แก้คอร์รัปชันไทย: ห้าปี ไปได้ไม่ไกล
อาทิตย์ที่แล้ว องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International ) ได้ประกาศรายงานดัชนีการรับรู้คอร์รัปชั่น
(Corruption Perception Index) ประจำปี 2018 ซึ่งเป็นรายงานที่หลายฝ่ายรอคอยว่า กลุ่มคนต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักธุรกิจ นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชน ที่ตอบแบบสอบถามต่างๆ ทั่วโลก มองสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยล่าสุดอย่างไร โดยเฉพาะภาคประชาสังคมของไทยที่ทำงานส่งเสริมความโปร่งใสและต่อต้านการทุจริต ผลที่ออกมา ต้องบอกว่า ตรงความรู้สึกคนที่สันทัดเหตุการณ์และติดตามเรื่องคอร์รัปชั่นในบ้านเรา คือ อันดับของประเทศแย่ลงกว่าปีก่อน คะแนนลดลงจาก 37 ปีที่แล้ว เป็น 36 ปีนี้ จากคะแนนเต็มหนึ่งร้อย ขณะที่อันดับของประเทศใน 180 ประเทศทั่วโลกที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสฯรายงานก็ร่วงจากอันดับ 96 ปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 99 ปีนี้ คือ ของเราแย่ลง ทั้งเมื่อเทียบกับตนเองคือคะแนนปีนี้ลดลง และแย่ลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จากอันดับที่ 96 ปีที่แล้ว มาเป็นที่ 99 ปีนี้
ที่สำคัญ ถ้าดูคะแนนของประเทศไทยย้อนกลับไปห้าปี ตั้งแต่ปี 2014 ที่ไทยได้38 คะแนน หลังจากนั้นคะแนนมีแนวโน้มลดลงเหลือ 36 ปีนี้ แสดงว่า ปัญหาคอร์รัปชันของเราไม่ดีขึ้น แต่มีแนวโน้มแย่ลง ขณะที่อันดับของประเทศที่อันดับ 85 เมื่อปี 2014 ตกเป็นที่อันดับ 99 ปีนี้ ร่วงลง 14 อันดับ ช่วงห้าปี แสดงว่า ห้าปีที่ผ่านมาการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างที่ได้พยายามทำกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ การสร้างความตระหนักรู้ การประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล การเพิ่มงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา เหล่านี้ยังไม่สามารถมีผลทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศดีขึ้น พูดง่ายๆ ห้าปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของเรายังไปไหนไม่ได้ไกล เป็นการพูดมากกว่าทำจริงจัง
ดัชนีการรับรู้คอร์รัปชันเป็นดัชนีที่วัดการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์คอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในภาครัฐของแต่ละประเทศใน 180 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำหน้าที่ของนักการเมือง ข้าราชการประจำ และหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยประมวลความเห็นของกลุ่มคนต่างๆ ในประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่นจาก 13 ผลสำรวจทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม การปกครอง การเมือง การทำธุรกิจ และความเสี่ยง เรียกว่าค่อนข้างคลอบคลุม ทำการประเมินในลักษณะนี้มากว่า 15 ปี มีการรายงานผลทุกปี จนเป็นที่ยอมรับและบางประเทศ เช่น ไทยได้นำผลไปใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ ทำให้ผลที่ออกมาเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและปฏิเสธไม่ได้
ปีนี้ทั่วโลก สะท้อนจากรายงาน ชี้ว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นยังไม่ดีขึ้น ความพยายามแก้ไขปัญหาดูจะหนืดๆ ไม่มีความก้าวหน้า ใน 180 ประเทศที่ทำการสำรวจคะแนนเฉลี่ยปีนี้ อยู่ที่ 43 และประมาณ 2 ใน 3 ของ 180 ประเทศที่สำรวจ คะแนนที่ได้จะต่ำกว่า 50 ซึ่งถือว่าสอบตก ปีนี้คะแนนของไทยอยู่ที่ 36 ต่ำกว่า 50 คือ เราก็สอบตก ซ้ำคะแนนที่ตกก็ต่ำว่าคะแนนเฉลี่ยของ 180 ประเทศ ชี้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศเราเมื่อเทียบกับต่างประเทศค่อนข้างรุนแรง ในแง่ประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นน้อย อันดับหนึ่งถึงสามปีนี้ คือ เดนมาร์ก ตามด้วย นิวซีแลนด์ และฟินแลนด์ ได้คะแนน 88 87 และ 85 ตามลำดับ สำหรับสามอันดับสุดท้ายที่ปีนี้แย่สุด คือ โซมาเลีย อันดับที่ 180 ตามด้วยซีเรีย และซูดานใต้
เฉพาะในเอเชียแปซิฟิค 31 ประเทศ คะแนนเฉลี่ยทั่วภูมิภาคอยู่ที่ 44 ดีกว่าของโลก อันดับท็อปสามประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิคที่มีปัญหาคอร์รัปชันน้อย คือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย อันดับรั้งท้ายสามประเทศของภูมิภาคคือ กัมพูชา ได้ 20 คะแนน อัฟกานิสถาน 16 คะแนน และเกาหลีเหนือ 14 คะแนน ที่น่าสนใจคือ ออสเตรเลียที่คะแนนเคยสูง ปีนี้คะแนนลดลง ส่วนของมาเลเซียที่อดีตนายกรัฐมนตรีถูกจับดำเนินคดีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน หลังการเมืองในประเทศพลิกและมีการเปลี่ยนรัฐบาล คะแนนของมาเลเซีย ปี 2018 ยังเท่ากับ ปี 2017 คือ 47 คะแนน ดีกว่าไทย 11 คะแนน แต่อันดับของประเทศดีขึ้นเป็นอันดับที่ 61 จาก 62 ปีที่แล้ว
ปีนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ บทวิเคราะห์ที่องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ มีความเห็นว่า ความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมืองของประเทศกับความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชัน เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ประเทศยิ่งไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาคอร์รัปชันยิ่งจะรุนแรง สะท้อนจากคะแนนดัชนีรับรู้คอร์รัปชั่น ในบทวิเคราะห์นี้ องค์กรความโปร่งใสได้นำ 180 ประเทศที่สำรวจมาจัดแบ่งเป็น สี่ กลุ่ม ตามความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมืองของประเทศ กลุ่มที่หนึ่ง คือ ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานได้อย่างเข้มแข็ง สอง ประเทศที่การเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่ตัวระบบยังมีจุดอ่อน (Flawed Democracy) สาม กลุ่มประเทศที่มีการเมืองแบบอำนาจนิยม คือ ไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศถูกบริหารโดยคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นรูปแบบผสมที่อำนาจคนกลุ่มน้อยเป็นใหญ่ และ กลุ่มที่สี่ คือ การเมืองแบบเผด็จการ ทั้งโดยกลุ่มทหารโดยตรงหรือนักการเมืองเป็นเผด็จการที่ทหารในประเทศให้การสนับสนุน เช่น กรณีของเวเนซุเอลา
ผลวิเคราะห์ คือ ในสี่กลุ่มนี้ คะแนนดัชนีรับรู้คอร์รัปชั่น เฉลี่ยจะผันแปรตามระบอบการเมืองที่ประเทศมี คือ ยิ่งโน้มไปทางระบอบประชาธิปไตย คะแนนเฉลี่ยก็จะสูง กล่าวคือ ประเทศในกลุ่มประชาธิปไตยเข้มแข็ง หรือกลุ่มที่หนึ่ง คะแนนดัชนีรับรู้คอร์รัปชั่นเฉลี่ยที่ 75 กลุ่มที่สอง คือ ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์ มีข้อจำกัด คะแนนเฉลี่ยกลุ่มนี้อยู่ที่ 49 กลุ่มที่สาม คือ การเมืองแบบผสมของระบบเผด็จการที่อำนาจเป็นใหญ่ คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 35 และกลุ่มที่สี่ ระบบเผด็จการคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 30 จากข้อมูลนี้ มองกลับมาดูประเทศไทยที่คะแนนเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 36 ก็ชัดเจนว่าเราอยู่ในแถวคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มสาม คือ ประเทศที่มีรูปแบบผสมของการเมืองแบบอำนาจเป็นใหญ่ ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ปฎิเสธไม่ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันกับความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมืองของประเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน เพราะเมื่อการเมืองของประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบการตรวจสอบในประเทศก็จะไม่มีหรือมีแต่อ่อนแอเพราะเป็นระบบอำนาจนิยม ที่จะใช้อำนาจการเมืองแทรกแซง ทำให้กลไกการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศอ่อนแอ ไม่สามารถเอาผิดคนที่ทุจริตคอร์รัปชันได้ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบ ขณะที่ภาคประชาสังคมจะไม่สามารถรวมตัวประท้วง และคัดค้านการละเมิดอำนาจของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารได้เพราะถูกอำนาจรัฐควบคุม ในสถานการณ์เช่นนี้ คนในรัฐบาลมักจะใช้อำนาจที่มีในมือทุจริตคอร์รัปชันเพราะไม่มีการตรวจสอบและจะออกนโยบายประชานิยม เพื่อเอาใจประชาชนหาพวกพ้อง เพื่อลดการคัดค้านการใช้อำนาจของตน ดังนั้น เมื่อกลไกการตรวจสอบของประเทศอ่อนแอ ปัญหาคอร์รัปชันก็จะรุนแรง นี่คือ วงจรอุบาทว์ของการปกครองในระบบการเมืองที่ไม่มีการตรวจสอบกับการทุจริตคอร์รัปชันที่มีให้เห็นทั่วโลก
มองกลับมาดู ประเทศไทยตอนนี้ เรากำลังกลับเข้าสู่การเมืองในระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ เป็นรูปแบบของการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ควรทำให้การตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ สามารถทำงานได้อย่างเต็มมือและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศและเป็นสิ่งที่คนไทยอยากได้ แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ที่มาตามกลไกเลือกตั้งยังใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงกลไกกระบวนการตรวจสอบ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของประเทศอ่อนแอ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันก็จะไม่ลดลงหรืออาจรุนแรงขึ้น เหมือนอย่างที่ได้เกิดขึ้นตลอดช่วง 16 -17 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยมีรัฐบาลทั้งจากการเลือกตั้งและรัฐประหาร
ความเป็นจริงนี้ชี้ว่า ในกรณีของไทย การหวังพึ่งกลไกภาครัฐอย่างเดียว คือ นักการเมืองและข้าราชการประจำให้ตรวจสอบและแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่หวังยาก ทำให้บทบาทภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน จึงสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันตรวจสอบและสร้างแรงกดดันให้ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศมีการแก้ไขอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการปกป้องระบบการเมืองของประเทศให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศสามารถมีกระบวนการตรวจสอบการทำหน้าที่ของภาครัฐได้โดยทุกฝ่ายตามหน้าที่ของพลเมือง