สถานะการณ์ SME ไทยปี 2561 ความท้าทายที่ต้องเผชิญปี 2562
จากข้อมูลของ จารีย์ ปิ่นทอง และนฎา วะสี แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่สรุปภาพรวมของ SME ไทยตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2560
และข้อมูลหนี้รายสัญญา SME จำนวน 1.4 ล้านสัญญา ที่ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนม.ค.2561 แม้จะผ่านมาแล้ว 1 ปี สะท้อนถึงภาพรวมปี 2561 ที่ SME ไทยยังคงน่าเป็นห่วงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ผลผลิตจาก SME คิดเป็น 42% ของ GDP ประเทศ และก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 10.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของการจ้างแรงงานทั่วประเทศ SME ทั้งหมดมีจำนวนประมาณ 3 ล้านราย มีเพียง 9,000 รายที่เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ ที่เป็นบุคคลธรรมดามีจำนวน 3 ใน 4 สินเชื่อ SME จากธนาคารพาณิชย์ ทั้งหมด 4.46 ล้านล้านบาท จำนวน 5 แสนกว่าราย เพียง 17% ของ SME ทั้งหมด ในหมู่ผู้กู้ 84% กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการเพียง 5 หมื่นกว่าราย หรือ 10% ของ SME ที่มีสินเชื่อ
ในจำนวนผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อ มีเพียงแค่ 1 ใน 4 ที่เป็นนิติบุคคล กลุ่มที่เป็นบุคคลธรรมดา 3 ใน 4 ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และสินเชื่อบุคคลที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาประมาณ 45% อยู่ในภาคพาณิชยกรรม มีมูลค่าสินเชื่อต่อราย ประมาณ 3 แสนบาท กลุ่มสินเชื่อต่อรายขนาดใหญ่ที่สุด มูลค่าสินเชื่อประมาณ 6 ล้านบาท ต่อรายเป็นนิติบุคคลในภาคอสังหาริมทรัพย์
ในด้านภาพรวมของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ประมาณ 250,000 ล้านบาท คิดเป็น 6.22% ของยอดหนี้คงค้าง จำนวนผู้ประกอบการที่เป็น NPL ประมาณ 40,000 ราย ประมาณ 8% ของลูกหนี้ SME ที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ลูกค้าในกลุ่ม SME จึงเป็นกลุ่มที่เป็น NPL สูงที่สุด โดยตัวเลข NPL ของสินเชื่อขนาดใหญ่และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ประมาณ 3% และ 2% ตามลำดับ การประเมิน NPL ดังกล่าว เป็นการศึกษาจากฐานข้อมูลหนี้รายสัญญาที่ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง นำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย หากนำตัวเลขข้อมูลสินเชื่อจากกลุ่ม SME ที่ต้องพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจำนวน NPL จะเพิ่มมากขึ้น
ประเทศไทยมีแผนส่งเสริม SME ฉบับแรกเมื่อ 16 ปีที่แล้ว แต่ SME ยังมีปัญหาเรื่องเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก เนื่องจากไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD ระบุว่า SME ไทยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันโดยเฉลี่ยสูงกว่าวงเงินสินเชื่อมากกว่า 5 เท่า สถาบันการเงินทุกแห่งเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อขาดความยืดหยุ่นด้านกฎระเบียบ เพราะเกรงปัญหาเรื่อง NPL มีเพียงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME BANK ที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ SMEที่มีความสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แต่ SME BANk ก็มีข้อจำกัดในแง่ศักยภาพเนื่องจากมีจำนวนพนักงานและสาขาน้อยมาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน มีโครงการต่าง ในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาหลายด้าน เช่น โครงการให้ความรู้ SME ในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ยกระดับ Market Conduct หรือมาตรฐานการบริการลูกค้าของสถาบันการเงิน ปรับนโยบายการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูล และได้รับบริการอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมทั้งเรื่อง พร้อมเพย์ และ โมบายแบงก์กิ้ง เพื่อให้ SME ชำระเงินสะดวกขึ้น ค่าธรรมเนียมถูกลง รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน SME มากมาย เช่น นโยบายจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับ SME สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี แต่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ ยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้
ปี 2561 ตั้งแต่ไตรมาส 2 ถึงไตรมาสสุดท้าย เศรษฐกิจโลกซบเซาลงต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกโตเพียง 1-2% ปี 2562 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนสูงมาก เป็นปีที่ SME จะต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อม
อย่างไร คุยกันตอนต่อไปครับ..