วิกฤติการณ์การพัฒนา ในปัจจุบันและทางเลือกสำหรับอนาคต***

วิกฤติการณ์การพัฒนา ในปัจจุบันและทางเลือกสำหรับอนาคต***

การพัฒนาถือเป็นหมุดหมายของมนุษย์เพื่อให้หลุดพ้นออกจากความยากจน ความขาดแคลน และความไร้ศักยภาพในทุกด้าน ทว่าการพัฒนาตามตัวแบบตะวันตกที่ผ่านมา

ได้สร้างความโน้มเอียงผลักดันให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสูงสุดนั้น นำมาสู่ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เพราะภาพของความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง (massive inequality) ปัญหาการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่ง ปัญหาอาชญากรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน วิกฤตการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ คือผลพวงของการพัฒนาที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด 5 ทศวรรษ นับตั้งแต่มีการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์แบบเคนเซียนที่เสนอให้รัฐเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่กระบวนทัศน์แบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ที่ให้มีการลดบทบาทของรัฐและเพิ่มบทบาทให้กับตลาดผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การปรับลดสวัสดิการของประชาชน ไปจนถึงการลดภาษีเพื่อเร่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ฯลฯ การเติบโตขึ้นของนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่นำไปสู่การแยกระบอบประชาธิปไตยออกจากระบบเศรษฐกิจ ทำให้การสะสมทุนทวีความเข้มข้นมากขึ้น

นโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ทำให้ตลาดเป็นกลไกหลักในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ตลาดจึงกลายเป็นสถาบันที่เข้ามาควบคุมการดำเนินชีวิตของประชาชนผ่านการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็น สินค้า” ทั้ง ความรู้ วัฒนธรรม ธรรมชาติ แม้กระทั่งชั้นบรรยากาศ รวมถึง “กำลังแรงงาน ของมนุษย์ ก่อให้เกิดการสะสมทุนแบบพุ่งทะยานของบรรษัทขนาดใหญ่ นำมาสู่การถ่างออกระหว่างการกระจายรายได้ระหว่างช่วงชั้นทางเศรษฐกิจ จนเกิดเป็นกระแสความไม่พอใจที่เรียกว่า “The 1 % and 99 %” ที่ขยายตัวไปทั่วโลก  ปัจจุบันมีคนเพียง 1 % ที่ถือครองทรัพย์สินเทียบเท่ากับทรัพย์สินของคน 99% ต์ ดังนั้นการพัฒนาที่เคยเชื่อกันว่าจะทำให้ความกินดีอยู่ดีของสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นจึงเป็นเพียงวาทกรรมการพัฒนาที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมตามรูปแบบการพัฒนาที่มุ่งให้มนุษย์หลุดพ้นจากความขาดแคลน ความไม่เท่าเทียม และความทุกข์ยากได้ การพัฒนาที่กลับไปใช้รูปแบบตลาดเสรีผ่านการดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่จึงประสบปัญหาในตัวเองและกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 -21 แนวโน้มของการพัฒนาเริ่มเสียสมดุลมากขึ้นเรื่อย ๆ นำมาสู่การแสวงหาแนวทางเลือกอื่นในการใช้ชีวิต แนวคิดเกี่ยวกับ การพัฒนาที่ยิ่งยืน” (sustainable development) กลายเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นและเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่หลายประเทศให้ความสำคัญ การพัฒนาที่ยั่งยืนยังได้ถูกเขียนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทของไทยเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การจะนำความยั่งยืนเข้าไปสู่กระแสหลักของการพัฒนาต้องทำความเข้าใจ รวมถึงวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาและวิกฤตการณ์อย่างถึงรากเหง้า การวิพากษ์กระบวนทัศน์หลักเป็นหนึ่งในแนวทางที่ทำให้การแสวงหาทางเลือกที่ยั่งยืนปรากฏชัดขึ้น สืบเนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาแบบแยกส่วนไม่สามารถตอบสนองต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ทำให้ทางเลือกใหม่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ มีการส่งเสริมให้เกิดพาคีเครือข่ายทางสังคม ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน การส่งเสริมและบูรณาการร่วมมือของภาคการผลิต ทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เปลี่ยนแนวคิดจากการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวในเชิงปริมาณหรือเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปที่การพัฒนาที่เน้นการขยายตัวในเชิงคุณภาพหรือการส่งเสริมความเท่าเทียมของมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ผ่านกลไกทางภาษีและการจัดสรรบริการสาธารณะ การสร้างระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อประชาชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

ทั้งนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้มีนัยยะถึงการทำลายกระบวนทัศน์หลักเพื่อสร้างกระบวนทัศน์ในขั้วตรงข้าม แต่หมายถึงการประสานกระบวนทัศน์ (paradigm mixed) ผ่านการมองหาจุดแข็งของประเทศในแต่ละด้านที่สามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงอาจจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ในอนาคต

หากมองย้อนกลับไประบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ในการนี้ผู้เขียนขอยกข้อเสนอของ คาร์ล โปลานยี ในหนังสือ “The Great Transformation” อันเกิดจากการพิจารณาการจัดการทางเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม เพื่อเป็นตัวอย่างของการจัดการเศรษฐกิจทางเลือก โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ปรากฏ 3 รูปแบบการจัดการเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายถ่ายโอน (redistributive) การต่างตอบแทน (reciprocity) และรูปแบบครัวเรือน (householding) โดย ทั้ง 3 รูปแบบนี้ต่างทำงานร่วมกัน และมีลักษณะ “บางอย่าง” ที่สอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบการต่างตอบแทนและครัวเรือนที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ด้วยแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ และเมื่อครัวเรือนที่เข้มแข็งอยู่ร่วมกันในชุมชนก็ปฏิสัมพันธ์ผ่านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมความความสัมพันธ์ต่างตอบแทน ทำให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน (อย่างไรก็ตามในประเด็นของการกระจายถ่ายโอนยังคงต้องอภิปรายหาแนวทางต่อไปเนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้มาพร้อมกับมาตรการเชิงบังคับในการจัดการภาษี ค่าปรับ ค่าเช่า ฯลฯ) 

ดังนั้น การคืนการจัดการทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนจึงถือเป็นทางเลือกที่เป็น “บันไดหนีไฟ” ที่ช่วยให้สังคมไทยมีช่องทางสำรองไว้รับมือกับความเสี่ยง วิกฤติการณ์และความท้าทายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 นี้

 *** ชื่อเต็ม : วิกฤติการณ์ของกระบวนทัศน์การพัฒนาในปัจจุบันและทางเลือกสำหรับอนาคต

โดย... 

นุชประภา โมกข์ศาสตร์

สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า