7 วันอันตรายมีความหมายแค่ไหน
ช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์วันหยุดยาว รัฐบาลโดยกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องรวม ทั้งหน่วยงานเกี่ยวกับส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยในการเดินทาง
มักออกมาประกาศว่า จะลดจำนวนอุบัติเหตุเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา องค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนออกมาประชาสัมพันธ์ลดโน่นละนี่ ไม่ดื่ม ไม่ง่วง ไม่ขับ จิปาถะ แล้วเมื่อพ้นกำหนด 7 วันอันตรายก็ออกมาประกาศผลสำเร็จ ไม่สำเร็จ เปรียบเทียบกับสถิติปีที่ผ่านๆมา
จริงๆแล้ว ช่วงเวลาเทศกาลแบบนี้ ไม่สามารถเอาตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนหลวงมาเป็นมาตรวัดอะไรได้ตรงๆ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ มีการเดินทางมากเป็นพิเศษ มีความถี่ในการใช้ยานพาหนะมากกว่าปกติ เพราะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองกลับบ้านพบหน้าคนในครอบครัวหรือท่องเที่ยวใช้วันหยุดยาวหลังจากทำงานตรากตรำมาหลายเดือนการเดินทางที่มากเป็นพิเศษนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่ไม่ใช่เทศกาล จำนวนอุบัติเหตุทางถนนก็ย่อมสูงกว่า การที่สรุปว่าช่วงเทศกาลมีอุบัติเหตุสูงกว่าปกติ จึงไม่น่าเป็นการสรุปที่ถูกต้อง
ที่ควรพิจารณาคือสัดส่วนของการใช้ยานพาหนะด้วย แน่นอนว่า ยิ่งมีการใช้ยานพาหนะมาก การเกิดอุบัติเหตุบนถนนก็ย่อมมากด้วย โดยเฉพาะการเฉี่ยวชนเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าพิจารณาจากสัดส่วนการใช้ยานพาหนะกับจำนวนอุบัติเหตุอาจพบว่าสัดส่วนไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ แต่อาจจะลดลงด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอุบัติเหตุร้ายแรง ถ้าถามว่าทำไม คำตอบก็คือการเดินทางยิ่งหนาแน่นมากเท่าไร ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ยิ่งระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น ไม่มีใครขับรถเร็ว ขับรถแบบตั้งอยู่ในความประมาท ถนนที่รถติดมากๆยาวเป็นกิโลๆนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับทางว่างๆโล่งๆที่ใช้ความเร็วได้สูงๆ โอกาสที่อุบัติเหตุจะเกิดตอนถนนว่างๆนั้นน่าจะสูงกว่าเมื่อถนนถูกอัดแน่นด้วยยวดยานจนเกือบจะเคลื่อนตัวไมได้
เวลาคิดถึงหน่วยงานที่ดูแลเรื่องอุบัติเหตุบนถนนของหน่วยงานต่างๆ จะพบว่ามันกลับตาละปัดสวนทางกับสิ่งที่ควรทำ เพราะหน่วยงานเหล่านั้นให้ความสำคัญกับเทศกาลที่สัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุบนถนนเมื่อเทียบกับจำนวนความหนาแน่นในท้องถนนมากกว่าที่ไม่ใช่เวลาเทศกาล หรือแม้กระทั่งสัดส่วนเชิงเปรียบเทียบระหว่างถนนใหญ่ที่ประชาชนใช้ถนนหนาแน่น กับถนนชนบทที่มีประชาชนใช้ถนนน้อยกว่า ถ้าพิจารณาตรงนี้ก็จะพบว่า ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ทุ่มในช่วงเทศกาลเดินทางต่ออัตราส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นย่อมไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ช่วงเวลาที่ไม่ใช่เทศกาล นั่นคือการสูญเปล่าจากการทุ่มประชาสัมพันธ์ เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ เชิงประสิทธิผล หรือcost/effectiveness จึงอาจสรุปได้ว่าโครงการทั้งหลายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุบัติเหตุบนถนน จึงไม่ถือว่าประสบความสำเร็จอะไร เพราะใช้ตัวชี้วัดผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
ผลการรณรงค์ 7 วันอันตรายสำหรับเทศกาลปีใหม่ 2562 ที่เพิ่งผ่านมาก็เช่นเดียวกัน จบลงที่จำนวนอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ได้ลดลงจากปีก่อนหน้านี้ กลับมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆที่รัฐบาลเข้มงวดถึงขนาดยึดรถเป็นพันๆคันที่ผู้ขับขี่มีอาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอลในขณะขับขี่ยานพาหนะ แล้วก็อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงการทำงานหลายองค์กร ทำไมงานประชาสัมพันธ์ เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกพนัน หรือแม้กระทั่งการทิ้งขยะ จึงไม่ได้ผล
บริบทของสังคมไทยแตกต่าง ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีก็แตกต่าง เราคงไม่สามารถเอาคำอธิบายจากสังคมอื่นมาอธิบายได้ ทุกๆ ปีที่ออกมารณรงค์ลด ละ เลิก มักจะตามมาด้วยเงินงบประมาณปีละหลายพันล้านบาท แต่ทุกอย่างก็เหมือนเดิม และดูเหมือนจะเลวร้ายกว่าเดิมด้วยซ้ำ การให้ความรู้ ตระหนักรู้ ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุด งบประมาณการรณรงค์จึงหนีไม่พ้นเรื่องการทำสื่อในรูปแบบต่างๆ งบประมาณหมดไปกับกระบวนการออกสื่อ หรือเนื้อหาในสื่อ ที่ไปไม่ถึงผู้มุ่งหวังให้เป็นผู้รับสื่อ และไม่สามารถโน้มน้าวให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก ได้อย่างที่ผู้ส่งสื่อต้องการ งานรณรงค์ประชาสัมพันธ์เป็นงานที่เรียกว่า soft communication ไม่ใช่ hard communication เพราะไม่มีสภาพบังคับอะไร เมื่อสื่อถูกแพร่กระจายไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตาม สักพักหนึ่งผู้ที่รับสื่อก็จะเกิดความเคยชิน และไม่มีความวิตกกังวล
เคยนึกเปรียบเทียบกับกระบวนการยุติความขัดแย้งที่เรียกว่า conflict resolution โดยตั้งสมมติฐานว่าการรณรงค์ลด ละ เลิก ก็คือการยุติความขัดแย้งอย่างหนึ่ง เพียงแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ กับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ มีการใช้การสื่อสารในชั้นต้นที่ถือเป็น soft communication ก่อนที่จะยกระดับเป็น hard communication ในลำดับต่อไป ถ้าพบว่า soft communication นั้นไม่ได้ผล
การยุติความขัดแย้ง ตามทฤษฎี conflict resolution นั้นเริ่มต้นจากการพิจารณาพฤติกรรมขัดแย้งก่อนว่าจะมี cycle อย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเริ่มที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการขัดแย้ง (Potential Opposition or Incompatibility) ต่อไปก็เป็นขั้นการรับรู้ว่าความขัดแย้งนั้นมีจริง (Cognition and Personalization) ต่อไปก็จะเกิดสภาวะเครียด (Intentions) สภาวะการแสดงออกทางพฤติกรรม (Behavior) และสุดท้ายก็คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง (Outcomes) เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการยุติความขัดแย้งจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการสื่อสาร ซึงเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งต้นความขัดแย้ง การรณรงค์ลด ละ เลิก โดยวิธีประชาสัมพันธ์หรือ soft communication จึงไม่มีทางเกิดผลให้เกิดการยุติพฤติกรรมใดๆได้ จนกว่าจะมีการยกระดับขีดขั้นของสภาพบังคับขึ้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น hard communication นั่นหมายความว่า ในระหว่างทางตั้งแต่เริ่มต้นรณรงค์ จนถึงเกิดพฤติกรรม ลด ละ เลิก อย่างสิ้นเชิงนั้นเป็นกระบวนที่ต่อเนื่อง
ในทางพฤติกรรมศาสตร์ การเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างทำได้ที่เรียกว่า การปรับพฤติกรรม หรือ Behavior Modification การปรับพฤติกรรมเช่นว่านี้ ต้องมีกิจกรรมเสริมแรงที่ต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมเชิงบวกเช่นการให้รางวัล หรือพฤติกรรมเชิงลบเช่นการลงโทษ เพื่อให้พฤติกรรมไม่เปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิมเมื่อเลิกกิจกรรมปรับพฤติกรรม การปฏิบัติการ ลด ละ เลิก ของหน่วยงานรัฐและองค์กร มูลนิธิ ทั้งหลายก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน เพราะการรณรงค์ทางสื่อคงเป็นเพียงการสร้างความรับรู้หรือตระหนักรู้ในชั้นต้น แต่เมื่อไม่มีมาตรการปรับพฤติกรรมตามมาหลังสร้างความตระหนักรู้ ความรับรู้เหล่านั้นก็จะเลือนหายไป และพฤติกรรมก็จะยังคงเป็นเหมือนเดิม องค์กร เช่น สสส. ใช้เงินกว่าปีละ4,000 ล้านบาท แจกจ่ายกระจายให้เครือข่ายจำนวนมากในแต่ละปี แต่ผลลัพธ์ที่ได้เกือบจะเรียกว่า ไม่มีผลอะไรเลย ทั้งนี้ก็เพราะงานของ สสส. นั้นเป็นเพียงงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ ที่ถือเอาผลสำเร็จของงานคือการผลิตสื่อ ต้นทุนทั้งหมดที่ลงทุนจึงหายไปกับสายลมแสงแดด มากกว่าที่จะทำให้เกิดมรรคผล ลด ละ เลิก อย่างที่ต้องการ
บางทีอาจต้องกลับมาพิจารณาว่าการอนุมัติงบประมาณนั้น ไม่ใช่ดูแค่การผลิตสื่อ โฆษณาสื่อ แต่ควรดูที่ผลลัพธ์ หรือ End Result ว่าได้ผลหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้ผล เงิน 4,000 ล้านบาทต่อปี ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ที่สำคัญ มันเป็นเงินภาษีประชาชนทั้งนั้น