We are (not) the champions: ไม่ใช่ที่หนึ่ง
ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำแน่นอน ผมไม่ได้เถียงในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถกล่าวสรุปได้ว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก
ตามกระแสข่าวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการตีความของผู้เชี่ยวชาญบางท่านเกี่ยวกับผลการศึกษาของ Credit Suisse Global Wealth Report 2018 ล่าสุดและผลการศึกษาของที่เดียวกันนี้เมื่อหลายปีก่อนว่าไทยได้ขยับอันดับจากชาติที่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องความมั่งคั่งที่มากเป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อราว 3 ปีก่อนมาอยู่ในอันดับที่ 1 แล้ว
ความสับสนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการไปเปรียบเทียบค่าสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งของคนรวยที่สุดในกลุ่ม 1% แรกของไทยตามที่แสดงในรายงานดังกล่าวว่า และเห็นว่า มันมีค่าคิดเป็นถึง 66.9% ของสินทรัพย์รวมทั้งประเทศประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง คือการนำตัวเลขดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของอีก 40 ประเทศทั่วโลกแล้วพบว่าค่าตัวเลขของไทยสูงกว่าของประเทศเหล่านั้น และด่วนสรุปว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งผมจะขอแย้งว่าเป็นการเปรียบเทียบและตีความที่ “ไม่ถูกต้อง” โดยจะขอข้ามประเด็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้ในรายงานนี้โดยไม่กล่าวถึงมันเลย เพราะเห็นว่าน่าจะไปถกเถียงกันในวงวิชาการมากกว่า แต่ผมจะขอกล่าวถึงเหตุผลที่คิดว่ามีความสำคัญและตรงประเด็นมากกว่าโดยแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ประการแรกคือ เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้มากนักในเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ปี และประการที่สอง คือต้องระมัดระวังไม่ไปติดกับดักความผิดพลาดในการเปรียบเทียบของสองสิ่งใดๆ ที่ไม่อยู่ในบริบทหรืออยู่ในฐานที่จะเปรียบเทียบกันได้ (อุปมาอุปไมยได้กับสำนวนฝรั่งที่ว่าด้วยเรื่อง comparing apples to oranges นั่นเอง)
ผมจะขอชี้แจงใน 2 ประเด็นข้างต้น ทีละประเด็นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่สับสน ในประเด็นแรกนั้น การศึกษาเปรียบเทียบพลวัตความเหลื่อมล้ำเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจได้ให้ข้อสรุปยืนยันชัดเจนว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์กับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเจริญทางด้านเทคโนโลยีของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น แม้ในกลุ่ม 40 ประเทศดังที่กล่าวข้างต้นซึ่งรวมทั้งประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐนั้น และมีตัวเลขของสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของคนกลุ่มที่รายได้สูงสุด 1% แรกเท่ากับเพียง 20.6%, 24.6, 35.5% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าตัวเลขของไทยที่แสดงไปแล้วข้างต้นมาก เราก็ไม่อาจด่วนสรุปว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของเราย่ำแย่กว่าประเทศเหล่านั้นมากๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าไทยมีระดับการพัฒนาของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่แตกต่างจากประเทศทั้งสามนี้มาก
หากเราย้อนกลับไปดูตัวเลขประเภทเดียวกันนี้ของประเทศทั้ง 3 เหล่านี้ในสมัยที่เขายังมีระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่เจริญมากเท่าในปัจจุบันนี้ คือในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว เราก็จะพบว่า ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐ ต่างก็มีสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่ถือโดยคนที่มีรายได้สูงที่สุดใน 1% แรกเมื่อเทียบกับทรัพย์สินรวมทั้งหมดของประเทศคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงกว่าร้อยละ 50% - 70% ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับตัวเลขของไทยในปัจจุบันนั่นเอง (ดูรายละเอียดได้จากหนังสือชื่อ Capital in the Twenty-First Century เขียนโดย Thomas Piketty (2014) รูปที่ 10.1, 10.3 และ 10.6) หลายคนอาจเถียงว่าการที่ประเทศเหล่านี้สามารถลดระดับความเหลื่อมล้ำลงได้หลังจากนั้นก็เพราะว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็มีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีกว่าไทยในขณะนี้ แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นว่าประเทศเหล่านี้มีค่าสัดส่วนดังกล่าวลดลงได้ ก็เป็นเพราะผลจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมากกว่าที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้คนร่ำรวยของประเทศเหล่านี้ต้องร่ำรวยน้อยลงโดยเปรียบเทียบ (ดู Piketty (2014) หน้า 338) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยืนยันได้ว่า ตัวเลขค่าสัดส่วนดังกล่าวนั้นสัมพันธ์กับโครงสร้างการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจด้วย สภาพปัญหาที่แท้จริงที่ตัวเลขเหล่านี้พยายามจะสะท้อนให้เห็น จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ง่าย ๆ ในเวลาเพียง 2 หรือ 3 ปีเท่านั้น
ในประเด็นที่สองนั้น ตัวเลขสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของคนกลุ่มที่รายได้สูงสุด 1% แรก หรือแม้แต่ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini coefficient) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอีกประเภทหนึ่งในแต่ละประเทศนั้น ก็จะถูกคำนวณขึ้นมาจากการแบ่งกลุ่มคนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่ทุกกลุ่มก็ยังจัดอยู่ในประเทศเดียวกัน ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของมันในการนำไปใช้เปรียบเทียบในมิติที่เป็นเรื่องของระหว่างประเทศด้วย เพื่อที่เราจะได้ไม่ติดกับดักของความผิดพลาดในการเปรียบเทียบ “แอปเปิล” กับ “ส้ม”นั่นเอง ดังนั้นแม้ว่าประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จะมีตัวเลขสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินของคนกลุ่มที่รายได้สูงสุด 1% แรกเท่ากับเพียง 20.6%, 24.6, 35.5% ตามลำดับเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าไทยมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากเท่าหรือมากกว่าไทยได้อย่างชัดเจนตามที่หลาย ๆ คนพยายามตีความจากตัวเลขเหล่านี้
ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดก็คือปัญหาการจลาจลขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสและเมืองต่าง ๆ ของฝรั่งเศสในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของ 3 - 4 อาทิตย์ที่ผ่านมานั่นเอง เพราะว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศเหล่านี้น่าจะแตกต่างจากปัญหาของไทยในขณะนี้มากกว่า จึงทำให้เปรียบเทียบกันได้ยากเพราะมีโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน นอกจากนี้ ประเทศร่ำรวยทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็ได้เพิ่มสัดส่วนภาษีต่อรายได้ประชาชาติจากเพียงราว 1/10 ของรายได้ประชาชาติ ขึ้นไปเป็นถึงราว 1/3 ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (Piketty (2014) หน้า 476) โดยเหตุผลของการขึ้นภาษีของประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ก็เพื่อที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มความเท่าเทียมในเรื่องการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข และระบบบำนาญให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แทนการไปเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อมากระจายให้กับคนจนเฉยๆเท่านั้น (Piketty (2014) หน้า 479) แต่ก็มีผลทำให้หลายประเทศรวมทั้งฝรั่งเศสต้องเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ซึ่งก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจจนมีการประท้วงรัฐบาลโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร เพราะการเก็บภาษีที่สูงจะกลายเป็นสาเหตุนำไปสู่ความไม่พอใจของผู้ประท้วง ที่มักตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลไม่ไปเก็บภาษีจากคนรวยให้มากขึ้นแทน
ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำประเภทนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยด้วย เพราะขณะนี้เรามุ่งใช้แผนประเทศไทย 4.0 เพื่อหนีจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เราได้ตรียมตัวเพื่อรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตไว้แล้วอย่างเพียงพอล่วงหน้าแล้วหรือไม่อย่างไร
สรุปแล้วก็คือว่า เราไม่ควรประมาทแต่สมควรหาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยอย่างจริงจัง แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตื่นกระหนกเกินเหตุจนทำให้เสียงานเสียการโดยใช่เหตุครับ