ของฝากสำหรับปัญญาชนผู้ไม่เชื่อพระเจ้าองค์ใด

ของฝากสำหรับปัญญาชนผู้ไม่เชื่อพระเจ้าองค์ใด

มีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับกลุ่มปัญญาชนรัสเซียในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ที่ลุกขึ้นมาประกาศตนว่า

ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธาในพระเจ้าองค์ใด พวกเขาเป็นพลังทางความคิดสำคัญทีเดียวในขณะนั้นให้กับการปฏิวัติรัสเซียที่กำลังจะมาถึงในปี ค.ศ.1917 ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศอย่างสิ้นเชิง จากสังคมระบอบกษัตริย์มาสู่ระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยม

นับดูแล้วช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อศตวรรษที่กำลังจะเกิดการปฏิวัติรัสเซียก็ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของเรา ซึ่งการปฏิวัติรัสเซียก็เพิ่งจะครบร้อยปีมานี่เอง จึงไม่ใช่เหตุการณ์เก่าแก่เกินไปนักอย่างที่เราอาจรู้สึกเมื่อเอ่ยคำว่าปฏิวัติรัสเซีย

นอกจากประกาศว่าไม่มีพระเจ้า ไม่ศรัทธาในพระเจ้าองค์ใด ปัญญาชนกลุ่มนี้เห็นว่าความหมายในชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องหลอกกันทั้งเพหรือว่าที่แท้ก็ไม่มีเลย ในสังคมรัสเซียขณะนั้นซึ่งคนส่วนใหญ่ยากจน อยู่ใต้สถาบันพระเจ้าซาร์ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ระบบเจ้าที่ดินอันมีระบบข้าติดที่ดิน ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์และชนชั้นนักบวชตลอดจนความเชื่อโบราณๆของสังคมรัสเซียยังครอบงำอยู่แทบทุกตารางนิ้ว สรุปคือไม่เห็นมีอะไรดีเลยในสังคมรัสเซีย

อันที่จริงที่กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าในรัสเซียได้ลุกขึ้นมาประกาศเรื่องที่ว่า ไม่มีพระเจ้าในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย หรืออาจจะช้าไปหน่อยเสียด้วยซ้ำ นับแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาแล้วที่ในสังคมเคยยึดถือเชื่อในพระเจ้า โดยเฉพาะในยุโรปทางฝั่งตะวันตกที่คริสต์ศาสนา นิกายโรมันแคธอลิก รุ่งเรืองเป็นฐานรากในสังคมมาแล้วหลายร้อยปี ก่อนหน้าโดยศาสนจักรมีอำนาจปกครองทางการเมืองและการศาสนา ขนาดว่าลงโทษด้วยการเผาทั้งเป็นคนนอกศาสนาไม่เชื่อพระเจ้า ได้เกิดมีกลุ่มปัญญาชนลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยการประกาศว่าไม่มีพระเจ้า มนุษย์เรานี่เองสร้างสังคมสร้างโลกหาใช่ด้วยมือพระเจ้าองค์ใดไม่ ซึ่งก็ได้มีคนสมาทานเข้าเป็นพวกมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดความปั่นป่วนทางความคิดความเชื่อขนานใหญ่และรุนแรงถึงขั้นต่อสู้กันสูญเสียชีวิตผู้คนไปมากมาย ระหว่างความเชื่อใหม่กับอำนาจเดิมโดยในที่สุดกลุ่มปัญญาชนหัวสมัยเป็นฝ่ายมีชัย สามารถล้มล้างอำนาจเดิม อย่างเช่นในการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 เป็นต้น และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุกด้านในยุโรปตลอด 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา

รัสเซียนั้นมีพื้นที่อยู่ในทั้งยุโรปและเอเชีย คริสต์ศาสนานิกายออร์โธด็อกซ์ได้รับอิทธิพลจากอาร์เมเนียดินแดนที่อยู่ค่อนมาทางเอเชีย แตกต่างจากคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคธอลิก หลัก ๆก็คือพระสันตปาปาของออร์โธด็อกซ์ไม่มีอำนาจเด็ดขาดแบบในนิกายโรมันแคธอลิก มีความเชื่อและพิธีปฏิบัติเน้นทางความลึกล้ำทางจิตวิญญาณมากกว่าใช้ความคิดเหตุผลในแบบโรมันแคธอลิก นิยมใช้ภาษาท้องถิ่นในโบสถ์ ในขณะที่โรมันแคธอลิกนิยมใช้ภาษาละติน เป็นต้น แน่นอนว่ากลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าในรัสเซียนั้นหรือย่อมตื่นตาตื่นใจรับแนวคิดลิเบอรัลสมัยใหม่จากทางตะวันตก” ไม่มีพระเจ้ามีแต่มนุษย์ที่เป็นใหญ่ โดยเฉพาะแนวคิดเสรีตามคำขวัญ เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ จากการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ขจรขจายไปทั่วยุโรปและไกลอออกไป

อย่างไรก็ดี คนรัสเซียนั้นภูมิใจนักกับภาษาวัฒนธรรมเก่าแก่ของตนเองที่หยั่งรากลึก ยึดมั่นถือมั่นในจิตวิญญาณ( Slavic soul) ของชนสลาฟ อันเป็นชนชาติแรกๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัสเซีย ถึงจะนิยมยุโรปแค่ไหน ยอมรับพูดภาษาฝรั่งเศสในราชสำนัก จำนวนมากทั้งในหมู่คนชั้นสูงและปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปที่มีความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นหนึ่งไม่เหมือนใครของภาษาวัฒนธรรมสลาฟ ย่อมเขม่นลัทธิเสรีนิยมตะวันตก การกำหราบกันทางความคิดรุนแรงถึงขั้นที่พวกหัวก้าวหน้าถูกจับเข้าตะรางสั่งประหารชีวิตเสียก็มาก ไม่ก็ถูกส่งไปค่ายกักกันทุรกันดารในไซบีเรีย

ของฝากสำหรับปัญญาชนผู้ไม่เชื่อพระเจ้าองค์ใด

หนึ่งในนั้น คือ ผู้ที่ต่อมาโลกยกย่องเป็นนักเขียนยิ่งใหญ่ เข้าใจจิตวิทยามนุษย์อย่างลึกซึ้งน่าประหลาดใจ วิเคราะห์อย่างหลักแหลมสภาพการเมืองสังคมจิตวิญญาณของสังคมรัสเซียในขณะนั้น นั่นก็คือ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ( ค.ศ.1821- 1881 ) งานเขียนที่เยี่ยมยอด อย่างเช่น พี่น้องคารามาซอฟ อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ อ่านสนุกตามแบบนิยายฆาตกรรม ในขณะเดียวกันตัวละครเอก ๆ สะท้อนตีแผ่ชีวิตจิตใจความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าของรัสเซียในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกำลังจะเกิดการปฏิวัติรัสเซียได้อย่างละเอียดลึกซึ้งแทบทุกรูขุมขน เพราะผู้เขียนมาจากคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะภายหลังประสบการณ์ชีวิตจริงที่เขายืนอยู่ ณ แดนประหารแล้ว แต่ได้ถูกส่งไปไซบีเรียแทนที่ทำให้เขาผู้ซึ่งเชื่อมั่นในจิตวิญญาณรัสเซียมาก ๆ ได้เกิดมีสำนึกใหม่ในด้านจิตวิญญาณมองชีวิตมองโลกต่างไปจากสมัยที่เป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าตามแบบ “ตะวันตก”

พอสรุปคร่าวๆ ทัศนะที่ดอสโตเยฟสกี้ มีต่อกลุ่มปัญญาชนรัสเซียหัวก้าวหน้าในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ได้ดังนี้ คือ คนกลุ่มนี้ช่างไร้รากเหง้าและแปลกแยกกับสังคมรัสเซีย ใจเร่าร้อน ไม่รู้จักนิ่งแสวงหาพเนจรไม่สิ้นสุด มีศรัทธาเชื่อมั่นในความคิดและพลังของความคิดอย่างแรงกล้าว่าสามารถชี้นำเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เมื่อเอาชนะทางความคิดได้ ให้ความคิดเป็นใหญ่สุด ๆ ยิ่งกว่าคุณค่าศีลธรรมใดก็ว่าได้ อีกทั้งเมื่อไม่มีพระเจ้า มนุษย์ย่อมเป็นที่สุดในการกำหนดผิดถูกด้วยหลักการและข้อกฎหมาย ตัวละครหลักๆของดอสโตเยฟสกี้สามารถสร้างชี้ชวนความถูกต้องในทางความคิดจิตวิญญาณให้กับการกระทำใด ๆได้หมดรวมทั้งการฆาตกรรม

นวนิยาย 2 เรื่องที่เอ่ยถึงมีแปลเป็นไทยมานานเกิน 10 ปีแล้ว และยังมีเรื่องอื่น ๆให้อ่านอีกในภาษาไทย