ขี้ฝุ่น

ขี้ฝุ่น

“คำว่ารักมันกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว…” ผู้แต่งเพลง “ฝุ่น” ของบิ๊กแอส เปรียบเปรยความรักที่มันไร้ค่า ไร้ความหมายดัง “ฝุ่น”!

เมื่อก่อนเรามักมอง “ฝุ่น” เป็นเรื่องขี้ผง ไม่มีค่า ไม่มีความหมาย

วันนี้พวกเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฝุ่น” นั้นส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตพวกเราขนาดไหน

ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน มีหลายครั้งที่เราขาดความรู้สึกเร่งด่วน มองข้ามสัญญาณบอกเหตุเล็ก ๆ และไม่คิดจะลุกขึ้นมาทำอะไรกับมัน จนสุดท้ายกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่จนทำให้ตัวเราหรือองค์กรล่มสลาย

John Kotter กูรูด้านการเปลี่ยนแปลง พูดถึงเรื่องนี้โดยใช้คำว่า “Lack a Sense of Urgency” หรือ “ขาดความรู้สึกเร่งด่วน” ซึ่งเกิดจาก 1) ไม่เห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง หรือ 2) อยู่แบบเดิมดีจะตาย เปลี่ยนไปเดี๋ยวยุ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ “เฉื่อย”

อาการ “เฉื่อย” เกิดจากสาเหตุ 8 ประการคือ

1. ขาดวิกฤติ

2. เคยตัว ไม่อยากเปลี่ยนนิสัย

3. มองโลกในแง่ดี

4. วัดผลไม่ตรงจุด

5. ขาด Feedback จากโลกภายนอก

6. วัฒนธรรมลงโทษผู้บอกข่าวร้าย

7. ไม่ติดตาม ไม่อยากอยากฟังข่าวร้าย

8. ผู้นำปิดบังความจริง

ไม่มีใครอยากเป็นคนเฉื่อย แต่ไม่น่าเชื่อว่าหลายครั้งเราขาดวิกฤติ หรือมองโลกในแง่ดีเกินไปจริง ๆ ตัวอย่างเช่นคนปั่นจักรยานหรือวิ่งในสวนสาธารณะในวันที่ค่าฝุ่นพิษพุ่งปรี๊ด

หากเปรียบกับองค์กร แม้จะมีสัญญาณบอกเหตุว่ายอดขายตก ลูกค้าไม่พึงพอใจ คู่แข่งเพิ่ม แต่ทุกคนในองค์กรก็ยังเอ็นจอยในความสำเร็จในอดีตและดำเนินชีวิตตามปรกติแบบเดิม ๆ

พฤติกรรมแบบไหนที่เป็นสัญญาณบอกว่าเรากำลัง “เฉื่อย”

1. ประชุม ๆ ๆ เกี่ยวกับปัญหา แต่เดินออกจากห้องประชุมโดยไม่มีข้อสรุป

2. มุ่งไปที่หาคนผิด มากกว่าหาวิธีเปลี่ยนแปลง

3. กระจายงานสำคัญให้คนไม่สำคัญทำ

4. เสียเวลาไปกับการเตรียมข้อมูลและหาเหตุผลนานาประการว่าทำไมต้องเปลี่ยน

5. โอเคกับการแก้ปัญหาช้าไม่มีคุณภาพ

6. ตกลงร่วมกันแต่สุดท้ายไม่ทำ

7. ใช้เวลาเยอะพูดถึงแต่ปัญหาแต่ไม่พูดถึงทางออก

8. เป็นห่วงแต่ทีมหรือพวกพ้องตนเองมากกว่าภาพรวม

ถ้าไม่อยาก “เฉื่อย” ต้องลุกขึ้นมาปัดฝุ่น

1. แยกให้ได้ว่าอันไหนเป็นสัญญาณบอกเหตุที่สำคัญ และอันไหนเป็นเพียงแค่ปัญหา

2. ผู้นำต้องลงมาจับงานที่เป็นสัญญาณบอกเหตุสำคัญเอง

3. เก็บข้อมูลจากภายนอกพร้อมแชร์ข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ แม้จะเป็นข้อมูลที่ทำให้เรากดดันก็ตาม

4. พูดคุยกับทีมถึงแนวทางใหม่ วิสัยทัศน์ใหม่

5. รับฟังข้อกังวลจากผู้เกี่ยวข้อง

6. หาทีมช่วยสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้สำเร็จเป็นจริง

7. พูดถึงโอกาสที่เราจะต้องดีขึ้น

8. พูดให้ทีมฟังถึงการเปลี่ยนแปลงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและย้ำให้รู้ว่า ครั้งนี้ต่างจากครั้งผ่าน ๆ มาอย่างไร

ทำได้ตาม 8 ข้อนี้ John Kotter บอกว่าเรื่องฝุ่น จะกลับไปเป็นเรื่องขี้ผงอย่างแน่นอน!