรมการบางองค์กรยังถูกครหาว่า มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับคนในรัฐบาลจนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่มีความคืบหน้าตามที่ควรจะเป็น
ข้อครหาเกี่ยวกับ“ระบบพวกพ้อง” จึงกลายเป็นประเด็นที่อาจทำให้รัฐบาลและคสช.สะดุดขาตัวเองในท้ายที่สุด!!...