“ประชาธิปไตย พลังงาน: พลังงาน 4.0”
“ประชาธิปไตย พลังงาน: พลังงาน 4.0”
เขาว่ากันว่า คนเราเริ่มรู้จักการใช้พลังงาน ก็น่าจะสมัยที่เราเอาหินสองก้อนมากระทบกัน แล้วมาจุดให้กิ่งไม้ ใบไม้ติดไฟ เพื่อการหุงต้ม ทำให้อาหารสุกน่ากินขึ้น ใช้เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย หรือแม้กระทั่งใช้ป้องกันตัว ซึ่งก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น หรือในศัพท์สมัยนี้คือ พลังงาน 1.0 กระมัง อันนี้เห็นว่าเกิดขึ้นมากว่า 6 แสนปีแล้ว
จนกระทั่งในช่วง ค.ศ.1300 ตามประวัติศาสตร์ว่ามีอินเดียนแดงชนเผ่า Hobi เป็นกลุ่มแรกๆ ที่รู้จักถ่านหินและนำมาใช้ แต่กว่าชาวยุโรปและชนชาติที่เจริญแล้วจะเริ่มทำเหมืองถ่านหินก็อีกสามร้อยปีให้หลัง คือในช่วงศตวรรษ 1600-1700 และก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ Industrial Revolution ในช่วงปลาย 1750 ถึงต้น 1800 ซึ่งก็คงจะเรียกว่าอุตสาหกรรม 1.0 ได้และน่าจะเป็นพลังงาน 2.0 นะครับ
คลื่นลูกที่สามในวงการพลังงานก็คงหนีไม่พ้นน้ำมัน หรือ Petroleum ซึ่งจะว่าไปแล้วได้มีการค้นพบตั้งแต่สมัยโรมันเมื่อสัก 4,000 ปีที่แล้วหรือในประวัติศาสตร์จีนก็รู้จักน้ำมันมากว่า 2,000 ปีแล้ว แต่ชาวโลกได้นำน้ำมันมาใช้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งด้านอุตสาหกรรมและบริโภคก็เมื่อสักต้นศตวรรษ 1900 นี่เอง ที่มีเทคโนโลยีการนำน้ำมันดิบขึ้นมา การกลั่น การแปลงสภาพเป็นสินค้าต่างๆหรือที่เราเรียกว่าปิโตรเคมี และการจัดส่ง ทำให้พวกเราในโลกใบนี้วันหนึ่งๆ บริโภคประมาณ 96 ล้านบาเรลล์ หรือประมาณ 15,000 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลย และการจัดหา การขุดเพื่อให้มีแหล่งน้ำมันที่เพียงพอ (scarcity) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น และนี่ก็คงเป็นสาเหตุที่ทุกๆ ประเทศมองว่า น้ำมันและพลังงานเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่เกิดขึ้นอย่างเนืองๆ ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา
ตอนนี้เริ่มมีการวิเคราะห์กันว่า เราน่าจะเข้าสู่ยุคที่สี่ของพลังงาน ซึ่งจะเป็นยุคที่พลังงานอาจจะหาได้ง่ายขึ้น (abundance) โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้จากรอบๆ ตัวเรา เช่น การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลม การใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน เช่น น้ำมันปาล์ม หรือเอทานอล หรือแม้กระทั่งเรื่องเทคโนโลยีการขุดเจาะที่พัฒนาขึ้น เช่นการขุดน้ำมันจากหินดินดาน ทำให้ต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) ของการผลิตน้ำมันดิบลดลง การพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ทำให้เรามีทางเลือกของแหล่งพลังงานมากขึ้น และหลากหลายขึ้น
ในขณะเดียวกัน จากสนธิสัญญาปารีส 2015 เรื่องโลกร้อน ทำให้ฝั่งผู้บริโภคเองก็ตระหนักมากขึ้น และหันมาใช้ในสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้มากขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของรถ EV การติดแผงโซล่าร์บนหลังคา การใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ (bio-degradable) รวมถึงเรื่องที่จะใช้พลังงานในรูปแบบของไฟฟ้ามากขึ้น (Electrification) ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของพลังงานโลก และลดความสำคัญของประเทศที่ส่งออกน้ำมัน (petro-states)
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิตอล น่าจะเป็นตัวเร่งที่สำคัญ โดยเฉพาะ block chain ที่จะทำให้ระบบที่เป็นการรวมศูนย์และผ่านคนกลางนั้น เปลี่ยนเป็นในลักษณะที่เรียกว่า ตัวต่อตัว (peer to peer) ได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องมีผู้ผลิตที่มีขนาดใหญ่และต้นทุนต่ำ อำนาจต่อรองสูง ขายให้กับ ผู้จำหน่ายรายใหญ่ น้อยรายแล้วค่อยเข้าสู่ผู้บริโภค ซึ่งทำให้เกิดการผูกขาด แต่ block chain จะเป็นลักษณะที่ผู้ผลิตรายเล็กขายตรงให้กับผู้บริโภครายเล็ก เสมือนหนึ่งเราซื้อผัก ปลาในตลาดอตก.
หวังว่าถ้าเราสามารถแปลงแสงแดด สายลม กระแสน้ำ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และมีสายส่งแรงสูงที่สามารถส่งไฟจากแหล่งที่มีพลังงานเหลือเฟือในเวลาหนึ่ง ไปยังอีกประเทศหนึ่งที่มีความต้องการใช้สูง อันเนื่องมาจากความแตกต่างของเวลา ตัวอย่างเช่น เวลาหัวค่ำในเมืองไทย อาจเป็นเวลาเที่ยงคืนที่ วลาดิวอสต๊อกที่ลมแรง และส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากลมผ่านมาได้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ไฟฟ้าเป็นทรัพยากรที่ไม่ได้หายากและแพงอีกต่อไป ถ้าเราสามารถต่อยอดนำอิเลคตรอนสีเขียวเหล่านี้ไปใช้ในอุตสหกรรมขนส่ง และหรืออุตสาหกรรมการผลิต จะทำให้การพึ่งพาพลังงานแบบรวมศูนย์จากแหล่งฟอสซิลลดน้อยลงได้
เมื่อเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานมีต้นทุนที่เหมาะสม โครงสร้างของพลังงานในอนาคตอันใกล้จึงน่าจะเป็นที่มนุษย์เงินเดือนหรือคนเดินตรอกอาจจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในเวลากลางวันจากโซล่าร์รูฟให้กับโรงเรียน สำนักงาน และรถยนต์ของตัวเอง เมื่อตกเย็นก็นำไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ข้างฝา หรือรถยนต์มาใช้ ถ้าไม่พอก็อาจจะใช้กังหันอันเล็กๆ บนหลังคาปั่นให้ และพวกเราจะเริ่มมีอิสระทางพลังงาน เนื่องจากเราจะผลิตเพื่อใช้เองก็ได้ ขายก็ได้ และนี่ก็คือประชาธิปไตยพลังงาน พลังงาน 4.0 ที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และความสำคัญของผู้ผลิตขนาดใหญ่และรวมศูนย์จะมีบทบาทน้อยลงครับ