ว่าด้วยเรื่องของ “สุขา” ปัญหาใหญ่ของคนทั้งโลก
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ดิฉันมีเรื่องราวที่เป็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
องค์กรไม่แสวงกำไร และกิจการเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในเวลานี้ นั่นคือเรื่องของ “ห้องน้ำ” หรือสุขานั่นเองค่ะ
ชื่อของสุขาที่เอาไว้ปลดทุกข์แต่อาจไม่สุขีเท่าที่ควรนัก เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลกทำให้ระบบสุขาภิบาลทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ โดยจากข้อมูลพบว่าประชากรทั่วโลกกว่า4.5พันล้านคนขาดการเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่ดี ทำให้เรื่องสุขาภิบาลกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือSDG
ปัญหาดังกล่าวยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อผนวกกับการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ รวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางด้านสุขาภิบาลและน้ำปนเปื้อนเลวร้ายลง นอกจากนี้ ภัยแล้งก็ยังทำให้เรามีทรัพยากรน้ำไม่พอต่อการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายเมืองทั่วโลก
ขอยกตัวอย่างของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลพื้นฐานได้เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก ประเทศอินเดียมีแคมเปญซึ่งเป็นวาระแห่งชาติในชื่อ“Swachh Bharat Mission” ที่แปลว่าClean India Missionหรือพันธกิจเพื่ออินเดียที่สะอาด โดยเป็นแคมเปญการสร้างห้องน้ำโครงการใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อขจัดปัญหาการขับถ่ายอุจจาระในที่สาธารณะให้หมดไปจากอินเดียภายในเดือนตุลาคมปี2019ซึ่งที่ผ่านมาที่ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และมีความกังวลต่างๆ เกิดขึ้นเช่นกัน
โดย “มายุรี พาทัชชาร์จี” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิSikun Relief Foundationในอินเดีย เคยเขียนไว้ในเวบไซต์ของWorld Economic Forumว่าเมื่อครั้งที่เธอทำงานด้านโครงการน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยอยู่ในรัฐอัสสัม ที่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม เธอพบว่าห้องน้ำที่สร้างสำหรับโครงการClean India Missionในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมนั้นบางครั้งก็ใช้การไม่ได้เพราะขาดการออกแบบให้สามารถรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และในบริเวณที่ขาดแคลนน้ำ ผู้คนก็เลือกที่จะขับถ่ายในที่สาธารณะเพราะไม่มีน้ำมากพอที่จะใช้เพื่อการขับถ่ายในห้องน้ำ
อินเดียเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศที่เปราะบางและมีความต่างกันอย่างสุดขั้วมากที่สุดเป็นอันดับที่6ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่อินเดียและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขาภิบาลที่สามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ตั้งแต่เริ่มต้น
นอกจากกรณีตัวอย่างในประเทศอินเดียแล้ว ในโลกยังมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือราว55%ที่อาศัยอยู่ในเมือง และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น68%ภายในปี2050ดังนั้นเมืองที่มีความหนาแน่นสูงมากในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ สิ่งปฏิกูลและของเสียต่างๆ ที่ไม่ได้รับการกำจัดและการบำบัดที่ดีพอจึงทำให้เป็นสาเหตุหลักของปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทางน้ำ
หากเรานำของเสียจากร่างกายมนุษย์เปลี่ยนให้เป็นพลังงาน เช่น ก๊าซชีวภาพ เราจะได้พลังงานที่มีมูลค่าเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติได้มากถึง9.5พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลายหน่วยงานจึงพยายามศึกษาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนของเสียให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ และโปรตีนต่างๆ ดังนั้นการสร้างห้องน้ำจึงมีโอกาสธุรกิจรออยู่อีกมากหากสามารถบริหารจัดการให้ดี เพื่อนำสังคมทั่วโลกสู่การมีระบบสุขาภิบาลที่ดี
แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ตระหนักดีว่า เราจำเป็นต้องมีห้องน้ำที่ดีที่ไม่ใช่เพียงแค่ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือClimate Changeได้ด้วย โครงการToilet Board Coalition’s AcceleratorและRe-invent the Toilet Challengeที่ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิของบิลล์และเมลินดา เกตส์ กำลังลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมห้องน้ำและสุขาภิบาลที่มีความยั่งยืน สามารถเปลี่ยนของเสียกลับมาเป็นทรัพยากรที่มีค่า และสามารถขยายโครงการต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
กิจการเพื่อสังคมที่ชื่อSanivatioในประเทศเคนย่าก็เป็นอีกรายหนึ่งที่มุ่งแก้ปัญหาด้วยการสร้างห้องน้ำจากตู้คอนเทนเนอร์ให้บ้านเรือนต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อแลกกับค่าบริการรายเดือนในจำนวนเพียงน้อยนิด และแทนที่จะกำจัดสิ่งปฏิกูล แต่สามารถเปลี่ยนให้เป็นพลังงานก๊าซชีวภาพที่มีการเผาไหม้ที่สะอาดไปจนถึงชาร์โคล ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเพราะมีการเผาไหม้ที่นานกว่าเดิมและมีควันน้อยกว่าเดิมอีกด้วย
ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการปฏิวัติระบบสุขาภิบาลทั่วโลก หนึ่งในความพยายามเล็กๆ ทว่าเพื่อผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ เพื่อให้เรามีระบบสุขาภิบาลที่สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะสำหรับทุกคนนั่นเองค่ะ