"Gap Year” กับมหาวิทยาลัยไทย
บ้านเราเพิ่งคุ้นกับคำว่า “gap year” ซึ่งหมายถึง การเว้นช่วงเวลาระหว่างการเรียนต่อมหาวิทยาลัยกับมัธยมปลายโดยให้ไปเที่ยวหาประสบการณ์ค้นหาตนเอง
ตลอดจนเรียนรู้ชีวิตก่อนที่จะเริ่มเรียนในระดับอุดมศึกษาโดยปกติ เป็นเวลาหนึ่งปี “gap year” กำลังได้รับความนิยมทั่วโลกอย่างสมควรได้รับการพิจารณาและเล่าสู่กันฟัง
“gap year” โดยทั่วไปใช้ไปกับการอยู่อาศัยในต่างประเทศหรือส่วนอื่นในประเทศ เวลา 1 ปี ก็มักใช้ไปกับกิจกรรมเหล่านี้คือ (1)ทำงานหาเงิน (2)ท่องเที่ยว (3)เป็นอาสาสมัคร (4)เรียนรู้ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น จากการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตเพื่อรู้จักตนเองเพื่อหาความรู้ เรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะในเรื่องอื่นๆ
“gap year”ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า “sabbatical year” เป็นที่รู้จักกันในทศวรรษ1960 เมื่อกลุ่มอายุที่เรียกว่า baby-boomers ในโลกตะวันตกต้องการสร้างสังคมที่ไร้สงครามอย่างแตกต่างไปจากชั่วคนก่อนของพ่อแม่ ในตอนแรกวัตถุประสงค์ของ “gap year” คือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศโดยหวังว่าความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมจะช่วยสร้างสันติภาพในอนาคต อย่างไรก็ดี ผลพวงที่เกิดตามมาก็คือไอเดียของ “gap year” ในระดับรอยต่อระหว่างมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย
เมื่อมีคนต้องการแสวงหาสถานที่และกิจกรรมเพื่อหาประสบการณ์จาก “gap year” การประกอบธุรกิจก็เกิดตามมาในทศวรรษ 1960 และ 1970 โดยมีบริษัทและองค์กรต่างๆเช่น Topdeck / Flight Centre / Raleigh International / Dynamy ฯลฯ ตอบสนอง
คนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีประเพณีของการเดินทางไปต่างประเทศอย่างอิสระ ตั้งแต่วัยเด็กหนุ่มสาว ในนิวซีแลนด์เรียกกิจกรรมประเภทนี้ว่า “doing an OE” (Overseas Experience) เด็กจำนวนไม่น้อยใช้ “gap year” อย่างเกิดประโยชน์ เด็กนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ก็มักไปออสเตรเลียหรืออังกฤษ ส่วนคนออสเตรเลียก็ไปอังกฤษและเอเชีย ถือได้ว่าเป็น 2 ประเทศที่มีความนิยมเรื่อง “gap year” มานาน
ในอังกฤษนั้น “gap year” เริ่มเป็นที่รู้จักกันในทศวรรษ1970 ในปี 2008 มีนักเรียนที่ขอเลื่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อไป “gap year” ถึง 21,000 คน และในปี 2016 ก็อยู่ในระดับ 20,000 คนต่อปี เช่นกัน
สำหรับสหรัฐนั้น เมื่อก่อน “gap year” ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากพ่อแม่ส่งเสริมและมหาวิทยาลัยใหญ่ก็สนับสนุนเด็กที่ผ่าน “gap year” ในหลายมหาวิทยาลัยใหญ่เ ด็กผู้ผ่าน “gap year” มักมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการได้รับเข้าเรียน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่า เด็กที่ผ่าน “gap year” มักมีความเป็นผู้ใหญ่ รู้จักคุณค่าของเวลาและมีสัมฤทธิผลการเรียนดีกว่ากลุ่มปกติ
ประเทศอื่นๆเช่น ญี่ปุ่น อิสราเอล โรมาเนีย เซาท์อาฟริกา เวเนซูเอลล่าและประเทศอื่นๆ ในยุโรปนั้น “gap year” เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะเด็กเห็นประโยชน์ แต่บางครั้งมหาวิทยาลัยก็ไม่สนับสนุนเพราะทำให้จำนวนนักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยหายไป
องค์กรที่สนับสนุน “gap year ”อย่างจริงจังคือมหาวิทยาลัยในสหรัฐ เช่น Harvard / Stanford / University of North Carolina at Chapel Hill / Tufts University / Florida State University / Duke University / Princeton University ฯลฯ
บางมหาวิทยาลัยให้เงินสนับสนุนสำหรับ “gap year” โดยเลื่อนการเข้าศึกษาให้ หนึ่งปี และบางมหาวิทยาลัยมีโปรแกรมที่เรียกว่า(1+4)กล่าวคือ รับเข้าศึกษาและให้ไป “gap year” และเรียนอีก4ปี โดยถือว่า “gap year”เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สถิติของนักเรียนที่ไป“gap year” ทั้งประเทศนั้นไม่มีเนื่องจากบ้างก็ไปก่อนสมัครเข้าเรียน บ้างก็ไปหลังจากได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้ว
มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในสหรัฐนั้น แย่งชิงเด็กเก่งกันเข้มข้น จึงเสนอโครงการให้ทุนไป “gap year” กันมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น ไปทำงานจิตอาสา ท่องเที่ยว ทำงานรับใช้สังคมฯลฯ พ่อแม่ของเด็กที่ไป “gap year” มักพูดตรงกันว่าลูกเปลี่ยนไปหลังจากที่หมด “gap year” โดยมีความรับผิดชอบเห็นคุณค่าของชีวิตตระหนักถึงโอกาสที่ตนเองได้รับ อีกทั้งมีจิตเพื่อสังคมมากขึ้น
จากที่แต่เดิม “gap year” เป็นเรื่องของลูกคนมีเงินที่ท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่เด็กทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ราคาตั๋วเครื่องบินที่ลดต่ำลงมาก ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และกิจกรรมไป “gap year” ที่มากขึ้นและอีกหลากหลายปัจจัยที่โยงใยกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ทำให้ “gap year” เป็นที่นิยมของนักเรียนมัธยมปลายมากขึ้นทุกที
แหล่งที่เด็กในโลกตะวันตกชอบไปได้แก่ อินเดีย อเมริกาใต้ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ การใช้เวลาหนึ่งปีอาจหมดไปกับกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น บ้างทำงานหาเงินทำงานสาธารณะและท่องเที่ยวไปด้วยในหลายประเทศ บ้างก็ทำงานมาก บ้างก็ท่องเที่ยวมากคละกันไป แต่สิ่งเดียวที่มีร่วมกัน คือ การหาประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยทำให้การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีความหมายขึ้นจากการเข้าใจชีวิต เห็นโลกและเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น
สำหรับเด็กมัธยมปลายไทยก่อนเข้ามหาวิทยาลัย “gap year”ยังไม่เป็นที่รู้จักกัน มากนัก อีกทั้งต้องใช้เงินค่อนข้างมากและไม่กล้าหาญพอที่จะต่อสู้กับความไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในดินแดนที่แปลกใหม่ ความด้อยในการใช้ภาษา โดยทั่วไปก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของการมี “gap year”
“gap year”มีประโยชน์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นเด็กมัธยมปลายที่ปรารถนา“gap year”และมีคุณลักษณะเหมาะสมสมควรได้รับการสนับสนุนด้วยทุนบางส่วนจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ เพื่อเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านและอื่นๆในรูปของการเดินทางแบบแบ็คแพ็กเพื่อเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป(“การเดินทาง”คือการศึกษา)ซึ่งจะทำให้เป็นคนที่กว้างไม่คับแคบในความคิดไปตลอดชีวิต ผสมกับการกลับมาทำงานในสถานที่อันสมควรและงานอาสาสมัครในบ้านของเรา (หากหาสถานที่อันเหมาะสมในต่างประเทศไม่ได้ในช่วงเวลาแรก) ไม่ว่าจะเป็นในวัด องค์กรสาธารณะกุศล หรือท้องถิ่น
ในความเห็นของผู้เขียน “gap year” ต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 4 ลักษณะกล่าวคือ (1) มีโอกาสเห็นและอยู่วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป (2) มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ทักษะชีวิตและมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น (3)มีโอกาสวิเคราะห์ไตร่ตรองบทเรียนที่ได้รับมาเพื่อช่วยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นและ (4) มีจิตเชิงสาธารณะกล่าวคือคำนึงถึงสังคมและโลกเพิ่มขึ้น
มหาวิทยาลัยไทยที่แข่งขันหานักเรียนกันอยู่ในขณะนี้ อาจผนวก “gap year” ที่ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร โดยถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมด้วยการให้ทุนสนับสนุนและเรียนอีก 4 ปี ตามปกติ
โลกใบใหม่ของเราต้องการ “ตัวป้อน” ที่มีคุณภาพ เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ และพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง “gap year” ถือได้ว่าเป็นวิธีหนึ่งที่น่าพิจารณาในการสร้างความพร้อมให้ “ตัวป้อน”