คุณธรรมเศรษฐี (Integrity) : กรณีศึกษา “สิทธาเศรษฐี” (1)
ปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับเศรษฐี มหาเศรษฐี ระดับประเทศและระดับโลกปรากฏมากมายตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์
มีทั้งที่เป็นข่าวในทางดีและที่เป็นข่าวในทางร้าย เช่น มหาเศรษฐีติดอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า กับบริษัท SpaceX ที่ดำเนินกิจการจะพาคนท่องอวกาศ รวมถึงผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Neuralink ที่จะผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองคนเข้ากับเครื่องจักรกล ทำนองหุ่นยนต์ไซบอร์กอย่างในนิยายและหนังวิทยาศาสตร์ ก็ปรากฏข่าวอยู่บ่อยๆ ในทางที่ไม่ดีนัก เป็นข่าวเกี่ยวข้องกับกรณีช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า ที่ถ้ำหลวง จ.เชียงรายก็หลายครั้ง
แม้กระทั่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ คนปัจจุบัน สมัยเป็นนักธุรกิจรวยระดับเศรษฐีโลกก็มีข่าวอื้อฉาวบ่อยๆ เป็นต้น เมื่อได้อ่านข่าวเกี่ยวกับบรรดาเศรษฐีดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนคิดอยู่เสมอว่า การเป็นเศรษฐีนั้นมีทรัพย์มากเพียงอย่างเดียวก็เรียกเศรษฐีเลยหรือไม่ เพราะเมื่อนึกถึงภาพอนาถบิณฑิกะเศรษฐีกับนางวิสาขามหาอุบาสิกา ในพุทธประวัติ ซึ่งเป็นโคตรมหาเศรษฐีก็ว่าได้ มีทรัพย์สินนับมิถ้วน ช่างดำเนินตนแตกต่างจากเศรษฐีที่มีข่าวอื้อฉาวนี้มาก แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีจำนวนมากในปัจจุบัน เช่น สิทธา เศรษฐีที่จะได้ศึกษาเรื่องราวชีวิตของเขาในบทความชุดนี้ ก็ดำเนินตนแตกต่างจากเศรษฐีที่เป็นข่าวดังกล่าว ชนิดที่เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกัน
ก่อนจะรู้จักกับสิทธาเศรษฐีว่าเขาเป็นใครและศึกษาเรื่องคุณธรรมเศรษฐี (Integrity) ก็ขอทำความรู้จักคำหมายของเศรษฐีจากรากเหง้าเค้าเดิมกันก่อน ซึ่งคำว่าเศรษฐีเป็นศัพท์ซึ่งมาจากภาษาบาลี ขอยกคำอธิบายของพระมหาวุฒิชัย วัชรเมธีหรือ “ว.วชิรเมธี” ซึ่งอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ มาไว้ดังนี้
“...ตามภาษาชาวบ้าน เศรษฐีก็แปลว่าผู้มีทรัพย์มาก แต่ตามรากศัพท์ในภาษาบาลี เศรษฐีมาจากคำว่า เสฏฺฐ แปลงรูปเป็น เศรษฐี ตามหลักบาลีไวยากรณ์ แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” หรือ “ผู้ประเสริฐที่สุด” ก็ได้ เหมือนกับที่เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกประสูติ พระองค์ได้เปล่งอาสภิวาจาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส” แปลว่า “เราเป็นยอดคนของโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก” คำว่า “เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก” นั้นทรงใช้คำว่า “เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส”
เฉพาะคำว่า “เสฏฺโฐ” แปลว่า “ประเสริฐที่สุด” แล้วยังมีคำไวพจน์อีกสองคำคือ “อคฺโค” และ “เชฏฺโฐ” สองคำที่มาขยายคำว่า “เสฏฺโฐหมสฺมิ” เมื่อกล่าวโดยความหมายที่แท้ก็คือเรื่องเดียวกัน กล่าวคือมุ่งไปที่ “ความเป็นเลิศ ความประเสริฐ ความวิเศษสุด” นี่คือรากศัพท์ที่แท้จริงของคำว่า “เศรษฐี” ดังนั้นคำว่า “เศรษฐี” จึงไม่ได้แปลกันอย่างผิวเผินตื้นๆ ว่า “ผู้มีทรัพย์มาก” เท่านั้น แต่สามารถแปลได้อีกความหมายหนึ่งว่า “ผู้ประเสริฐ, ผู้เป็นเลิศ, ผู้เป็นยอดคน”
ถ้าพิจารณาความหมายของเศรษฐีตามนัยดังกล่าวมานี้ คนธรรมดาๆ ที่แม้จะไม่มีเงินเลยแม้แต่บาทเดียว แต่หากเป็นผู้ประเสริฐเพราะมีความประพฤติดีงาม ทั้งยังสร้างสรรค์แต่สิ่งดีที่มีคุณค่าฝากไว้ให้แผ่นดิน ก็นับเป็นเศรษฐีได้เหมือนกัน ...
ในภาษาบาลี มีคำอีกคำหนึ่ง ซึ่งตรงกับคำว่า “เศรษฐี” ในความหมายอย่างสามัญที่แปลกันว่า “คนมีทรัพย์มาก, คนมั่งคั่งร่ำรวย” นั่นก็คือ คำว่า “มหาธนวาณิชฺโช” “มหาธนวาณิช” มาจากคำว่า “มหา” สมาสกับคำว่า “ธน” และ “วาณิช” คำว่า “มหา” แปลว่า “มาก” “ธน” แปลว่า “ทรัพย์” ส่วน “วาณิช” แปลว่า “พ่อค้า” “มหาธนวาณิช” แปลเอาความว่า “พ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก” ดังนั้นคำว่า “เศรษฐี” จึงต่างจาก “มหาธนวาณิช” เศรษฐี ต้องเป็นคนดี (สมัยก่อนเรียกคนดีว่าเป็น คนใจบุญ) ต้องเป็นคนใจบุญจึงได้เป็นเศรษฐี ทางล้านนาเรียกเศรษฐีว่า “พ่อเลี้ยง” ส่อความหมายว่า ต้องเป็นคนใจดีที่เป็นผู้กว้างขวางเพราะเป็นพระผู้ให้ การเป็นเศรษฐีจึงต้องมีบุคลิกภาพของการเป็นผู้ให้ ส่วนผู้มีทรัพย์มาก จึงได้เป็นมหาธนวาณิช คนไทยเรียกรวมกันเป็นคำซ้อนว่า “พ่อค้าวาณิช” คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ เขาเรียกว่า “วาณิชธนกิจ” คำว่า “วาณิช” ถ้าเป็นชื่อกิจกรรมแปลว่า “การทำมาค้าขาย” ถ้าเป็นชื่อคนแปลว่า “พ่อค้า” ดังนั้น “เศรษฐี” กับ “คนรวย” จึงต่างกัน...”
(คัดจากคมชัดลึกออนไลน์ : http://www.komchadluek.net/news/knowledge/77092)
ความหมายดังกล่าวทำให้เราทราบว่า แท้จริงแล้วหากยึดตามรากเหง้าเค้าเดิม เศรษฐีกับคนรวยนั้นแตกต่างกัน คนมีทรัพย์มากหรือไม่มีทรัพย์มากหากแต่มีคุณธรรมความดีก็เรียกเศรษฐีได้ ส่วนคนร่ำรวยด้วยทรัพย์สินนั้นไม่ได้เป็นเศรษฐีกันทุกคน เพราะนอกจากความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทองแล้ว ยังต้องเป็นคนดีด้วย เรียกได้ว่าต้องมี”คุณธรรมของเศรษฐี” ด้วยจึงจะเป็นเศรษฐีจริงๆ ตามความหมายเก่าเค้าเดิม
แล้ว “คุณธรรมเศรษฐี” ที่ว่านี้คืออย่างไร และ “สิทธาเศรษฐี” คนนี้คือใครผู้เขียนจึงหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษา คราวหน้า เราจะมาทำความรู้จักไปพร้อมกันครับ